วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554

ความคิดสร้างสรรค์ที่แอบซ่อนอยู่


Ernest Hemingway บอกเคล็ดลับการเขียนงานวรรณกรรมของเขาไว้ใน By Line ว่าควรเขียนต้นฉบับด้วยดินสอลงบนกระดาษ เพื่อให้โอกาสตัวเองได้แก้ไขขัดเกลาถึงสามครั้งด้วยกัน


เขากล่าวว่า “เมื่อท่านลงมือเขียนนั้นท่านมีความคิดต่างๆ นานาไหลพล่านอยู่เต็มหัวในขณะที่คนที่ลงมือจับเรื่องของท่านขึ้นมาอ่านนั้นเขายังไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นอะไร, ดังนั้นในการจะไล่ความคิดของท่านให้ทันนั้นท่านจะใช้พิมพ์ดีดก็ได้เพราะว่ามันสะดวกดีด้วยประการทั้งปวง. หลังจากที่ท่านรู้แน่แล้วว่าเรื่องที่ท่านเขียนนั้นจะเป็นไปในแนวใดเรียบร้อยแล้วท่านก็จำเป็นต้องถ่ายทอดทุกสิ่งทุกอย่าง, อารมณ์, ภาพ, ความรู้สึก, สถานที่และความสะเทือนใจไปถึงคนอ่าน. การจะทำเช่นนั้นได้นั่นหมายความว่าท่านต้องอ่านทวนและแก้ไขสิ่งที่ท่านได้เขียนลงไปก่อนหน้านั้นแล้ว. ถ้าหากว่าท่านเขียนด้วยดินสอท่านก็มีโอกาสแก้ไขถึงสามครั้งด้วยกันเพื่อที่ท่านจะได้แน่ใจว่าคนอ่านจะได้รับในสิ่งที่ท่านต้องการให้เขาได้รับ. ครั้งแรกคือเมื่อท่านอ่านจากลายมือเขียนของท่านเอง; ต่อมาอีกก็คือเมื่อต้นฉบับได้รับการพิมพ์ดีด และอีกครั้งหนึ่งในการพิสูจน์อักษร. นั่นคือ .333 แห่งโอกาสอันดีเหลือหลาย. นอกจากนั้นต้นฉบับยังได้มีโอกาสอยู่กับท่านได้นานมากขึ้นซึ่งท่านจะได้ทำให้มันดีขึ้นได้ง่ายขึ้น.” (สำนวนแปลของ เชน จรัสเวียง, คัดจาก “เออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ ว่าด้วยการเขียน”, สำนักพิมพ์ปาปิรัส หน้า 72)


นับแต่เขาตายลง ต้นฉบับลายมือเขียน (และฉบับดีดพิมพ์) ของเฮมมิงเวย์ได้รับความสนใจศึกษาอย่างวิเคราะห์เจาะลึก จากนักเขียน นักข่าว และนักวิชาการในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ทั้งยังเป็นของสะสมราคาแพงอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นฉบับที่มีการแก้ไข ขีดฆ่า ตัดต่อ โยงใยลูกศร แทรกเครื่องหมายปีกกา หรือขีดเส้นใต้ ทำตำหนิ แล้วเขียนใหม่ หรือขีดเขียนเพิ่มเติมไว้เหนือบรรทัด ใต้บรรทัด และทำความเห็นไว้ตามที่ว่างข้างๆ ซ้ายขวา ยิ่งจะได้รับความสนใจจากพิพิธภัณฑ์และนักสะสมชั้นนำของโลกมากขึ้นเป็นเงาตามตัว


มิเพียงแต่ของเฮมมิงเวย์เท่านั้น ต้นฉบับงานศิลปะทุกแขนงของศิลปินเอกอุ ล้วนทะลุเพดานอย่างยากที่คนทั่วไปจะเอื้อมถึง เหล่านี้ล้วนกลายเป็นอาหารอันโอชะของพวก Banker หรือชีค หรือรัสเซียนไทคูน หรือมหาเศรษฐีนักสะสม หรือไม่ก็พิพิธภัณฑ์สำคัญของโลก


แม้แต่เศษเสี้ยวของงานต้นฉบับก็แย่งกันยังกะอะไร!


ตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ดันมีลายมือของ Beethoven โผล่มาให้ประมูลกันผ่าน Sotheby’s London คือเป็นเศษกระดาษแผ่นเล็กๆ กว้างยาวแค่ 5x6.7 ซ.ม. เขียนโน้ตไว้ห้องเดียว แล้วขีดแก้ไขเปรอะไป นัยว่าเป็นงานศึกษาส่วนตัวก่อนเขียนเพลงใหญ่ เพียงแค่นี้ก็ประมูลกันไปตั้ง 8,750 ปอนด์ (เมื่อมิถุนายนปีที่แล้ว) เป็นต้น


เมื่อปี 2546 ก็มีคนประมูลต้นฉบับเพลง Symphony No.9 ไปในราคา 2.13 ล้านปอนด์ อันนั้นมีลายมือของเบโธเฟ่นสั่งให้แก้ไขโน้ตเพลงหลายต่อหลายตอน เช่นให้เปลี่ยนจังหวะเพลงตอนท่อนสุดท้ายให้เร็วขึ้นจาก presto มาเป็น prestissimo แล้วยังเขียนวิจารณ์อาลักษณ์ผู้ลอกต้นฉบับว่า “du verfluchter Kerl” เป็นต้น (ถ้าจะแปลให้มันเถื่อนๆ หน่อยก็อาจจะได้ใจความว่า “ไอ้เกลอเ...ี้ย” หรือ “ไอ้เ...ี้ยเกลอ” นั่นแหละ)


ยิ่งต้นฉบับของศิลปินเอกอุคนแรกที่เคยเป็นสมบัติหรืออยู่ในครอบครองของศิลปินเอกอุคนต่อมา แล้วค่อยตกทอดมาสู่ลูกหลานในปัจจุบัน ยิ่งมีผู้บุญหนักศักดิ์ใหญ่เสาะหากันนัก และพร้อมที่จะเข้าแย่งชิง ประกวดประขัน ด้วยวงเงินจำนวนไม่อั้น เพื่อให้ได้มาครอบครอง


ตัวอย่างคือต้นฉบับงานนิพนธ์เพลงของ Bach ที่เคยเป็นของ Mahler มาก่อน โดย Mahler ได้ขีดเขียน วิพากษ์วิจารณ์ และ Rearrange ใหม่นั้น ปัจจุบันได้ตกไปอยู่ในมือของ Sir Ralph Kohn มหาเศรษฐีเจ้าของกิจการยายักษ์ใหญ่เสียแล้ว


Blogger เคยดูหนังอาร์ตเรื่องหนึ่งนานมาแล้ว ท้องเรื่องว่าด้วยการวิเคราะห์ภาพเขียนนามระบือ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ สแกนให้รู้ว่ากว่าจะมาเป็นงานที่เราเห็นเนี่ย ศิลปินผู้วาดได้ขีดเขียนอะไรไว้บ้างขณะวาดภาพนั้น มีการแก้ไข ลบแล้วเขียนใหม่ช่วงไหนบ้าง ขีดฆ่า หรือหันเหไปทางอื่นก่อนจะมาจบทางนี้หรือไม่อย่างไร


นับเป็นการมองทะลุเวลากลับไปอ่านใจศิลปินเอกอุเจ้าของภาพวาดเหล่านั้น ว่าท่านคิดอะไร เริ่มงานชิ้นนั้นยังไง วาดตรงไหนก่อน ลงสีไหนก่อนหลัง หรือทำไปแล้วติดอะไร ทดลองเทคนิคอะไรหรือไม่ และเปลี่ยนความคิดไปมากี่รอบ ก่อนจะมาลงตัวอย่างที่เห็น


การยลงานศิลป์แนวนี้ก็มันส์ไปอีกแบบ!


