วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

RVG และห้องฟังที่พึงปรารถณา



ผมจึงขอ “ขัดดอก” ด้วยการเขียนเรื่องจากความจำล้วนๆ โดยผลัดเรื่อง Blue Note ไปก่อน หวังว่าท่านผู้อ่านที่ติดตามข้อเขียนของผมคงจะให้อภัย

ย้อนเวลากลับไปเมื่อหลายปีก่อน สมัยที่ผมยังไม่ได้สะสมแผ่นเสียงและเครื่องเสียง ผมเคยศึกษาเรื่องรถยนต์และมอเตอร์ไซด์ ทำให้ผมทึ่งในภูมิปัญญาทางด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ของเยอรมัน และพยายามสืบค้นต้นตอว่าปัญญาเหล่านั้นมันก่อตัว ฟูมฟัก และพัฒนามาอย่างไรในสังคมเยอรมัน

ผลพวงของการค้นคว้าครานั้น ทำให้ผมพบว่าอิทธิพลของความคิดและวัฒนธรรมเยอรมัน (German High Culture) ที่มีต่อโลกทัศน์และวิถีชีวิตของฝรั่งปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสังคมอเมริกันนั้น มีอยู่อย่างมากมายมหาศาล

หากผมยกตัวอย่างเฉพาะในแวดวงดนตรี ก็จะเห็นว่าคีตกวีคนสำคัญที่ร่วมบุกเบิกและชี้นำแนวทางดนตรีของฝรั่งในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์นั้น ส่วนใหญ่เป็นคนเยอรมัน นับตั้งแต่ Bach, Handel, Mozart, Mendelssohn, Beethoven, Schumann, Schubert, Strauss, Wagner, Brahms, และ Mahler (บางคนเป็นออสเตรียนซึ่งก็คือเยอรมันในความหมายกว้างนั่นเอง)

อันนี้ยังไม่นับผู้คนในแวดวงวิทยาศาสตร์ซึ่งเราท่านต่างก็รู้กันดีว่าหัวขบวนคนสำคัญอย่างไอนสไตน์ก็มาจากเยอรมัน และแทบจะไม่ต้องพูดถึงความคิดของ Karl Marx ซึ่งครั้งหนึ่งเคยสร้างสาวกค่อนโลก และของ Sigmund Freud, Max Weber, และ Friedrich Nietzsche ที่มีอิทธิพลต่อปัญญาชนฝรั่งร่วมสมัยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาชนแห่งสำนัก Post-modernism

สมัยนั้น เพื่อนชาวเยอรมันได้พาผมไปที่โบสถ์เก่าแก่แห่งหนึ่งในแคว้นไรน์ (Rhinegau) แถบที่มีชื่อเสียงมากในการผลิตไวน์ขาวของประเทศเยอรมัน ผมจำชื่อโบสถ์แห่งนั้นไม่ได้เสียแล้ว ทราบแต่ว่าโบสถ์หลังนั้น เคยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Name of the Rose ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายขายดีของ Umberto Eco นักเขียนอิตาเลี่ยนชื่อก้อง โดยที่ดารานำของเรื่องนั้นรับบทโดย ฌอน คอนเนอรี่ (Sean Connery) อดีตเจมส์ บอนด์ 007 คนแรก

นอกจากชิมไวน์และชมเครื่องจักรที่ใช้ผลิตไวน์ในสมัยโบราณแล้ว ผมยังมีโอกาสได้เข้าไปในตัวอาคารโบสถ์ที่เคยใช้ประกอบพิธีสงฆ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นแต่เพียงห้องโล่งๆ มีเพียงภาพเขียนและไม้กางเขนเก่าแก่แขวนไว้ให้ชม แต่ไม่มีม้านั่งและสังฆบริขารเหลืออยู่เลย ผู้คนก็ไม่มีให้เห็นแม้แต่คนเดียว ผมจึงสัมผัสได้กับบรรยากาศอันประหลาดพิกลบอกไม่ถูกว่ามันวังเวง หรือ ศักดิ์สิทธิ์กันแน่ แต่การที่ผมเป็นพุทธศาสนิกชน ความรู้สึกผมเลยเอนเอียงค่อนไปในแบบแรก นี่ถ้าผมเป็นคริสต์ศาสนิกชนที่มีศรัทธาในพระเจ้าเป็นเบื้องแรกแล้ว ผมว่าความรู้สึกน่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่า

