วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

OKTOBERFEST ทำไมกันยา




       แสงแดดกลางเดือนกันยายน ที่แคว้นบาวาเรียยังแรงกล้า ไม่แพ้แดดยามบ่ายแก่ที่กรุงเทพฯ สักกี่มากน้อย

       นักเขียนหนุ่มชาวไทยและอดีตกัปตันเรือบินเยอรมันวัยเลยเกษียณกำลังนั่งชนแก้วกันอย่างเมามัน ใน Beer Hall ท่ามกลางเสียงอึกทึกครึกโครมของวงดนตรี และบรรดาขี้เมาเยอรมันอีกหลายพันคนที่เบียดเสียดยัดเยียดกันอยู่ในโรงเบียร์เมื่อสายวันนั้น

        เพล้ง....เพล้ง....เพล้ง”

เสียงเหยือกเบียร์หล่นกระทบพื้นซีเมนต์ ไม่ไกลจากโต๊ะที่ทั้งสองร่วมนั่ง

ทันทีที่สิ้นเสียง หญิงชายกลุ่มหนึ่งแต่งกายด้วยชุดสีเขียวมือถือกระบอง คาดปืนสั้นที่บั้นเอว กรูกันเข้าถึงเป้าหมายอย่างทันท่วงที

ช่วงนี้ของทุกปี ตำรวจต้องทำงานหนัก” อดีตกัปตันเครื่องบินอธิบายให้นักเขียนหนุ่ม ที่เขาถือเป็นอาคันตุกะของเขาแล้ว

มีตีกันบ้างไหม” นักเขียนถามตามความคุ้นชิน

บ่อย” ผู้อาวุโสกว่าตอบ

นึกว่ามีแต่เมืองไทย” นักเขียนหนุ่มรู้สึกโล่งอกที่ได้รับรู้ว่าคนเยอรมันที่เขานับถือว่าเป็นพวก High Culture ก็ยังตีกันเวลากินเหล้า เฉกเช่นเดียวกับขี้เมาไทย ไม่ผิดเพี้ยน

พูดไม่ทันขาดคำ พยาบาลสนามกลุ่มหนึ่งก็แทรกฝูงชนผ่านโต๊ะที่พวกเขานั่ง ตรงไปยังประตูทางออก นักเขียนหนุ่มเหลือบไปเห็นว่าในเปลที่พวกเขาช่วยกันแบก มีสาวใหญ่นางหนึ่งนอนแน่นิ่งอยู่

เมา” ผู้อาวุโสอ่านใจนักเขียนหนุ่มออก ก่อนที่เขาจะเอ่ยปากถามและพร้อมกับที่นักเขียนหนุ่มกำลังอ้าปากจะพูด ผู้อาวุโสก็ลุกขึ้นชี้ให้ดูว่า ทุกมุมของโรงเบียร์ มีตำรวจและพยาบาลสนาม Stand-by อยู่เป็นหย่อมๆ

นักเขียนหนุ่มพยักหน้าด้วยความกระจ่าง แต่ในใจก็คิดไปว่า คนเยอรมันนั้น เวลาทำงานก็ทำจริงจัง เวลากินก็กินจริงจังสมคำร่ำลือ



เวลาผ่านไปอีกหลายชั่วโมง จนบ่ายคล้อย

เพื่อนต่างวัยทั้งสองยังคงดื่มเบียร์กันต่อไป เหยือกแล้วเหยือกเล่า ทั้งดื่มทั้งสูบสลับกับร้องเพลง และคล้องแขนกับผู้ร่วมม้านั่งยาวคนอื่น ซึ่งผลัดหน้ากันมานั่งตามคิวที่พนักงานจัดให้ พวกแล้วพวกเล่า

แม้พวกเขาทั้งหมดจะไม่รู้จักกันมาก่อน พวกเขาก็คล้องแขนร้องเพลงด้วยกันอย่างมีความสุข

เพราะวันนี้เป็นวันแรกของเทศกาล Oktoberfest ที่ชาวบาวาเรียนรอคอยหลังจากทำงานหนักมาทั้งปี เพื่อที่จะได้เริงรื่น และปลดปล่อยพร้อมกันปีละครั้ง

ไอซ์...ชไวส์.....ไตร.......เบียร์ ๆ ๆ ๆ....บาเยิน มึนเชิน” เสร็จแล้วก็ยกเหยือกขึ้นดื่ม เอื้อก ๆ ๆ ๆ ๆ

มิวนิก (Munich หรือ Munchen) เป็นเมืองหลวงของแคว้นบาวาเรีย (Bavaria หรือ Bayern) ดินแดนซึ่งมั่งมีศรีสุขที่สุดของประเทศเยอรมนี เมืองมิวนิกเป็นบ้านเกิดของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่เยอรมันที่สร้างรายได้ให้กับแคว้นบาวาเรียมหาศาลในแต่ละปี เช่น SIEMENS และ BMW (รถยนต์ของ BMW เป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 2 ของประเทศเยอรมนี รองจากเบียร์)

อันที่จริง คนบาวาเรียนภูมิใจในความเป็นบาวาเรียน ยิ่งกว่าความเป็นเยอรมัน อย่างที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Bavarian first, Garman second” และคนเยอรมันแคว้นอื่น ก็หมั่นไส้คนบาวาเรียนด้วย

เยอรมันส่วนนี้แหละ ที่เป็นตัวแทนภาพลักษณ์ของ “ประเพณีเยอรมนี” ที่ทั่วโลกรู้จักกันดี

ภาพที่เราเห็นคนตัวใหญ่ๆ ใส่เอี๊ยม สวมหมวกขนนก ปลิวสลับกันอย่างสวยงาม ดื่มเบียร์เป็นเหยือกๆ และมีวงดุริยางค์เล่นเครื่องเป่า พร้อมผู้หญิงผู้ชายคล้องแขนกันเต้นเข้าจังหวะ ฯลฯ



โลกปัจจุบัน รู้จักเยอรมันแบบบาวาเรียนมากกว่าแบบอื่น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เยอรมันแบบที่กล่าวมานั้น มีเฉพาะแต่ที่เป็นบาวาเรียนเท่านั้น ส่วนเยอรมันแคว้นอื่น ก็มีวัฒนธรรมของตัวต่างออกไป

