วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

Paris is Jazz, Jazz is Paris

ผมเริ่มเขียนต้นฉบับนี้ เมื่อบ่ายวันหนึ่ง ขณะนั่งมองผู้คนเดินผ่านไปมา ณ ร้านกาแฟเล็กๆ ริมถนน BOULEVARD SAINT- GERMAIN ในปารีส อันเนื่องมาแต่แว่วเสียงทรัมเป็ตของ Miles Davis ดังมาแต่ไกล และพลันในหัวผมก็เกิดจินตนาการเห็นภาพ Miles Davis กับ Juliette Greco กำลังนั่งสนทนากับ Jean-Paul Sartre และ Simone de Beauvoir อยู่ ณ มุมใดมุมหนึ่งของร้านกาแฟแถบนี้…………… Cafe’ de Flore

ปารีส มีเสน่ห์เสมอสำหรับทุกคน

ปารีส เป็นอะไรๆ ได้ตั้งหลายอย่าง

เหมือนดั่งกระจกหกด้าน ปารีส เป็นแต่ละอย่างสำหรับแต่ละคน สุดแล้วแต่ใครจะเลือกมองจากด้านใด .......แต่ละคน ทีละคน ไม่เหมือนกัน.....แม้กับคนๆ เดียวกัน ปารีส ก็อาจจะเป็นบางอย่างในบางเวลา ทว่าเมื่อเวลาผันผ่าน ปารีสก็แปรผันเป็นอย่างอื่นเสียแล้ว

สำหรับบางคน ปารีส เป็นแฟชั่น เป็นแหล่งช็อปปิ้ง เป็นความหรูหราอลังการ แต่กับบางคน ปารีส กลับเป็นศิลปะ เป็นอิมแพรชั่นนิส เป็นคิวบิซึ่ม เป็นอวองการ์ด เป็นสถานศึกษาและวรรณกรรมชั้นสูง เป็นสถาปัตยกรรมอันงดงาม เป็นภาพยนตร์แนวศิลปะ เป็นร้านกาแฟริมถนน เป็นภัตตาคารชั้นเลิศ เป็นคาบาเร่โชว์ตระการตา และเป็นอะไรต่อมิอะไร อีกร้อยแปด

ปารีส เป็นแม้กระทั่งกองทหารอันเคยเกรียงไกรพิชิตทั่วทั้งยุโรป และเป็นต้นแบบของ “การปฏิวัติประชาธิปไตย” ตลอดจนแหล่งฟูมฟักความคิดเสรี ที่ความเห็นอกเห็นใจและต้องการปลดปล่อยคนชั้นล่างทั่วโลก เริ่มเป็นจริงเป็นจัง ณ ที่แห่งนี้

“เสรีภาพ เสมอภาพ และ ภราดรภาพ” คือคำขวัญที่นักปฏิวัติทั่งโลกยึดถือดั่งโองการจากสวรรค์

ปารีส ก็เคยเป็นอะไรหลายๆ อย่าง สำหรับผม

ทว่าบัดนี้ ปารีสสำหรับผม เหลือเพียงมิติเดียว

“แจ๊ส”

“Paris is Jazz, and Jazz is Paris”

รอบนี้ ปารีสสำหรับผม จึงมิใช่ VERSAILLES ไม่ใช่ LOUVRE ไม่ใช่ D’ORSAY ไม่ใช่ POMPIDOU CENTER ไม่ใช่ PICASSO ไม่ใช่ RODIN ไม่ใช่ VICTOR HUGO หรือพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ไม่ใช่ EIFFEL TOWER ไม่ใช่ถนน CHAMPS-ELYSEES ไม่ใช่ SAMARITAINE, PRINTEMPS, หรือ GALERIES LAFAYETTE ไม่ใช่ MONTMARTRE ไม่ใช่ MOULIN ROUGE ไม่ใช่ LE GRAND REX และไม่ใช่เรื่องราวเกี่ยวกับ NAPOLEON อย่างที่เคยเป็น

แต่ ปารีสสำหรับผม กลับเป็น ST-GERMAIN-DES-PRES

และ ST-GERMAIN-DES-PRES ก็มิใช่ที่ฝังซากสังขารของ Rene’ Descartes แต่เป็น JAZZ CLUB และ JAZZ CAFÉ ที่แฝงตัวอยู่ตามซอกตึกและห้องใต้ดินของซอกเล็กซอยน้อยในแถบนั้นเอง

ที่นี่ มีตั้งแต่ “แจ๊สหวาน” ไปจนถึง “แจ๊สเต้นรำ”