กระนั้นก็ตาม ลึกๆ แล้ว ผมก็ยังสัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ของศาสนจักรในอดีต ซึ่งเป็นรากฐานทางภูมิปัญญาหลายด้านของฝรั่งในปัจจุบัน ผมรู้ได้ทันทีในตอนนั้นว่า พวกฝรั่งรู้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “อคูสติก (Acoustic) มาช้านานแล้ว ผมลองผิวปาก ปรบมือ และฮัมเสียงกลางและต่ำเบาๆ ก็ปรากฏว่าสุ้มเสียงที่ออกมานั้น กึกก้องและน่าเกรงขาม น่าเสียดายที่ผมไม่ได้บันทึกเสียงไว้

สมัยก่อน ยังไม่มีไมโครโฟน เครื่องขยายเสียง และลำโพง ตลอดจนสายสัญญาณอันก้าวหน้า อย่างเดี๋ยวนี้ ดังนั้น การออกแบบโครงสร้างเชิงสถาปัตยกรรมเพื่อให้ได้เสียงดีและสมบูรณ์จึงจำเป็นมาก หลังคาสูงและเพดานโค้งแบบ “เรือคว่ำ” ประกอบกับการวางตำแหน่งของแสงและพรม ตลอดจนไม้ประดับ ล้วนมีความหมายโดยตรงต่อ “อคูสติก” ของโบสถ์ ช่วยสะกดให้ผู้ศรัทธาสามารถสัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ มหัศจรรย์ และศักดิ์สิทธ์ของพระผู้เป็นเจ้า ใครที่เคยฟังนักร้องประสานเสียงในโบสถ์แถบยุโรปคงทราบดี สำหรับประสบการณ์ของตัวผมเองที่แม้จะเป็นพุทธศาสนิกชนนั้น บอกได้เลยว่า “ขนลุก” แบบ “ลุกแล้วลุกอีก” ไม่รู้กี่รอบ

ผมเพิ่งได้อ่านบทความในนิตยสาร Wired ฉบับไม่นานมานี้ ว่ามีกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยในอิตาลีได้ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับระบบอคูสติกของโบสถ์เก่าในยุโรป โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างจากสถานที่จริงหลายสิบแห่ง เพื่อติดตั้งเครื่องมือที่เกี่ยวกับการฟังและการบันทึกเสียง เสร็จแล้วก็นำมาวิเคราะห์ในห้องแล็ปอีกชั้นหนึ่ง พวกเขาได้ข้อสรุปว่า โบสถ์ที่สร้างตามแนวสถาปัตยกรรมของยุคบาโรค โดยเฉพาะที่มีเพดานไม้สูงโค้งเป็นรูปเรือคว่ำ ให้เสียงที่สมบูรณ์แบบที่สุด

ผมพูดเรื่องนี้ เพราะผมเองก็เพิ่งรู้มาเมื่อไม่นานนี้ว่า ห้องบันทึกเสียงของ Rudy Van Gelder ที่ Englewood Cliffs, NewJersey ก็สร้างตามแนวที่ว่ามานั้น โดยเฉพาะหลังคาไม้ทรงสูง ต่อขึ้นเป็นปิรามิดทรงเรือคว่ำ เช่นเดียวกัน อันนั้นนับเป็นภูมิปัญญาของยุโรปอย่างหนึ่งที่ตกทอดมาสู่อเมริกาปัจจุบัน(อย่าลืมว่า Rudy Van Gelder นั้นก็มีเชื้อสายเยอรมันเช่นเดียวกับ Alfred Lion และ Francis Wolff ผู้ก่อตั้ง Blue Note)