นั่นอาจเป็นความจงใจของชนชั้นผู้นำของเยอรมันยุคหลังสงคราม ที่ต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเยอรมันในสายตาชาวโลก ว่าเยอรมันนั้นรักสนุกและรักสงบ เพราะก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 มาจนสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ภาพลักษณ์ของคนเยอรมันเป็นภาพลักษณ์ของทหารที่มีระเบียบวินัย ชนชั้นผู้นำของเยอรมันทั้งหมด แต่งชุดทหาร ใส่บู๊ตหนังสีดำเงางามสูงเลยเข่า หลายคนใส่หมวกเหล็ก ไว้หนวดเฟิ้ม และหน้าตาบึ้งตึงแสดงความเอาจริงเอาจัง

วัฒนธรรมเยอรมันส่วนนั้น เป็นเยอรมันแบบปรัสเซีย (Prussia) แคว้นผู้นำของประเทศเยอรมนี ที่มีศูนย์บัญชาการอยู่ที่เบอร์ลิน (Berlin)

ใครที่รู้จักเยอรมันดีก็จะรู้ว่า นอกจากคนเยอรมันจะภูมิใจในความเป็นเยอรมันของตนแล้ว คนเยอรมันยังมีลัษณะภูมิภาคนิยมสูงมาก

นั่นอาจเป็นเพราะคนเยอรมันเคยเป็นเขตแคว้นที่ปกครองตนเองมาก่อนที่ Otto Von Bismarck นายกรัฐมนตรีของปรัสเชียจะรวมประเทศเยอรมันได้สำเร็จในปี 1870 Bismarck ต้องใช้สารพัดวิธีในการรวมบาวาเรียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมัน เขาต้องรบกับฝรั่งเศส และออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นจักวรรดิที่น่าเกรงขาม อีกทั้งยังต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับกษัตริย์ลุดวิกที่สองสองของบาวาเรียอีกด้วย

กษัตริย์ลุดวิกที่สองนี้แหละ ที่เป็นพระราชโอรสของกษัตริย์ลุดวิกที่หนึ่งและพระนางเทเรซ่า ซี่งเป็นที่มาของตำนาน Oktoberfest อันลือลั่น

ย้อนไปในปี 1810 เจ้าชายลุดวิก พระราชโอรสของเจ้าผู้ครองแคว้นบาวาเรีย ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับ เจ้าหญิงเทราซ่า (Princess Therese Von Sachsen-Hildburghausen) ท่ามกลางความปิติยินดีของเหล่าพสกนิกร

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองงานมหามงคลครั้งนั้น ชาวมิวนิกได้ร่วมกันจัดงานฉลองขึ้นที่ “สวนเทราซ่า” (หรือ Therisienwiese ในภาษาเยอรมัน) ตั้งแต่เสาร์ที่ 2 ของเดือนกันยายน ไปจนถึงอาทิตย์แรกของเดือนตุลาคมในปีนั้น 

งานที่สวนเทราซ่าในสมัยนั้น คงเหมือนงานสวนอัมพรฯ ของเรา ที่มีพ่อค้าแม่ขายมาออกร้านอย่างหลากหลาย มียิงนก ตกปลา ล่องแก่ง ชิงช้าสวรรค์ ขี่ม้า และเครื่องเล่นสารพัดชนิด

ที่ขาดไม่ได้ก็คือ “โรงเบียร์”

เบียร์ยี่ห้อดังๆ ของบาวาเรีย เช่น PAULANER, HBและ FRANCISCANA ต้องไปประชันกันที่นั่นแน่




งานฉลองครั้งนั้นคงสนุกมาก จนชาวมิวนิกเรียกร้องให้จัดซ้ำอีกในปีถัดมา และปีถัดมา และปีต่อๆ มา….จนถึงปัจจุบัน

นั่นแหละ ตำนานของ Oktoberfest

ปัจจุบัน Oktoberfest กลายมาเป็นงานเทศกาลที่ดึงดูดคนต่างชาติจำนวนมาก เหมือนกับสงกรานต์เชียงใหม่บ้านเราไม่มีผิด

โรงแรม อาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ในมิวนิกล้วน Charge ราคาพิเศษ (แพงเป็นพิเศษ)

สถานที่จัดงาน ยังคงเป็นที่เดิมเมื่อเกือบสองร้อยปีมาแล้วแน่นขนัดไปด้วยร้านรวงเหมือนงานวัดบ้านเรา เสริมด้วยเครื่องเล่นแบบหวาดเสียวต่างๆ จำนวนมาก และมีชิงช้าสวรรค์วงมหึมาตั้งเป็นประธานของงาน

โรงเบียร์แต่ละโรง ใหญ่กว่าห้องเพลนารี่ฮอลล์ของศูนย์สิริกิตติ์ประมาณ 2 เท่าตัว ตรงกลางยกพื้นเป็นเวที มีวง Band แบบวาบาเรีย บรรเลงตลอดเวลา

ผู้คนในโรงเบียร์ บ้างดื่ม บ้างสูบ บ้างก็เต้นรำ บ้างก็ยืนบนโต๊ะ บ้างก็กอดจูบกัน สารพัด

วันเสาร์แรก มีขบวนแห่เล็ก และมีพิธีเปิด โดยนายกเทศมนตรีเอาก๊อกเจาะทะลุถังเบียร์ แล้วริมดื่ม ส่วนวันต่อมา มีขบวนแห่ใหญ่ที่ต้องปิดถนนในเขตเมืองเก่าทั้งหมด แห่กันอย่างยิ่งใหญ่ สวยงาม

ถนนทุกสายมุ่งสู่สวนเทราซ่า ทั้งใต้ดินบนดิน ผู้คนเดินทางไปมากันขวักไขว่ และดูเหมือนว่าผู้คนทั้งเมือกมิวนิกในช่วงสองวันนี้ จะต้องมีแอลกอฮอล์ในเลือดกันไม่มากก็น้อย