ถือเป็นการเสพงานศิลปะแบบเจาะลึกถึงความคิดเบื้องหลังตั้งเค้า และคิดลึกถึงสองชั้นสามชั้น เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบงานท้าทาย หรือต้องการแสวงหาแรงบันดาลใจ หาบ่อน้ำแห่งปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ เอาไว้ตักกินตักอาบ ชะโลมใจชะโลมปัญญา กอบโกยเอาจากขุมทรัพย์ของอดีตนักสร้างสรรค์ตัวกลั่น


ว่ากันว่า J.P. Morgan สมัยเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ก็ชอบเสพงานศิลปะแนวนี้ และได้สะสมงานต้นฉบับไว้มากมาย ทัั้งต้นฉบับโน้ตเพลงและงานวรรณกรรม หนังสือหายากและภาพเขียน รวมถึงบันทึกประจำวันของศิลปินและผู้มีชื่อเสียงจำนวนมาก จนเมื่อเขาตายลง ลูกหลานจึงนำเอาของสะสมเหล่านั้นมาเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากัน

ระยะนี้ The Morgan Library & Museum กำลังเปิดแสดงงานทางอินเทอร์เน็ตให้พวกเราได้ยลผลงานต้นฉบับเหล่านั้น ทั้งคอลเล็กชั่น Diary และต้นฉบับงานนิพนธ์เพลง ซึ่งรวบรวมมาได้กว่า 900 ชิ้น และมากกว่า 42,000 หน้า ล้วนเป็นของศิลปินเอกอุ ไล่เรียงมาตั้งแต่ J. S. Bach, Beethoven, Brahms, Chopin, Debussy, Fauré, Haydn, Liszt, Mahler, Massenet, Mendelssohn, Mozart, Puccini, Schubert, จนถึง Schumann


ส่วนต้นฉบับงานนิพนธ์วรรณกรรมและไดอารี่ของคนดังก็มีเด่นๆ อย่างบางหน้าของ Ulyses ของ James Joyce และบันทึกประจำวันของ Charlotte Brontë, Henry David Thoreau, Tennessee William, Anaïs Nin, William S. Burroughs, John Ruskin, Sir Walter Scott, และ John Steinbeck, หรือแม้กระทั่งบันทึกการเดินทางของ Albert Einstein ซึ่งเต็มไปด้วยสูตรคณิตศาสตร์ เป็นต้น


Blogger ได้อะไรไม่น้อยเลย จากนิทรรศการนี้


เชิญผู้สนใจที่ www.themorgan.org


ได้ความคิดใหม่อะไร ก็เขียนมาคุยกันมั่งนะครับ


(รูปประกอบเป็นต้นฉบับลายมือของ Beethoven เพลง Violin and Piano Sonata, op. 96 in G major, จาก www.themorgan.org)

บทความนี้เขียนโดยทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว ด้วยนามปากกา Blogger ประจำคอลัมน์แนะนำ Blog ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมีนาคม 2554

วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2554

TD-124 ตำนานโต๊ะหมุน

Thorens Reference
(ภาพจากอินเทอร์เน็ต)












แผ่นเสียงกับ Modern Lifestyle

เดี๋ยวนี้ ทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า หันมาเล่นแผ่นเสียงกันมากขึ้น เพราะยิ่งเทคโนโลยีซับซ้อน ก้าวหน้าไปเพียงไร คนก็ยิ่งโหยหาความเรียบง่าย เพื่อกลับไปหารากเหง้ากันมากขึ้น เป็นเงาตามตัว

ยิ่งเทคโนโลยีดิจิตอลถูกนำมารับใช้ระบบการผลิตแบบ Mass Production มากเท่าใด ผู้คนที่ถือตัวว่ามีรสนิยมวิไล ก็ยิ่งหันไปแสวงหาผลิตภัณฑ์ Analog เพื่ออวดความวิเศษที่สามารถแสดงอัตลักษณ์เฉพาะตัวแบบ “ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร“ มากยิ่งขึ้น เป็นเงาตามตัว

ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ดิจิตอลกลายเป็น “ของโหล” ที่นับวันจะถูกลงเรื่อยๆ ทว่า ผลิตภัณฑ์อนาล็อกกลับกลายเป็น “ของหายาก” ที่ระดับราคาสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

นั่นแหละ ตรรกะของกิเลสมนุษย์ยุคนี้!