Rudy Van Gelder กับ Alfred Lion และเครื่องเสียงที่สร้างขึ้นเอง




RVG


Rudy Van Gelder เป็น Sound Engineer คนสำคัญของโลกที่บรรดานักฟังและสะสมแผ่นเสียงเพลงแจ๊สชื่นชมในผลงาน อีกทั้งยังเป็นคนที่สื่อมวลชนสายดนตรีและ Sound Engineer รุ่นหลังให้ความเคารพ แผ่นเสียงเพลงแจ๊สที่เขาเป็นผู้บันทึกเสียง ล้วนมีราคาค่างวดสูงมากในตลาดของสะสมปัจจุบัน เป็นเป้าหมายที่นักสะสมทั่วโลกควานหามาครอบครอง (อันที่จริงเขาเคยบันทึกเสียงเพลงคลาสสิกและเพลงร้องในโบสถ์ด้วย แต่แผ่นเหล่านั้นกลับไม่เป็นที่นิยมของนักสะสม) แผ่นเสียงของค่าย Blue Note, Prestige, Ad Lib, Savoy, Regent และ Impulse ที่เขาเป็นผู้บันทึกเสียงนั้น ให้บรรยากาศของวงดนตรีแจ๊สในยุค Hard Bob และ Free Jazz ได้ดีที่สุด

นับเป็นโชคของคนรุ่นหลังอย่างผมที่ยังสามารถรับรู้ถึงจิตวิญญาณของยุคสมัยตลอดจนฝีไม้ลายมือของศิลปินแจ๊สที่ผมชื่นชอบและอารมณ์แวดล้อมในยุคที่ผมยังไม่ทันเกิดได้ โดยผ่านแผ่นเนสียงเก่าที่ยังหลง
เหลืออยู่เหล่านั้น สไตล์เสียงของ Van Gelder ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะในยุคที่เขายังบันทึกเสียงด้วยระบบโมโน เสียงทุกเสียงมันจะกระฉับกระเฉง จริงจัง ดนตรีเป็นดนตรี เสียงแตรก็ฟังเหมือนมันแผดออกมาจากปากแตร (Horn) ตรงๆ เลย เสียงเปียโนก็เป็นเสียงที่เกิดจากการเคาะออกมาเป็นลูกๆ ไม่มีการใช้ Reverb ช่วย (เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาใช้ Reverb ช่วยน้อยมาก) ส่วนเสียงเบสและกลองก็กระชับ ฟังแล้วรู้ว่านักดนตรีทุกคนตั้งใจเล่น เสียงของดนตรี Hard Bob ยุคนั้น ทั้งค่าย Blue Note หรือ Prestige มันฟังดูดิบและแทบจะไม่มีการปรุงแต่งเลย

ธรรมดา Van Gelder จะไม่พูดถึงอุปกรณ์และเทคนิคที่เขาใช้ในห้องบันทึกเสียง เพราะถือว่าเป็นเคล็ดลับของเขา แต่เมื่อไม่นานมานี้ เขาก็ให้สัมภาษณ์มากขึ้น แล้วก็พูดมากขึ้นด้วย อาจเป็นเพราะเขาต้องออกมาช่วยประชาสัมพันธ์ซีดีชุด RVG Series ที่ค่ายเพลงแจ๊สหลายค่ายนำเทปมาสเตอร์ที่เขาเคยบันทึกเสียงไว้อย่างเป็นตำนานเหล่านั้น กลับไปขอให้เขาทำให้ใหม่ (Re-master) ด้วยเทคโนโลยีของยุคปัจจุบัน

ผมเคยค้นคว้าแล้วพบว่า Van Gelder ในยุคแรกนั้น ใช้แอมปลิฟลายเออร์ที่ต่อเองทั้งหมด แม้แต่ Mixer และ Console ก็สร้างเองทั้งหมด แต่เลือกบันทึกเสียงดนตรีลงมาสเตอร์เทปด้วยเทปรีล (Reel-to-reel) ของ AMPEX ที่มีอยู่ถึงสี่ตัว เรารู้อีกว่าเขาใช้ไมโครโฟน TELEFUNKEN รุ่น U-47 และใช้จำนวนน้อยตัว (เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “When one mic will do the job. I never use two”) เขาใช้เครื่องตัดแผ่นเสียงของ SCULLY ในการทำแผ่นมาสเตอร์ให้กับค่ายเพลงต่างๆ และที่น่าแปลกก็คือ ทั้งเขาและบรรดาโปรดิวเซอร์ตลอดจนศิลปินในยุคนั้น ต่างก็ได้สดับสำเนียงเสียงของพวกเขาในแบบโมโนผ่านลำโพง Monitor ของ ALTEC