เวลาผ่านไปจนข้ามวันใหม่

หนึ่งหนุ่มกับอีกหนึ่งเฒ่า ยังคงนั่งที่เดิม

ทว่า สมองของทั้งคู่ยามนี้ ไม่ปราดเปรียว และปลอดโปร่งเหมือนตอนกลางวัน และระยะห่างของการยกเหยือกเบียร์ขึ้นดื่มแต่ละครั้ง ก็นับครั้งห่างขึ้นเป็นลำดับ

แต่ความหนาแน่นของผู้คน และความอึกทึกครึกโครม ดูเหมือนจะเพิ่มเดซิเบลขึ้นเรื่อยๆ ตามเข็มนาฬิกา

ในที่สุด หนุ่มนักเขียนก็ทนต่อไปไม่ไหว

กลับบ้านดีไหม” เขาเปรย

กัปตันเฒ่าไม่ยอมทิ้งลายบาเยิน เอ่ยปากขออีกเหยือสุดท้าย

พอคว่ำเหยือกันแล้ว ทั้งคู่กอดคอกันกลับบ้านที่ Goetheplatz ซึ่งอยู่ไม่ไกล

ระหว่างทางเจอแต่คนเมา ทั้งหญิงและชาย ทั้งหนุ่มและแก่

ก่อนแยกย้ายกันไปนอนหนุ่มนักเขียนก็เอ่ยถามคำถามที่เขาสงสัยมานานแล้ว

ทำไม Oktoberfest ถึงมีในเดือนกันยายน”

คุณยังไม่เมานี่” กัปตันเฒ่าตอบเสียงเนิบช้ากว่าปกติ

แล้วก็ฟุบตัวลงบนโซฟาห้องรับแขก ไม่ไหวติง

จนบัดนี้ นักเขียนหนุ่มกลับมาเมืองไทยแล้ว ทว่าก็ยังไม่รู้คำตอบที่แท้จริง

หรือว่านี่จะเป็นวิธีที่ทำให้นักเขียนหนุ่มต้องกลับไปเยือนมิวนิกอีกในปีหน้า


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Corporate Thailand ฉบับเดือน ม.ค. 2546

Premechanical Luxury

(รถม้าพระที่นั่งคันแรกของไทยสมัย ร.4)

รถยนต์ไร้คนขับของ Google นับว่าเป็นนวัตกรรมในระดับ Breakthrough

คือสามารถผนวกเทคโนโลยีดิจิตัลสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสมองกลคอมพิวเตอร์และบรรดาซอฟท์แวร์แอพพลิเคชั่นทั้งหลายบนอินเทอร์เน็ต เข้ากับเทคโนโลยีอนาล็อกแบบเดิม คือระบบเครื่องยนต์ (ทั้งแบบสันดาปภายในและแบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าตลอดจนระบบตัวถังและระบบแอร์โรไดนามิก อย่างที่เรารู้จักคุ้นเคยกับรถยนต์กันมากว่าร้อยปีแล้ว

มันเป็นระบบ “ลูกครึ่ง”


(Barouche)

นานมาแล้วที่วงการรถยนต์มิได้สร้างสรรค์นวัตกรรมในระดับนี้ แต่อย่างไรก็ต้องนับว่ามนุษย์มาไกลพอควรในเชิงไลฟ์สไตล์ของการเดินทางโดยพาหานะส่วนตัวที่ทั้งทรงประสิทธิภาพและเท่ห์ สนองประโยชน์ต่อทั้งความต้องการโยกย้ายตัวเองจากจุด กไปยังจุด ขให้รวดเร็วและปลอดภัย ผนวกกับความสะดวกสบาย โอ่อ่า และเป็นสัญญลักษณ์แห่งสถานะอัครฐาน

ถ้าย้อนไปก่อนหน้ายุคของพวงมาลัย เครื่องยนต์ และน้ำมันปิโตรเลียม ก็เป็นยุคของรถม้า


(Landau)

สมัยโน้น ชนชั้นสูง เศรษฐี และชนชั้นกลางที่เริ่มมีฐานะขึ้นมา ก็นิยมครอบครองรถม้าส่วนตัว คล้ายๆ กับอุตสาหกรรมรถยนต์หรูในบัดนี้เช่นเดียวกัน

การทำตลาด “รถม้าส่วนตัว” ก็คล้ายๆ กับการทำตลาดรถยนต์หรูในปัจจุบัน

คือแข่งกันที่ ความคงทน ความปลอดภัย ความหรูหราโออ่า วัสดุที่ใช้ และดีไซน์ โดยเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มที่ชอบต่างกัน และใช้ในโอกาสต่างๆ กัน

รถม้าส่วนตัวในบ้านเรามีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ โดยหลังจากได้สร้างถนนเจริญกรุง บำรงเมือง และเฟื่องนครแล้ว จำนวนรถม้าส่วนตัวก็เติบโตขึ้น โดยเฉพาะในสมัยรัชการที่ และรัชกาลที่ แต่สุดท้ายก็ถูกรถยนต์เบียดตกเวทีประวัติศาสตร์ไป


(Barauche-Landau)

ในยุโรปและอเมริกา รถม้าส่วนตัวที่เรียกว่า Coach นั้น เป็นที่นิยมกันมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีโน่นแล้ว ทว่าตลาดเติบโตขึ้นมากนับแต่สิ้นสุดสงครามนโปเลียนเป็นต้นมา

คนมีเงินสมัยนั้น ถ้าคิดจะครอบครองพาหนะชนิดนี้ นอกจากจะต้องหาซื้อรถม้าที่สมฐานะแล้ว ยังต้องหาม้าดี คนเลี้ยงม้า คอกม้า คนขับรถบังคับม้า (Teamsterและเด็กรถ (Groomให้ครบถ้วน

หากเราลอง Search ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตดู เราจะเพลิดเพลินไปกับรถม้าส่วนตัวดีไซน์ต่างๆ ในสมัยนั้นจำนวนมาก และเมื่อลองจินตนาการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสมัยนั้นดู ก็จะพบว่ามันคงไม่ต่างจากสถานการณ์ของอุตสาหกรรมรถยนต์หรูในสมัยนี้สักเท่าใดนัก

ไม่เชื่อพวกท่านลองคลิกดู!