การกลับไปหาแผ่นเสียง ก็เกิดขึ้นจากกิเลสแบบนั้น

การเล่นแผ่นเสียงได้กลายเป็น “Trend” ของการบริโภคและการใช้ชีวิตสมัยใหม่ไปเสียแล้ว เดี๋ยวนี้ ถ้าใครเปิดนิตยสารแฟชั่น หรือนิตยสารตกแต่งบ้านประเภท “เทรนดี้” ทั้งหลาย ก็จะพบบทสัมภาษณ์ดารา และภาพถ่ายบ้านหรือคอนโดของคนมีชื่อเสียงจำนวนมากที่หันกลับไปฟังแผ่นเสียง

คอลเล็กชั่นแผ่นเสียง เริ่มกลับมาเคียงคู่กับคอลเล็กชั่นหนังสือหรือซีดีบนหิ้งอีกครา ในขณะที่ร้านขายแผ่นเสียงทั้งมือหนึ่ง มือสอง มือสาม ตลอดจน Website ขายแผ่นเสียง กลับมาคึกคักอีกครั้ง ราคาแผ่นเสียงเก่าบางแผ่น ขายกันเป็นหลักหมื่นก็ยังมีคนซื้อ

“เมื่อสี่ห้าปีก่อน แผ่นเสียงแทบไม่มีราคา ร่อนกันเล่นเป็นจานบิน ยังไม่มีใครสนใจเลย” พ่อค้าเครื่องเสียงผู้คร่ำหวอดมาตลอดชีวิตกล่าวกับผม

แน่นอน ตลาดเครื่องเล่นจานเสียง หรือ Turntable ก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งแท่น โทนอาร์ม และหัวเข็ม ที่เริ่มมีให้เลือกอย่างหลากหลาย ตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหลายแสนบาท

หนังสือเครื่องเสียงทุกเล่ม ต้องมี Section ประจำ ไว้สำหรับ ผู้รักแผ่นเสียง ทั้งโดยการแนะนำเครื่องเล่นจานเสียงรุ่นต่างๆ ตลอดจน “เครื่องเคียง” ที่มีตั้งแต่ หัวเข็มชนิดต่างๆ, โทนอาร์ม, (Tonearm), เครื่องขยายเสียงเฉพาะสำหรับเครื่องเล่นจานเสียง (Phono Stage), สายสัญญาณต่อเชื่อมระบบแผ่นเสียง ไปจนถึงบทวิจารณ์แผ่นเสียงออกใหม่ที่เริ่มมีให้เลือกมากในแต่ละเดือน

Made in Switzerland

Thorens เป็นผู้ผลิตเครื่องเล่นจานเสียงที่นักเล่นทุกรุ่น ไม่ว่าหนุ่มหรือแก่ รู้จักกันดี ชื่อ Thorens เป็นชื่อสามัญประจำบ้านของวงการเครื่องเล่นจานเสียง เหมือนดัง “บรีส” กับผงซักฟอกนั่นแหละ

ตลอดระยะเวลา 123 ปี ที่ผ่านมา Thorens ผลิตเครื่องเล่นจานเสียงมามากมายหลายรุ่น แต่รุ่นที่เปรียบเสมือน “กล่องดวงใจ” และมีนักสะสมจำนวนมากแสวงหาเพื่อให้ได้มาครอบครอง ก็คือรุ่น “TD-124” ซึ่งถือเป็น Top-of-the-line ของ Thorens.

Thorens TD-224 เปลี่ยนแผ่นได้อัตโนมัติ ข้างในเป็น Machanic ล้วน ไม่มีชิปสักตัว แสดงถึงความก้าวหน้าทางวิศวกรรมในขณะนั้น










อันที่จริง Thorens เคยผลิตเครื่องเล่นรุ่นพิเศษแบบจำกัดจำนวนที่เรียกว่ารุ่น Reference แต่รุ่นนั้น เดี๋ยวนี้ราคาในตลาดโลกได้ถีบตัวขึ้นไปเป็นล้านแล้ว และเมืองไทยเองเท่าที่ได้ข้อมูลจากอดีตผู้นำเข้ารายสำคัญก็ทราบว่าเคยมีผู้สั่งเข้ามาเพียง 2 เครื่องเท่านั้นเอง โดยที่เครื่องหนึ่งอาจถูกซื้อเก็บโดยนักสะสมชาวญี่ปุ่น และได้นำออกนอกประเทศไปแล้ว คงเหลืออยู่ในมือนักสะสมไทยเพียงเครื่องเดียวเท่านั้นเอง