Lee Morgan กับ Telefunken U-47
@RVG Studio




Van Gelder เคยเล่าถึงวิธีการทำงานของเขากับ Alfred Lion และ Bob Weinstock ในการบันทึกเสียงอัลบั้มยุคแรกของค่าย Blue Note และ Prestige ว่าพวกเขาล้วนได้ยินสำเนียง (Monitor) ของตัวเองในระบบโมทั้งสิ้น

ผมลองจินตนาการว่าตอนนั้นเป็นตอนที่พวกเขาเพิ่งบันทึกเสียงกับวงของ Miles Davis เสร็จ จากนั้นทุกคนก็เข้ามาในห้อง Control Room เพื่อเปิดฟังผลงานที่เพิ่งบรรเลงจบไปหมาดๆ ด้วยเทปรีลเพื่อผ่านออกลำโพง ALTEC เพียงข้างเดียว แล้วก็ผลัดกันวิจารณ์ว่าอยากให้สำเนียงเสียงของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นออกมาเป็นแบบโน้นแบบนี้ในแต่ละช่วงของเพลง แล้วก็มีการ Take และตัดต่อเทป โดยที่สุดก็ได้ออกมาเป็นเทปมาสเตอร์และแผ่นมาสเตอร์ตามลำดับ จนปั๊มออกมาเป็นแผ่นเสียง Blue Note หรือ Prestige อย่างที่ตกทอดมาให้เราได้ฟังกันทุกวันนี้

ในความเห็นของผม ถ้าตัดสินโดยเอาผลงานที่ยังคงอยู่ในร่องแผ่นเสียงที่ตกทอดมาสู่พวกเราแล้ว ผมว่างานที่พวกเขาเพียรต่อจิ๊กซอว์จนครบทั้งกระบวนการดังว่านั้น เทียบได้กับงานศิลปะหรือ Work of Art เลยทีเดียว เพราะงานสร้างสรรค์ทางดนตรีแจ๊สในสมัยนั้น มันไม่ได้จบกันเมื่อศิลปินบรรเลงเสร็จสิ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกระบวนการ Sound Engineering และ Producing ที่มีส่วนกำหนดคุณภาพโดยรวมของงานทั้งชิ้นด้วย

ในวงการแจ๊สนั้น ชื่อเสียงของ Van Gelder ได้กลายเป็นตำนานไปแล้ว แม้เขาจะไม่ใช่นักดนตรีแต่ชื่อเสียงของเขาก็ไม่แพ้ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่เหล่านั้น และเพราะเขาเลือกทำงานแบบฟรีแลนซ์ ไม่ยอมเป็นลูกน้องใคร เขาจึงได้ทำงานกับทุกค่ายเพลง ไม่จำกัดเฉพาะกับค่ายใดค่ายหนึ่ง ทำให้ผลงานของเขากระจายครอบคลุมวงการดนตรีแจ๊สในยุคที่แจ๊สรุ่งเรืองถึงขีดสุด

อันที่จริง เขาร่ำเรียนมาเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตรวจวัดสายตา แต่เขาชอบเล่นวิทยุสมัครเล่นเป็นงานอดิเรกเมื่อตอนเด็ก แล้วก็หันมาเล่นเครื่องเสียงประเภท D-I-Y หนักเข้าก็ตั้งห้องบันทึกเสียงเองโดยอาศัยห้องนั่งเล่นที่บ้านเป็นสตูดิโอ เริ่มจากเพื่อนแถวบ้านละแวก Hackensack ที่ต้องการมีผลงานเพลงไว้อวดสาวก่อน ต่อมาชื่อเสียงของเขาก็ขยายออกไป จนเข้าหูค่ายเพลงระดับใหญ่ กระนั้นก็ตาม ในระยะสิบปีแรก เขายังทำงานด้านสายตาเป็นหลัก และบางวันก็ค่อยมารับงานบันทึกเสียง เขาเคยเล่าว่า “I was examining eyes one day, and Wednesday, I’d be recording Miles Davis”