(Berline)

อาจเริ่มจากคำว่า “รถม้าพระที่นั่ง” แล้วท่านจะได้เห็นความงามของทั้ง “รถ” และ “ม้า” ของรถม้าพระที่นั่งของ รัชกาลที่ 4, 5, 6

ต่อด้วยคำว่า Barouche” ซึ่งเปรียบเสมือนซีดานกึ่งสปอร์ตที่หรูเรียบ

“Landau” เปลือยช่วงบน

“Demilandau” หรือ Landaulet” กิ๊บเก๋แบบเปิดประทุนครึ่งคัน

“Barouche-landau” โอ่อ่า หรูหรา กว้างขวางสะดวกสบายกว่าใครๆ นับเป็น Rolls-Royce ของยุครถม้า

“Berline” สุดคลาสสิก




“Chariot” หรือ Chaise” ปราดเปรียวแบบสามที่นั่ง

หรือแบบสปอร์ต Phaeton” “Gigs” “Curricles” โฉบเฉี่ยว เหมาะสำหรับหนุ่มแนวของสมัยนั้น

นอกจากนั้นยังมีอีกหลายรุ่นหลายแบบ รวมถึง Cabriolet, Stanhope, Brougham, Dioropha, Amamphton, Clarence, Britzka, Pilentum, และ Whiskey


(Phaeton)

การได้ย้อนเวลาเข้าไปในโลกแห่งรถม้าส่วนตัวก่อนยุคเครื่องยนต์แบบนี้ บางทีก็ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจได้ไม่น้อย


ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือน พ.ค. 2557

วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Formula 1: SHOW & TELL



โมนาโคกลางเดือนพฤษภาคมร้อนและจอแจ จะสัญจรไปทางไหนก็ดูเหมือนจะเจอแต่ผู้คน

ภัตตาคาร โรงแรม ร้านอาหาร และแหล่งช็อปปิ้ง หรือแม้กระทั่งคาสิโน ดูเหมือนจะหนาแน่นขึ้นในช่วงนี้ และระดับราคาที่แพงอยู่แล้ว ยิ่งแพงขึ้นไปอีก นัยว่าบางแห่งชาร์ตเพิ่มเกือบ 30% แม้แต่ที่พักแถบ NICE ก็ยังหายากเลย เพราะคนมันล้นออกมาปักหลักกันแถวใกล้ๆ

ตามแนวถนนที่จะต้องใช้แข่ง วางแผงกั้นไหล่ทางโดยตลอดแล้ว โดยอัฒจรรย์ตามจุดสำคัญๆ ก็พร้อมรับแฟนๆ นักแข่งจำนวนมากซึ่งกำลังจะเข้าประจำที่ในช่วงระยะสามวันแห่งการประลองความเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันอาทิตย์ที่จะมีขบวนแห่และการแข่งขันประลองความเร็วรอบสุดท้ายนั้นด้วยแล้ว ผู้คนย่อมล้นหลาม ชนิดหาที่ยืนกันแทบจะไม่ได้

ก่อนวันแข่งขัน บรรดาแฟนๆ Formula 1 มักจะหาโอกาสเซอร์เวย์ไปตามเส้นทางแข่งขันที่เรียกว่า Circuit de Monaco ให้ได้สักครั้งหนึ่ง

สนามแข่งอันนี้ จะว่าเป็นสนามแข่งรถมาตรฐานก็ไม่เชิง เพราะมันไม่ได้ถูกสร้างมาสำหรับแข่งรถ เป็นแต่เพียงถนนที่ใช้สัญจรไปมาในวันปกติ แต่เนื่องจากความเก่าแก่ของการแข่งขันที่นี่ทุกปี ตั้งแต่ปี 2472 โน่นแล้ว ประกอบกับความหรูหราอลังการของโมนาโคในฐานะเมืองมหาเศรษฐีและเป็นแหล่งตากอากาศของบุคคลสำคัญในยุโรป มันจึงมิเพียงเป็นสนามที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดเท่านั้น แต่ยัง Prestige ที่สุดในการแข่งขัน Formula 1 อีกด้วย

มันเป็นประสบการณ์ที่แปลกอย่างบอกไม่ถูก ที่ได้เห็นรถสูตรหนึ่งซึ่งวิ่งด้วยความเร็วสูงกว่าสองร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งเฉียดร้านหรูหราอย่าง Louis Vuitton หรือ Hermes หรือ Patek Phillippe ฯลฯ และวิ่งเข้าอุโมงค์ใต้โรงแรมหรูเลียบทะเลด้วยฝีเท้าสุดแรงเกิด แล้วทะลุผ่านอ่าวซึ่งเรียงรายไปด้วยฝูงเรือยอชต์ ที่ราคาของแต่ละลำตกแล้วไม่น่าต่ำกว่า 1000 ล้านบาท

มันแปลกใช่ไหมละ!

แปลกและ Exotic ในแบบที่สนาม Formula 1 ชั้นแนวหน้าของโลกอื่นอย่าง Le Mans หรือ Indianapolis จัดให้ไม่ได้

ท่านผู้อ่านหลายคนที่เป็นแฟน Formula 1 อย่างเหนียวแน่น ที่เคยมีประสบการณ์นั่งรถเซอร์เวย์เส้นทางแข่งขัน คงเห็นได้ไม่ยากว่ามันให้ประสบการณ์ที่แปลกอย่างบอกไม่ถูก

อย่างช่วงขาขึ้นที่ต้องใช้เกียร์ต่ำแล้วจู่ๆ ก็โผล่ออกไปกลาง Casino Square ตรงข้ามอัฒจรรย์ ซึ่งต้องใช้จินตนาการว่าวันแข่งจริงจะมีคนดูจำนวนมากจ้องมองมาที่รถเราเป็นตาเดียว ตรงนั้น หลายคนคงมีความรู้สึกเดียวกับผม ว่าตัวเองคล้ายจะมีภาระกิจลับอะไรบางอย่างที่สำคัญ เช่นเดียวกับ James Bond 007 ที่เราเคยเห็นว่าได้มาโลดเล่นแถวนั้นในหนังของเขาหลายเรื่อง