ผมจะไม่ขอกล่าวถึงรุ่น Limited Edition ดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องสุดเอื้อมสำหรับคนส่วนใหญ่ และใช่ว่ามีเงิน ก็จะสามารถหามาครอบครองได้ ซะเมื่อไหร่

ตำนานของ Thorens เริ่มที่เมือง St.Croix ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 1883 โดย Hermann Thorens ผู้ก่อตั้ง แรกทีเดียว Thorens ผลิตหีบเพลงปาก (Harmonica) ไฟแช็ก และมีดโกน จนขยายใหญ่โต ว่ากันว่า ในปี 1929 นั้น Thorens จ้างพนักงานกว่า 1,200 คนเลยทีเดียว

และเมื่อปี 1929 นี่เองที่ Thorens เริ่มผลิตเครื่องเล่นจานเสียงโดยใช้มอเตอร์ขับ ที่เรียกว่า Direct-drive Motor (ซึ่งเป็นระบบที่ Thorens จดสิทธิบัตรไว้ในตอนนั้น) นอกจากนั้น Thorens ยังผลิตเครื่องรับวิทยุอีกด้วย

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง Thorens ออกเครื่องเล่นแผ่นเสียงสำหรับใช้งานในบ้านมาหลายรุ่น เช่น CD30, CD50, และ CD43 แต่มายกระดับคุณภาพของเครื่องเล่นให้ขึ้นสู่ระดับ Hi-end จริงๆ ในปี 1957 เมื่อรุ่น TD124 ออกสู่ตลาด โดยมีเป้าหมายที่นักฟังเพลงระดับเศรษฐีทั้งหลายทั่วโลก

TD-124 Mark I ติดอาร์ม SME 3012R ของผู้เขียน










TD124 ยุคแรกออกขายเฉพาะแท่นเครื่อง โดยผู้ซื้อสามารถเลือกติดตั้ง Tonearm (ก้านแขน) ตามใจชอบ และนี่เองที่นักสะสมยุคนี้มักเห็น TD124 รุ่นเก่านั้น มาพร้อมกับ Tonearm หลากหลายยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็น SME, Ortofon, Empire, FR-64, Shure, หรือแม้แต่ Rek-O-Kut ก็มี จนปี 1958 ที่เริ่มมีการบันทึกเสียงในระบบสเตริโอ Thorens จึงเริ่มผลิต Tonearm ของตัวเอง คือรุ่น BTD-12 ซึ่งถือเป็น Tonearm คุณภาพสูง หายาก และราคาแพงมากในปัจจุบัน เพราะเป็นที่หมายปองของนักสะสมทุกระดับชั้น

TD124 ประสบความสำเร็จมาก และกลายเป็น Turntable ที่ได้รับความนิยมตั้งแต่เริ่มแรก คู่แข่งของ Thorens ในตอนนั้นคือ Garrard ที่มีรุ่น 301 เป็นธงนำ และเมื่อ Garrand ปรับโฉมรุ่นธงนำเพื่อออกเป็นรุ่น401 ตอนปี 1964 Thorens ก็ปรับโฉม 124 บ้างในอีกสองปีต่อมา โดยเรียกรุ่นที่ปรับโฉมใหม่ในครั้งนั้นว่า“TD 124 Mk II”

รุ่น Mark II เปลี่ยนดีไซน์ให้ดูทันสมัยขึ้น จากแท่นสีครีมของรุ่นเก่า มาเป็นสีเทาอ่อน และปุ่มปรับความเร็วรอบก็ถูกเปลี่ยนใหม่