ทว่า ลมหนาวเริ่มโชยมาแล้ว ไปที่ไหนจึงมักได้ยินเสียงเพลง Autumn Leave เสมอ เพราะอันที่จริงเพลงนี้ก็มีต้นกำเนิดมาจากฝรั่งเศสนั่นเอง เพลงนี้ถือเป็นเพลงหลักเพลงหนึ่งในวงการแจ๊ส ที่ศิลปินจำนวนมากนำไปบรรเลงและร้อง แต่สำหรับผมแล้ว ผมชอบสำเนียงทรัมเป็ตของ Miles Davis ที่เป่าไว้ในชุด Somethin’ Else ของ Cannonball Adderley (Blue Note 1595) ซึ่งถือเป็นงานคลาสสิกชิ้นหนึ่งที่ Miles ทิ้งไว้ให้กับวงการแจ๊ส


The falling leaves drift by my window

The falling leaves of red and gold

I see your lips, the summer kisses

The sunburned hands I used to hold


Since you went away the days grow long

And soon I'll hear old winter's song

But I miss you most of all, my darling

When autumn leaves start to fall


ย้อนเวลากลับไปเมื่อ พ.ศ. 2492 ตอนนั้น Miles Davis เพิ่งจะเคยมาปารีสเป็นครั้งแรกในชีวิต กับ Tadd Dameron Band เขาร่วมเล่นกับ Tadd Dameron (เปียโน), Kenny Clark (กลอง), James Moody (แซ็กโซโฟน), และ Pierre Michelot (เบส) ที่ Paris Jazz Festival และ Club Tabou ช่วงนั้น เขาตกหลุมรักกับ Juliette Greco นักร้อง นักแสดง ที่โด่งดังมากของฝรั่งเศสในยุคหนึ่ง เขาได้ใช้ชีวิตคลุกคลีกับ Jean-Paul Sartre นักคิด นักเขียน สดมภ์หลักของสำนัก Existentialism จนที่สุด ปารีส ทำให้เขาเปลี่ยนวิธีคิด วิธีมองสิ่งต่างๆ ไปอย่างสิ้นเชิง และตลอดกาล เขากล่าวไว้ใน Miles: The Autobiography ว่า “…it (Paris) changed the way I looked at things forever.")

ปารีส มักทำให้คนเปลี่ยนโลกทัศน์เสมอ

กาลครั้งหนึ่ง นักเรียนไทยจำนวนเพียงหยิบมือ ที่เคยไปเรียนที่นั่น เมื่อหลังสงครามโลกครั้งแรก นำโดยดอกเตอร์ปรีดี พนมยงค์ ก็เคยซึมซับแนวคิดทางการเมืองอันก้าวหน้า แล้วกลับมา “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” กลับข้างให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้มีสิทธิมีเสียง กันมาแล้ว

กับบรรดาศิลปินแจ๊สนั้น ปารีสโอบอุ้มไว้อย่างอบอุ่นเสมอมา นักดนตรีผิวดำที่เคยอยู่อย่างน้อยเนื้อต่ำใจในอเมริกา เวลามาปารีส ก็มักได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอบ่าเสมอไหล่ ปารีสได้ต้อนรับนักดนตรีแจ๊สอเมริกันมาแล้วทุกรุ่น ตั้งแต่รุ่นเก๋าอย่าง Sidney Bechet, Dizzy Gillizpy, Charlie Parker, Thelonious Monk, Miles Davis, John Coltrane ไล่เรียงมาจนถึงรุ่นกลางอย่าง Herbie Hancock, Wayne Shorter, Ron Carter, Tony Williams และรุ่นล่าสุด อย่าง Patricia Barber และ Norah Jones ก็ล้วนต้องมาเยี่ยมเยียน St.-Germain des Pres กันเป็นครั้งคราว