คล้อยหลังมานิดนึง ตอนลงจากเขามาตามถนน Avenue des Beaux Arts ก่อนเข้าโค้งหักศอกคับขันที่เรียกว่า Grand Hotel Hairpin กับภาพทะเล Riviera สีครามจัด แต่คงไม่มีนักแข่งสักคนเดียวที่จะมีกะจิตกะใจมาดื่มด่ำกับความงานแบบนั้นได้ แม้สักเสี้ยววินาที

และเมื่อโผล่ออกจากอุโมงค์ เพื่อลดความเร็วลอด Chicane แล้วเข้าทางเลียบอ่าว Hercules Harbour ซึ่งเป็นอ่าวและท่าเทียบเรือที่สำคัญที่สุดของ Monaco และเป็นสัญลักษณ์ของ Monte Carlo ที่เรามักเห็นในรูปถ่ายและภาพยนตร์เสมอ

ในความเห็นของผม หนทางช่วงนี้ย่อมเป็นช่วงโชว์ที่เด่นที่สุด ทั้งอ่าวสวย ทะเลสงบ เรียงรายไปด้วยฝูงเรือยอชต์สุดหรูเท่าที่จะหาได้ในโลกนี้ โดยบนถนนก็คราคร่ำไปด้วยฝูงรถสูตรหนึ่งที่นอกจากจะเร็วที่สุดในโลกแล้ว ยังแพงที่สุดในโลกอีกด้วย และเหนือขึ้นไปก็เป็นอัฒจรรย์ขนาดยักษ์ที่จุคนได้หลายหมึ่นคน ถือเป็นช่วงที่ทั้งคนธรรมดาและมหาเศรษฐีได้มีโอกาสชมการแข่งขันได้ในลู่เดียวกัน เพียงแต่อยู่กันคนละด้าน คือพวกเศรษฐียืนถือแก้วไวน์อยู่บนเรือยอชต์ในน้ำ แต่คนทั่วไปที่ซื้อบัตรผ่านประตูปกติอยู่บนอัฒจรรย์หลังคาเปิดด้านตรงข้าม

พอผ่านช่วงหน้าอ่าวไปจนสุดด้านกว้าง ก็จะเจอจุดเลี้ยวกลับเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่เส้นชัย โดยระหว่างนั้นนักแข่งจะต้องขับผ่านอัฒจรรย์อีกด้านหนึ่งที่สร้างแบบหลังชนกัน แต่ราคาตั๋วถูกกว่าเพราะไม่ได้หันหน้าเข้าหาทะเล

แน่นอน เมื่อเราเห็นกับตาว่าจำนวนผู้ชมในวันแข่งขันตลอดสามวันนั้นมีมากมายขนาดที่หลายคนต้องยอมจ่ายราคาแพงอย่างยิ่ง เพื่อให้ได้ไปนั่งหรือยืนอยู่ในจุดที่เห็นชัดที่สุด ไม่ว่าจะบน Sun Deck ของเรือยอชต์ หรือเฉลียงโรงแรมและอพาร์ตเมนต์เกรดเอ หรือแม้กระทั่งโต๊ะอาหารริมกระจกของภัตตาคารหรูที่สามารถมองเห็นลู่วิ่งได้อย่างชัดเจน

คะเนด้วยตาเปล่าแล้ว ผมคิดว่าฤดูการแข่งรถ Grand Prix ย่อมสร้างเศรษฐกิจให้กับ Monaco ไม่ใช่น้อย แถมเผื่อแผ่ไปยังเมืองใกล้เคียงแถบ Cote d'azur อีกด้วย โดยเฉพาะ NICE และเมืองเล็กเมืองน้อยระหว่าง NICE กับ Monaco อีกทั้งรีสอร์ตและวิลล่าที่งามแต่แพงอย่างยิ่งทั้งหลาย ก็จะถูกจองเต็มในช่วงนั้นล่วงหน้ากันเป็นปีๆ...เป็นแบบนี้มาปีแล้วปีเล่า

มิเพียงเท่านั้น ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านค้า งานอีเวนต์ รวมตลอดถึงบริการเศรษฐีทั้งหลาย ล้วนต้องเพิ่มกำลังพลกันเป็นพิเศษเฉพาะช่วงนี้ ทั้ง เฮลิปคอปเตอร์ (Private Transfers) รถสปอร์ตให้เช่า เครื่องบินเช่าเหมาลำ (Chartered Flight) บริการโชเฟอร์ (Chauffeured Transfers) และ Personal Assistant หรือ Personal Concierge และ Corporate Services ทั้งหลายทั้งปวง

นี่ยังไม่นับค่าขายตั๋วเข้างานตลอด 3 วัน โดยตั๋วระดับแพงที่สุดคือ Weekend Pass to Paddock Club (คือตั๋วที่สามารถผ่านเข้าไปในเขตที่ใช้เตรียมรถแข่งของแต่ละทีม และเข้าไปดื่มกินในคลับของนักแข่งและผู้จัดได้ด้วย) ประมาณ 5,500 ปอนด์สเตอริง และถูกสุดคือเข้า General Admission Zone (เข้าได้เฉพาะบางโซน) ประมาณ 150 ปอนด์ และรายได้ค่าสปอนเซอร์โฆษณาทั้งของทีมนักแข่งและของงาน ซึ่งอาจจะต้องแบ่งกันระหว่างผู้จัด (Formula One Group หรือไม่ก็ Alpha Prema) กับรัฐบาลโมนาโค โดยคนนอกอย่างเราไม่มีทางรู้ได้ว่าสัญญาของพวกเขา "จัดให้" กันยังไง