การที่เขาได้มีโอกาสบันทึกเสียงศิลปินดาวรุ่งในสมัยนั้นอย่าง Miles Davis, Thelonious Monk, Sonny Rollins, J.J. Johnson, หรือ John Coltrane ทำให้ทั่วโลกรู้จักเขา ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์ศิลปินแจ๊สจำนวนมากที่มีต่อเขา ส่วนใหญ่บอกว่าเขาเป็นคนน่ารัก แต่ยึดระเบียบวินัยเคร่งครัดมาก เขาต้องใส่ถุงมือเสมอเมื่อจับไมโครโฟน และจะไม่ยอมให้เอาอาหารหรือบุหรี่เข้ามาในห้องควบคุมเด็ดขาด อาจจะเพราะความมีระเบียบในการดำเนินชีวิตนี้กระมังที่ช่วยให้เขามีอายุยืนมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่พรรคพวกเหล่านั้นล้มหายตายจากไปเกือบหมดแล้ว











John Coltrane ระหว่างพักยก ณ Van Gelder Studio ในวันที่ไปอัดอัลบั้มประวัติศาสตร์ A Love Supreme







เมื่อเขาโด่งดัง งานก็ชุกมากขึ้น ที่เคยบันทึกเสียงอาทิตย์ละวัน ก็กลายเป็นอาทิตย์ละหลายวัน ที่เคยจบแต่หัวค่ำ ก็ลุกลามไปจนดึกดื่น ไม่ก็สว่างคาตา ทำให้พ่อแม่เขาเริ่มอึดอัด เขาจึงคิดขยับขยาย และนั่นจึงเป็นที่มาของห้องสตูดิโอ Englewood Cliffs ที่กล่าวมาแล้ว ผมเข้าใจว่าเขาย้ายมาทำงานที่สตูดิโอนี้เมื่อปี 2502 ตรงกับช่วง Blue Note 4000 Series และถ้าผมจำไม่ผิด แผ่น Blue Note อัลบั้มแรกที่บันทึกเสียงจากห้องสตูดิโอใหม่นี้คือแผ่นหมายเลข 4018 ของ Walter Davis JR. ชุด Davis Cup ซึ่งนับเป็นแผ่นระดับหายากและเป็นหัวกะทิแผ่นหนึ่งของ Blue Note 4000 Series ส่วนอัลบั้มที่สองเป็นของ Horace Silver ชุด Blowin’ the Blues Away หมายเลข 4017 (แม้จะบันทึกเสียงทีหลังแต่ออกจำหน่ายก่อน) และถ้าจะดูรูปสตูดิโอนี้ ก็ให้ดูที่ปกอัลบั้มของ Stanley Turrentine with the Three Sounds ชุด Blue Hours หมายเลข 4057 ก็จะสังเกตเห็นการจัดวางเครื่องดนตรีและตำแหน่งไมโครโฟน เพื่อให้ได้เวทีเสียงในแบบของ RVG ในยุคสเตอริโอ

ในความเห็นของผม ถ้าให้ผมเลือกแผ่นที่บันทึกเสียงจากห้องนี้ที่ให้เสียงสมบูรณ์ที่สุดแล้ว ผมยกให้อัลบั้ม Blue Note หมายเลข BST-4153 เวอชั่นสเตอริโอของ Grachan Moncur III ชุด Evolution และอัลบั้ม Impulse หมายเลข AS-77 เวอชั่นสเตอริโอของ John Coltrane ชุด A Love Supreme ซึ่งผมคิดว่าทั้งการบันทึกเสียงและการบรรเลงดนตรีของศิลปินทุกคนในนั้นก้าวเขาสู่เขตแดนที่เหนือชั้นเป็นอย่างยิ่ง ด้านการบันทึกเสียงโดยเฉพาะแผ่นแรกนั้นดีกว่าค่ายเพลงสมัยใหม่อย่าง Sheffield Lab หรือ MFSL หลายขุม ส่วนแนวดนตรีนั้น ทั้งคู่จัดได้ว่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุค Hard Bob ไปสู่ Free Jazz ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดเจนจากการปรับตัวของ Jackie Mclean, Lee Morgan, และ John Coltrane