ตามร้านขายเพลงแถวนี้ ผมเห็นโปสเตอร์ใหญ่โปรโมทอัลบั้มเพลงแจ๊สอยู่ทั่วไปหมด Ascenseur pour L’echafaud คือหนึ่งในนั้น ชาวแจ๊สปารีสชอบอัลบั้มนี้มาก แม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายสิบปีแล้ว มันก็ยังขายดีอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย Miles Davis เป็นคนทำเพลงชุดนี้เองทั้งหมด ในระหว่างที่เขาถูกเชิญให้ไปเล่นที่ CLUB ST.-GERMAIN ถ้าใครเคยดู DVD ชุด The Miles Davis Story ตอนที่มีการสัมภาษณ์ Louis Malle ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ก็จะรู้ว่า เพลงชุดนี้เป็นการ “ด้นสด” (Improvisation) อย่างแท้จริง Miles ทำงานชุดนี้ โดยนำภาพยนตร์มาดูก่อนแบบคร่าวๆ แล้วก็คิดเพลงประกอบว่าควรจะออกมาแนวไหน แล้วก็บอกแนวทางต่อนักดนตรีร่วมวงว่าให้เล่นคอร์ดอะไรบ้าง ซึ่งประกอบด้วย Kenny Clark (กลอง), Pierre Michelot (เบส), Barney Wilen (เซ็กโซโฟน), และ Rene Urtreger (เปียโน) ต่อจากนั้น เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของภาพยนตร์แนวฆาตกรรม ก็ให้หาตึกเก่าๆ ที่มืดๆ ทึมๆ หลังหนึ่ง สำหรับบันทึกเสียง โดยฉายภาพยนตร์ไปด้วยและบรรเลงไปด้วยแบบสดๆ ไม่มีการเขียนโน้ตไว้ก่อนแม้แต่น้อย

ภาพยนตร์เรื่องนี้ ออกฉายในอังกฤษด้วยชื่อ Lift to the scaffold แต่ออกฉายในอเมริกาด้วยชื่อ Elevator to the Gallows อาจแปลเป็นไทยแบบตรงตัวได้ว่า “ลิฟท์สู่ตะแลงแกง” ผมชอบฉากที่ Jeanne Moreau เดินบนถนน Champs-Elysees อย่างกระวนกระวายแกมสิ้นหวังว่าชู้รักที่เพิ่งลงมือฆ่าสามีเธอไปหมาดๆ นั้น (นำแสดงโดย Maurice Ronet) คงจะทิ้งเธอไปเสียแล้ว ฉากนั้น ปารีส สวยคลาสสิกมาก แม้วว่าหนังเรื่องนี้จะเป็น Film Noir ก็ตาม และเมื่อนึกถึงตอนที่ Miles เป่าเพลงประกอบฉากนี้ คือ Florence Sur Les Champs-Elysees ขณะที่ระหว่างนิ้วยังคงคีบบุหรี่อยู่ด้วยแล้ว มันช่างดูเป็น Art Form เสียนี่กระไร

Ascenseur pour L’echafaud บันทึกเสียงเมื่อวันที่ 5 และ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2500 มีทั้งหมด 26 เพลง (รวม Alternative Takes ด้วยทั้งหมด) แทบทุกเพลง ฟังไพเราะ ถ้าใครชอบ Bird of the Cool (Capital T762) และ Kind of Blue (Columbia CL1355 หรือ CS8163) แล้ว ก็ต้องชอบอัลบั้มนี้ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะถือว่าอยู่ในช่วง “Cool Period” ที่ขั้นอยู่ตรงกลางระหว่างอัลบั้มทั้งสองนั้น ผมคิดว่าขณะนั้น ความคิดของ Miles กำลังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” เขากำลังอยู่ในช่วงตกผลึก และกำลังจะ Breakthrough ในเชิงของ Modal Jazz ซึ่งแสดงออกอย่างลึกซึ้งที่สุดผ่านอัลบั้มชุด Kind of Blue ที่บันทึกเสียงหลังจากนั้นเพียง 15 เดือน

ผมเห็นด้วยกับ Miles Davis ที่เคยบอกว่า Paris นั้น มี “กลิ่น” เฉพาะตัวที่ต่างกับที่อื่น ดมไปก็คล้ายเป็นกลิ่นอโรมาของกาแฟ แต่สูดอีกทีก็เหมือนกับกลิ่นมะนาวควายที่ผสมกับน้ำมะพร้าวแล้วเทลงไปในแก้วเหล้า ที่คืนนั้น ณ CAVEAU de la HUCHETTE ผมดื่มเข้าไปไม่น้อยเลย

เป็นเวลาของวันใหม่แล้ว ที่คลับเพิ่งเลิกรา ทั้งนักดนตรีและบรรดานักเต้นเท้าไฟ ต่างขึ้นมานั่งดื่ม นั่งคุยกันต่อ อย่างออกรส แต่ผมอยู่ต่อไม่ได้แล้ว เพราะ TGV เที่ยวแรกกำลังจะออกจาก Gare de Lyon เวลา 6.20 นี้เอง

Aix-en-Provence คือจุดหมายต่อไป

Good Buy……….Paris is Jazz, & Jazz is Paris

AU REVOIR !


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
20 ตุลาคม 2550
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนธันวาคม 2550

คลิกฟัง Autumn Leaves สำเนียง Miles Davis ได้ตามลิงก์ข้างล่างครับ