โดยปกติ การแข่งขันจะแบ่งเป็นสามวันคือวันพฤหัสบดี วันเสาร์ และวันอาทิตย์ โดยสองวันแรกจะเป็นการซ้อมและแข่งย่อย ขบวนแห่และรอบแข่งจริงจะจัดในวันอาทิตย์ (รอบล่าสุดประจำปี 2013 เพิ่งจัดไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23, วันเสาร์ที่ 25 และวันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา) ดังนั้นนักท่องเที่ยวและแฟนๆ ที่มุ่งมาแถบนี้ ก็ต้องพักอยู่ในพื้นที่เป็นเวลาอย่างต่ำ 4 วัน โดยวันศุกร์ ทุกคนจะจัดปาร์ตี้กันสนุกสนาน มีทั้งไพรเวทปาร์ตี้และปาร์ตี้การกุศลต่างๆ มากมาย

งานปาร์ตี้การกุศลอันหนึ่งซึ่งจัดโดย Amber-lounge อีเวนต์เจ้าประจำของ Formula 1 ที่กำลังมาแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะตอนนี้นอกจากที่โมนาโคแล้ว ยังขยายงานปาร์ตี้ของตนไปสู่ดูไบ ออสติน และล่าสุดคือสิงคโปร์อีกด้วย โดยงานแฟชั่นการกุศลที่ว่านี้จัดขึ้นเมื่อ 24 พฤษภาคม ที่โรงแรม Le Meridien Beach Plaza และมีกิจการและหน่วยงานของไทยเราเข้าไปเป็นสปอนเซอร์ถึง 4 รายคือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ในนาม Amazing Thailand) แม่โขง เบียร์ช้าง และกระทิงแดง (ในนาม Red Bull)

รอบนี้เป็นการจัดให้นักแข่งและบรรดา Celeb มาเดินแฟชั่นโชว์เพื่อระดมเงินให้กับ Nelson Mandela Children's Fund โดยงานประเภทนี้จะมีคนสำคัญเข้าร่วมจำนวนมาก ไล่ตั้งแต่เชื้อพระวงศ์ลงมาเลยทีเดียว โดยจำหน่ายตั๋วเข้างานสำหรับโต๊ะ 8 คน (Jeroboam Table) ราคา 15,000 ยูโร

งานปาร์ตี้แบบนี้และปาร์ตี้หลังแข่งทั้งหลายย่อมเป็นอีเวนต์สำคัญซึ่งจะขาดเสียมิได้ เพราะเราจะได้กระทบไหล่กับบุคคลสำคัญ ไล่เรียงมาตั้งแต่สมาชิกราชตระกูลแห่งโมนาโค ผู้จัด ผู้บริหารระดับสูงของกิจการที่เป็นสปอนเซอร์ สื่อมวลชน และบรรดานักแข่ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคนที่ต้องการ Connection และต้องการสานสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจ ตลอดจนแฟนตัวจริงของ Formula 1 จะไม่ยอมพลาดโดยเด็ดขาด

ดังนั้นตั๋วเข้างานจึงสำคัญมาก เพราะมักจะถูกจองเต็มกันล่วงหน้านานๆ

ผมเคยคุยกับคุณวุฒิชัย วรสิงห์ ผู้มีประสบการณ์จัดทัวร์ระดับมหาเศรษฐีมาแล้วทั่วโลก และเป็นผู้ที่มีความรอบรู้กว้างขวางมาก อีกทั้งยังเคยได้รับการทาบทามจากเจ้าชายเรอเน่แห่งโมนาโคให้เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับกิจการสปาไทยในโมนาโคมาแล้วด้วย โดยผมถามคุณวุฒิชัยเกี่ยวกับวิธีการจัดหาบริการ Exclusive ให้กับลูกค้าว่าทำกันยังไง เช่นจะจองที่นั่งในภัตตาคารสำคัญๆ ที่จองยากๆ และต้องจองล่วงหน้ากันหลายปี หรือจองบัตรเข้างานสำคัญๆ ของโลก หรือจองที่นั่งในจุดสำคัญๆ ระหว่างการแข่งขัน Monaco Grand Prix เป็นต้น

คุณวุฒิชัยบอกว่าบางทีเราก็ต้องใช้ Specialist ที่เชี่ยวชาญและคุ้นเคยอยู่กับงานนั้นๆ

ผมมาค้นคว้าภายหลัง จึงทราบว่ากิจการ Specialist ที่เชี่ยวชาญและหากินอยู่กับ Monaco Grand Prix นั้นมีอยู่ไม่กี่ราย ซึ่งเขาเหล่านั้นจะได้รับการติดต่อจากบรรดานายหน้าของมหาเศรษฐีและตัวแทนของกิจการจากทั่วโลก (ทั้งกิจการรับจัดอีเวนต์ระดับหรูหรา บริษัททัวร์ กิจการ Personal Concierge หรือแม้กระทั่ง Private Banker) ที่ต้องการจองที่ทางให้กับเจ้านายหรือลูกค้าคนสำคัญของตน

ตัวอย่างเช่น Halcyon Events ที่เชี่ยวชาญในการจองโต๊ะสำหรับงาน Amber-lounge ปาร์ตี้ในคืนวันอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นปาร์ตี้ที่สำคัญที่สุด ในสนนราคาโต๊ะละ 25,000 ยูโร (สำหรับ 8 ที่นั่ง) และยังสามารถจองที่นั่งดูการแข่งขันตลอดสามวันบนเรือยอชต์ด้วยสนนราคาตั้งแต่ 3,600-6,000 ปอนด์ต่อสามวัน

หรืออย่าง Althaus Yachting ที่สามารถหาเรือยอชต์เช่าเหมาลำแบบนอนได้ 10-12 คน และจัดปาร์ตี้รับแขกได้ในราว 40 คน ตลอด 4 วัน ด้วยสนนราคาประมาณ50,000-70,000 ยูโร เป็นต้น

นอกจากนั้นยังมีเว็บไซต์ต่างๆ จำนวนมากที่เสนอให้บริการแบบ Package สำหรับที่พักพร้อมระเบียงหรือดาดฟ้าในจุดที่วิวงามและเห็นการแข่งขันตลอด 4 วันได้ด้วย โดยสนนราคาต่างกันไปตามความหรูของโรงแรม (บางแห่งก็ไปพักที่ NICE แล้วนั่งคอปเตอร์มา) และจุดนั่งชม คือเริ่มตั้งแต่ประมาณ 5,500 ยูโร ไปจนถึง 8,000 ยูโรต่อคน (ผู้สนใจลองคลิกดู www.vipsaccess.com หรือย่อมเยาว์ลงมาหน่อย www.senategrandprix.com)

คิดเป็นเงินไทยแล้วไม่น้อยเลย!