TD 124 เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ผสมผสานจุดแข็งของระบบ Idler Drive กับระบบ Belt Drive เข้าด้วยกัน คือใช้มอเตอร์กำลังสูงติดลูกล้อทดแรงหมุนจานและสายพานล่าง เพื่อไปหมุนลูกล้อบน ที่เป็นลูกล้อทดแรงเสียดสีกับขอบล้อของ Platter ยักษ์ (แท่นวางแผ่น) น้ำหนัก 4.5 กิโลกรัม อีกทอดหนึ่ง โดยใช้เพลาหมุนขนาด 14 มิลิเมตร หมุนบนลูกปืนโลหะชนิดพิเศษเป็นแกนกลาง ระบบนี้ ปัจจุบันไม่นิยมผลิตแล้ว (เครื่องเล่นรุ่นปัจจุบันนิยมใช้ระบบมอเตอร์ไปหมุนสายพานที่หมุน Platter โดยตรง เรียกว่าระบบ Belt Drive) แต่จุดนี้แหละ ที่เป็นจุดแข็งของ TD124 ที่นักสะสมรุ่นปัจจุบันแสวงหากันนัก เนื่องเพราะมอเตอร์ของ TD124 มีความทนทานและเที่ยงตรงมาก และ Platter ก็แข็งแรง รับแรงเหวี่ยงได้ดี ประกอบกับเพลาและลูกปืนก็ทนทานง่ายแก่การบำรุงรักษา แม้เวลาจะผ่านไปเกือบ 50 ปีแล้ว เครื่องส่วนใหญ่ยังเล่นได้คุณภาพเสียงที่ไม่แพ้เครื่องเล่นรุ่นใหม่ในระดับราคาเป็นแสน สมกับคำร่ำลือว่าชาวสวิตนั้นเชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องจักรที่มีความเที่ยงตรงเป็นเลิศ

ไม่เชื่อก็ดูนาฬิกาที่ชาวสวิตผลิตนั่นปะไร ราคาเรือนละหลายๆ ล้าน คนก็ยังนิยมซื้อ!

ความเที่ยงตรง สม่ำเสมอ และความมั่นคง เป็นหัวใจสำคัญของเครื่องเล่นแผ่นเสียง เพราะความเร็วที่คงที่และรากฐานที่มั่นคง ไม่หวั่นไหวต่อแรงสั่นสะเทือน มีผลต่อคุณภาพเสียงที่ขับผ่านหัวเข็มออกมา

TD124 สามารถปรับความเร็วได้ถึง 4 ระดับ คือ 16 2/3, 33 1/3, 45, 78 รอบต่อนาที โดยใช้ระบบ Magnetic Break ตรวจความถูกต้องได้โดยมองผ่าน Stroboscope ที่ฉาบทาไว้บนขอบนอกของจานหมุน และใช้หลอดนีออนจิ๋วส่องผ่านกระจกสะท้อนให้ผู้เล่นเห็นได้ นับเป็นเทคโนโลยีใหม่มากในสมัยนั้น ที่อนุญาติให้ผู้เล่นสามารถปรับความเร็วด้วยมือได้อย่างแม่นยำ (ข้อมูลในคู่มือของ TD124 อ้างว่าระดับความเพี้ยนเมื่ออุ่นเครื่องไปแล้วประมาณ 10 นาที มีเพียง 1% เท่านั้น)

จุดแข็งอีกอย่างของ TD124 คือการแยกแผ่นติดตั้ง Arm หรือ Armboard ให้เป็นเอกเทศต่างหากออกไปจากแท่นเครื่อง ซึ่งช่วยลดความสั่นสะเทือนที่หัวเข็มอาจได้รับจากการหมุนของมอเตอร์ นั่นแสดงให้เห็นว่าวิศวกรผู้ออกแบบ มีความใส่ใจต่อรายละเอียดสูงมาก แม้เพียงน้อยนิดก็ยอมไม่ได้

TD-124 Mark II ติดอาร์ม Ortofon 212











ความสำเร็จของ TD124 ทำให้ Thorens ออกเครื่องเล่นรุ่นต่อมาอีกหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น TD184 (1958), TD134 (1959) เพื่อจับตลาดระดับกลาง และ TD135 (1961), TD135 MkII, TD121 (1962) ที่พยายามจำลองจาก TD124 แต่ลดความซับซ้อนลง เพื่อให้ต้นทุนผลิตต่ำสำหรับคนทั่วไป แต่ก็ประสบความล้มเหลว นอกจากนั้นยังมี TD224 ที่เปลี่ยนแผ่นได้มากถึง 6 แผ่นโดยอัตโนมัติ