แผ่น Blue Note ชุดนี้บันทึกเสียงได้ดีเยี่ยมในความเห็นของผมที่นักสะสมแผ่นเสียงควรมีไว้ครอบครอง










ศิลปินแจ๊สรุ่นใหญ่หลายคนเคยพูดถึงสตูดิโอแห่งนี้ว่ามันอบอุ่นเหมือนบ้าน เพราะอันที่จริง RVG และครอบครัวก็อาศัยอยู่ที่นั่นด้วย แต่เขาทำงานเพียงจันทร์ถึงเสาร์เท่านั้น ผมเคยดูนิตยสารแจ๊สญี่ปุ่น ได้เห็นคอแจ๊สที่ไปแสวงบุญถ่ายรูปกลับกันมาเป็นจำนวนมาก

ส่วนทางด้านเทคนิคเชิงอคูสติกของห้องสตูดิโอนั้น ผมเคยลองประมวลผลออกมาเพื่อเป็นแนวทางสำหรับตัวเองว่าหากจะสร้างห้องฟังสักห้อง ก็คิดว่าจะเลียนแบบห้องสตูดิโอของ RVG แห่งนี้แหละ

จากการค้นคว้า ผมพอจะประมวลคร่าวๆ ได้ว่าสตูดิโอแห่งนี้สร้างตามแนวสถาปัตยกรรมของโบสถ์ในยุโรป เพียงแต่ออกแบบให้ทันสมัยกว่า ฐานเป็นรูปเพชร ความสูงวัดจากจุดยอดสุดของหลังคาเกือบ 15 เมตร พื้นเป็นปูนขัดมัน ผนังก่อจากอิฐบล็อกไม่ฉาบปูน สูงประมาณ 4-5 เมตร ต่อจากนั้นเป็นคานไม้พาดและพิงกันเข้าเป็นโครงข่ายทรงปิรามิด มุงหลังคาด้วยไม้บล็อกเล็กๆ จำนวนมาก กุมเข้าด้วยกันจนถึงยอดปิรามิด อุปมาอุปมัยคล้ายเรือคว่ำ ผนังด้านหนึ่งวางม้านั่งยาว กับมีพรมและต้นไม้วางไว้ในมุมเดียวกับเครื่องดนตรี มีห้อง Control Room เล็กๆ อยู่ด้านทิศใต้โดยมีกระจกกั้น แสงไฟในห้องไม่จ้าเกินไป และถ้าสังเกตจากรูปถ่ายสมัยนั้น จะเห็นว่าเปียโนถูกจัดวางไว้ตรงมุมห้องพอดี ถัดมาทางซ้ายจะเป็นเบส และถัดมาอีกแต่เยื้องมาตรงกลางห้อง (ข้างหน้าทางปีกซ้ายของเปียโน) จะเป็นกลอง ส่วนเครื่องเป่าจะอยู่ด้ายปีกขวาหน้าของเปียโน









ตำแหน่งการจัดวางเครื่องดนตรี @RVG Studio










ผมไม่ใช่วิศวกรหรือสถาปนิก และพื้นฐานทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ก็เพียงงูๆ ปลาๆ เท่านั้น ผมจึงไม่สามารถวิเคราะห์วิจารณ์ระบบอคูสติกของห้องแบบนั้นได้ว่ามันดีเลวกว่าห้องสมัยใหม่ที่นิยมสร้างกันในสมัยนี้หรือไม่ อย่างไร แต่จากการสดับฟังผลงานที่ผลิตจากห้องนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแผ่น Blue Note 4000 Series แล้ว ผมคิดว่า ถ้าเอาไอเดียของ RVG มาแปลงกลับเป็นห้องฟัง ก็น่าจะให้ผลลัพธ์ที่เราท่านอาจคาดไม่ถึงก็เป็นได้

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Audiophile ฉบับเดือนตุลาคม 2550