มิน่าละ รัฐบาลของหลายประเทศจึงอยากให้จัด Formula 1 ขึ้นในประเทศตัวเอง แม้ว่าจะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ผู้จัดมากเพียงใดก็ยอม เพราะนอกจากจะเป็นการนำเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศแล้ว ยังได้แต้มในเชิงโฆษณาประชาสัมพันธ์ จนตารางการแข่ง Formula 1 ปีล่าสุดนี้แน่นเอี้ยดเกือบตลอดทั้งปีแล้ว

ลองไล่ตารางแข่งของปีนี้ดู ตั้งแต่ Rolex Australian Grand Prix (15-17 มีนาคม), Petronas Malaysia Grand Prix (22-24 มีนาคม), UBS Chinese Grand Prix (12-14 เมษายน), Gulf Air Bahrain Grand Prix (19-21 เมษายน), Grand Premio de Espana (10-12 พฤษภาคม), Grand Prix de Monaco (23-26 พฤษภาคม), Grand Prix du Canada (7-9 มิถุนายน), Santander British Grand Prix (28-30 มิถุนายน), Grosser Preis Santander Von Deutschland (5-7 กรกฎาคม), Magyar Nagydij (26-28 กรกฎาคม), Formula 1 Shell Belgian Grand Prix (23-25 สิงหาคม), Grand Premio D'Italia (6-8 กันยายน), Formula 1 Singapore Grand Prix (20-22 กันยายน), Formula 1 Korean Grand Prix (4-6 ตุลาคม), Formula 1 Japanese Grand Prix (11-13 ตุลาคม), Airtel Indian Grand Prix (25-27 ตุลาคม), Etihad Airways Abu Dhabi Grand Prix (1-3 พฤศจิกายน), Formula 1 United States Grand Prix (15-17 พฤศจิกายน), Grande Premio do Brasil (22-24 พฤศจิกายน)

เดี๋ยวนี้แฟนๆ สามารถจองตั๋วผ่านหน้าเว็บของ Formula 1 ได้ทันทีเลย เลือกเอาได้ตั้งแต่แบบถูกจนถึงแบบแพง (ลองคลิก www.formula1.com)

อันที่จริงผู้จัด Formula 1 เขาหากินจนร่ำรวยแล้ว ทั้งค่าธรรมเนียมที่เก็บจากรัฐบาลเจ้าของประเทศ ค่าตั๋ว ค่าโฆษณา ค่าสปอนเซอร์ ของชำร่วย และลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด รวมถึงค่าไลเซนวิดีโอเกมส์ และแว่วมาว่าจะขยายไปสู่เว็บไซต์รับแทงพนันโดยตรงอีกด้วย

ในโลกทุนนิยมสมัยใหม่นั้น "การแข่งขันกีฬา" มีค่าเท่ากับ "การแสดงการแข่งขันกีฬา"

ใช่! Formula 1 เป็น Show ประเภทหนึ่ง และเป็นโชว์ระดับโลกเพราะมีการถ่ายทอดสด

มันเป็น Show ที่ประสบความสำเร็จมาก ไม่ต่างจาก NBL, NFL, หรือ Premier League

เพียงแต่มันเป็น Show ตลาดบน เป็น High-End Market ไม่เหมือนฟุตบอลหรือบาสเก็ตบอล ตลาดหลักของมันจึงเป็น Luxury Market ทั้งในแง่สปอนเซอร์และผู้ชม

แต่มันก็เป็นโชว์ที่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ นำมาซึ่งทรัพย์สินเงินทองจำนวนมหาศาลให้กับผู้จัด ผู้แสดง กรรมการ และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

เรียกว่า "กินแบ่ง" กันถ้วนหน้า ทั้งผู้จัดหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ในการแข่งขัน (ในที่นี้คือ Formula One Group) เจ้าของทีม นักแข่ง สมาคม (Federation International d'Automobile ซึ่งเป็นผู้ออกกฎและคุ้มกฎคล้ายๆ กับ FIFA ในกีฬาฟุตบอล) เจ้าของสนามแข่ง และรัฐบาลประเทศเจ้าภาพ

แน่นอน ผู้ที่รับส่วนแบ่งมากที่สุดคือผู้จัดและเจ้าของทีมและบรรดานักแข่ง เพราะหักเอาจากรายได้หลักโดยตรงคือค่าธรรมเนียมซึ่งรัฐบาลประเทศเจ้าภาพจะต้องจ่าย และค่าตั๋ว และค่าโฆษณาและสปอนเซอร์

ส่วนรัฐบาลเจ้าภาพนั้น จะได้ก็ต่อเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามา และได้ประโยชน์ในเชิงโปรโมทประเทศ โดยกิจการที่หากินรอบๆ Event นี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในมือฝรั่งเพราะเชี่ยวชาญตลาด Luxury อย่างที่ผมได้เล่าไว้ตั้งแต่ต้น โดยใช้ประสบการณ์ของ Monaco Grand Prix เป็นกรณีตัวอย่าง

ว่ากันว่า Profit Sharing ระหว่างผู้จัดฝ่ายหนึ่งกับเจ้าของทีมและนักแข่งอีกฝ่ายหนึ่ง ตกอยู่ในราว 73:27 เมื่อปี 2003 แต่ทว่าล่าสุดฝ่ายทีมและนักแข่งรวมตัวกันต่อรองยื่นคำขาดจนสามารถเซ็นสัญญาใหม่ที่จะมีผลจนถึงปี 2020 โดยพลิกกลับส่วนแบ่งผลประโยชน์เป็น 37:63

นั่นจึงทำให้ผู้จัดต้องหันมาขึ้นค่าธรรมเนียมเอากับรัฐบาลประเทศเจ้าภาพที่ต้องการดึงเอา Event นี้มาจัดกันในประเทศตัว ซึ่งกำลังเป็นกระแสที่ฮิตในหมู่ประเทศเศรษฐีใหม่

หนังสือพิมพ์ The Economist ให้ข้อมูลว่ารัฐบาลสิงคโปร์และอินเดีย ต้องจ่ายค่า Fee สูงกว่าพวกดั้งเดิมอย่างโมนาโนถึง 2.5 เท่าตัว (“Flagged Down: Can Formula One Succeed Without Bernie Ecclestone”, July 28th 2012.)