Thorens ก็เหมือนกับบริษัทเครื่องเสียง Hi-end ของฝรั่งทั้งหลาย ที่เริ่มประสบความยุ่งยากเมื่อผู้ผลิตญี่ปุ่นเริ่มเข้าตีตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดในระดับ Mass

Thorens ปรับตัวโดยรวมกิจการกับ Paillard ผู้ผลิตกล้อง Bolex แต่ความสัมพันธ์อันดีก็กลายเป็นขมในเวลาไม่นานนัก Thorens ต้องย้ายฐานการผลิตไปเยอรมัน เพื่อให้ต้นทุนถูกลง และเข้าร่วมกับ EMT กลายเป็นบริษัท Thorens-Franz AG. หลังจากนั้นจึงร่วมกันออกแบบรุ่น TD150 (1965) และ TD150 AB หลังจากนั้นจึงออกรุ่น TD125 (1969) ซึ่งเป็นอีกรุ่นหนึ่งที่นักสะสมตามหากันมาก

ความสำเร็จของ TD125 ทำให้เกิด TD125 Mk II ตามมาในปี 1972 แต่เนื่องจาก TD125 และ TD125 Mk II เป็นเครื่องราคาแพง (แพงกว่า Garrard 401 คู่แข่งสำคัญเกือบเท่าตัว) Thorens จึงออกรุ่นถูกลงคือ TD165 และ TD166 ในปีเดียวกันนั้นเอง

นักเล่นเครื่องเสียงส่วนใหญ่ ถือเอาช่วงปี 1972-1974 เป็นจุดสูงสุดของ Thorens เพราะหลังจากที่ตัดสินใจออกรุ่น TD126 มาแทน TD125 Mk II ในปี 1974 Thorens ก็เริ่มเสื่อม แม้จะออก TD126 Mk II และ Mk III ตามมาอีกก็ตาม

จุดพลิกผันอยู่ที่การเข้าตีตลาดเพลงโดยซีดีและเครื่องเล่นซีดี (CD) ในปี 1982 ทำให้ตลาดแผ่นเสียงและเครื่องเล่นแผ่นเสียงหดตัวลงแทบจะทันที คงเหลือแต่ตลาดบนในระดับราคาแพงเท่านั้น ที่ยังหลงเหลือ Pocket Demand อยู่

Thorens เอง ก็หนีไม่พ้นชะตากรรมดังกล่าว จนต้องล้มลุกคลุกคลาน และถูกซื้อโดยนักลงทุนเยอรมันไปในที่สุด ปัจจุบัน Thorens Audio HiFi-Vetriebs-GmbH ยังคงผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงยี่ห้อ Thorens อยู่ เพียงแต่เปลี่ยนตลาดจากที่เคยอยู่ในระดับ Hi-end ลงมาสู่ตลาดระดับ Mass

และด้วยกระแสของความนิยมแผ่นเสียงที่กลับมาอีกครั้ง Thorens ก็ได้เปิด Lab สำหรับซ่อม จำหน่ายอะไหล่ และสร้าง (Restoration) เครื่องเก่า ขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีนี้ ทำให้ตลาดเครื่องเล่นจานเสียง Thorens รุ่นเก่าสำหรับนักสะสม เริ่มคึกคัก และกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

แน่นอน ราคาย่อมถีบตัวตามไปด้วยเป็นเงาตามตัว

สำหรับเมืองไทยนั้น กระแสโหยหาอดีตและนิยมบริโภคอดีต ก็เริ่มดันราคาแผ่นเสียงเก่า และเครื่องเสียงคุณภาพรุ่นเก่าๆ บางยี่ห้อ อย่าง Marantz, McIntosh หรือ Mark Levinson ไปไต่ระดับที่คนส่วนใหญ่ยากจะสัมผัสได้ และแน่นอน TD124 ก็ย่อมจะหนีไม่พ้นสัจธรรมแห่ง Demand-Supply ดังว่า ในเร็ววันนี้