หนังสือพิมพ์ดังกล่าวนั้น ยังให้ข้อมูลอีกว่าเมื่อ 7 ปีก่อน Bernie Ecclestone เจ้าของผู้ก่อตั้งและตำนานของ Formula 1ได้ขายหุ้น 21% ของตนให้กับ CVC Capital Partners ซึ่งเป็นกองทุน Private Equity Fund และตอนแรก CVC ตั้งใจจะนำ Formula 1 เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ แต่มีบรรดากองทุนมาขอซื้อต่อเสียก่อนเมื่อกลางปีที่แล้ว โดยให้ราคา 1.6 พันล้านเหรียญฯ คิดเป็นกำไรถึง 300%

ที่เล่าเรื่องนี้ เพราะผมคิดว่าเจ้าของเขากำลัง "เก็บเกี่ยว" และคิดว่า Formula 1 อาจจะอยู่ในช่วงระสำ่ ขนาดอายุอานามปาเข้าไปถึง 82 แล้ว แต่ก็ยังวางมือไม่ได้ เพราะคงหาคนแทนลำบาก เนื่องจากบารมีต่อทีมนักแข่ง และบรรดาสปอนเซอร์ทั้งหลาย

และเหตุผลหลักที่ผมลงมือเขียนบทความนี้เพราะผมอยากปูพื้นฐานให้ท่านผู้อ่านทราบถึงบรรยากาศในเชิงผลประโยชน์ของ Event ดังกล่าว เพราะรัฐบาลไทยโดยกระทรวงกีฬาและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประกาศแล้วว่าจะจัดแข่งขัน Formula 1 ขึ้นที่กรุงเทพฯ ในอีกสองปีข้างหน้า ด้วยงบประมาณถึง 1,200 ล้านบาท

ตอนแรกวางเส้นทางแข่งขันไว้รอบเกาะรัตนโกสินทรระยะทาง 6.46 ก.ม. (ลองดูภาพกราฟฟิกของ ททท. ได้ที่ www.youtube.com/watch?v=IAuC8vPqVuk) แต่ตอนนี้ดูเหมือนจะมีแรงต้านแยะ และ กทม. ก็เพิ่งจะลงมติไม่ให้ใช้เส้นทางดังกล่าวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา

ผมเห็นด้วยกับฝ่ายต่อต้านเรื่องนี้

มีอย่างที่ไหนจะใช้สนามหลวงเป็น Paddock โดย Start/Finnish กันหน้าศาลฏีกาแล้วขับผ่านวัดพระแก้ว อ้อมพระบรมมหาราชวัง วกกลับท่าเตียน ท่าช้าง ธรรมศาสตร์ วังหน้า ท่าพระอาทิตย์ เลี้ยวที่ป้อมพระสุเมรุ ผ่านวัดบวร วกกลับที่ผ่านฟ้าหน้าโลหะปราสาท เข้าราชดำเนิน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วเลี้ยวเข้าสนามหลวง...

มันจะแสดงโชว์กันแบบเสียงดังๆ และเสี่ยงอันตราย โดยต้องปิดถนนถึง 4 วัน 4 คืน ณ ใจกลางสำคัญของประเทศกันเลยเหรอ?

มันจำเป็นและสำคัญขนาดนั้นเชียวหรือ!

ผมว่าคนลอนดอนคงจะไม่ยอมเหมือนกัน ถ้าเกิดจะไปทำจุด Start กันที่ The Mall โดยตั้ง Paddock และอัฒจรรย์ที่ Green Park หรือ St.James Park ผ่านอนุสาวรีย์ Nelson แล้วหักเลี้ยวตรง Charing Cross หักเข้า Whitehall ผ่านบ้านเลขที่ 10 แล้วหักเลี้ยวกลับหน้า Big Ben ผ่านวัด Westminster แล้วค่อยวกกลับหน้าสถานี Victoria เลาะเข้าข้างพระราชวัง Buckingham เพื่อทะลุออกมาหาจุด Finnish ที่ The Mall

และมันคงนอกเหนือจินตนาการของคนอเมริกันไปมาก หากจะไปทำจุด Start กันที่ Constitution Avenue ข้างๆ Lincoln Memorial แล้วสร้างอัฒจรรย์ขนาบไปจนถึง Smithsonian และแปลง National Mall เป็น Paddock โดยออกสตาร์ทผ่านทำเนียบขาว แล้วขับอ้อม Capitol Hill วกกลับหน้า Lincoln Park เข้าถนน East Capitol แล้วเข้าทางตรงเพื่อเร่งความเร็วสุดขีดที่ถนน Independence Avenue แล้วค่อยวกกลับที่ Lincoln Memorial เพื่อเริ่มรอบใหม่....หรือจะต่อไปอีกนิดเพื่อให้มันตื่นเต้นกว่าเดิมและไม่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเกินไป ด้วยการขับข้ามแม่น้ำบน Arlington Memorial Bridge ผ่านสุสานทหารกล้า หรือจะให้หักเข้าถนนเลียบแม่น้ำ แล้วค่อยวกกลับ โดยจัดให้อ้อม Pentagon สักรอบหนึ่งก่อน แล้วค่อยข้ามสะพานกลับมายังจุด Start...

โอ้วมายก๊อด!

ผมไม่อยากจะให้ความเห็นว่ามันควรจะไปแข่งกันที่ดอยอินทนนท์หรือเขาใหญ่หรือภูเก็ตถ้าต้องการโชว์ที่มัน Exotic เพราะอาจจะไปกระทบใจคนที่นั่นเข้าเหมือนกัน

ทางที่ดี น่าจะแข่งกันในสนาม

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกรกฎาคม 2556