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Corporate Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2547 และอีกครั้งในนิตยสาร Audiophile ประมาณสามปีหลังจากนั้น

ดาวินชีที่ปลายนิ้ว





















สมัยโน้นตั้งใจมากว่าจะไป Uffizi แต่พอไปถึงปากทาง ก็พบว่าพิพิธภัณฑ์ถูกสั่งปิดเพราะไฟเพิ่งจะไหม้ไปหยกๆ น่าเสียดาย และฝังใจว่าสักวันต้องกลับไปดูผลงานเก่าแก่ด้วยตาตัวเองให้ได้สักครั้ง


อีกหลายปีต่อมา Blogger ได้ศึกษาเรื่องราวของ Judith ในพระคัมภีร์พันธะสัญญาเดิม ก็อยากจะเห็นภาพเขียน Judith and Holofernes เวอร์ชั่นของ Artemicia Gentileschi เพราะว่ากันว่า มันชวนขนพองสยองเกล้าอย่างมาก แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่มีโอกาสกลับไป Uffizi อีกเลย แม้จะมีกิจให้ผ่านไปแถวทัสคานีหลายครั้งหลายครา


จนเมื่อสองปีกว่ามานี้เอง ที่ Blogger มีวันเวลาเว้นว่างจากการงาน เลยมีโอกาสเดินทางไปดูผลงานของ Tulouse-Lautrec ที่บรัสเซล ปารีส และอัลบิ ก็เผอิญได้ยลรูปปั้นของ Judith ซึ่งปั้นมาราวปลายยุคกลางที่มหาวิหารกลางเมืองนั้น แล้วเลยนึกขึ้นได้ จึงเดินทางต่อไปยังฟลอเรนซ์และได้ดูภาพสยองสมใจ


ที่ท้าวความมายาว เพราะอยากให้รู้สึกถึงความยากลำบาก ในแง่โอกาสของคนสมัยก่อนเทียบกับคนสมัยนี้ ในเชิงของการเสพงานศิลป์


ไม่ต้องย้อนไปไกลก็ได้ เอาแค่สมัย "ก่อนอินเทอร์เน็ต" กับสมัย "หลังอินเทอร์เน็ต" แค่นี้ก็ต่างกันลิบลับ เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็หาดูภาพเขียนและชิ้นงานศิลปะที่สมัยก่อนหาดูยากมากได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต เพียงคลิกไม่กี่ครั้ง แม้แต่งานที่อยู่ใน Private Collection ประเภทสมบัติส่วนตัวของใครหรือองค์กรใดที่มิได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม ก็ยังหาดูได้บนอินเทอร์เน็ต เพราะเจ้าของใจกว้าง ยอมถ่ายรูปหรือสแกนรูปมาให้ชมกัน ยกตัวอย่างมหาเศรษฐี Bill Gates ที่ยอมเผยแพร่ Lesiester Codex ของ Da Vinci ให้พวกเราดูผ่านอินเทอร์เน็ต ทั้งที่ซื้อมาตั้ง 31 ล้านเหรียญฯ เป็นต้น


ดังนั้น Blogger จึงรู้สึกสะใจมากกับโครงการ Art Project ของ Google (www.googleartproject.com) ที่อุตส่าห์ลงทุนลงแรงชักชวนพิพิธภัณฑ์สำคัญ 17 แห่งของโลกเข้าร่วมโครงการสแกนภาพถ่ายความละเอียดสูงให้ดูกันแบบ 360 องศา หมุนได้โดยรอบ ซ้าย ขวา หน้า หลัง ซูมอิน ซูมเอ้าท์ สไตล์ Street View ที่ใช้มาก่อนหน้านี้ใน Google Map นัยว่างานนี้รวบรวมไว้กว่าพันภาพ


Blogger ขอชมเชยจากใจจริง และอยากให้กำลังใจด้วย แม้ว่ามันจะไม่เกี่ยวกับ “Blog การเงิน” ภายใต้หัวคอลัมน์ที่ Blogger รับผิดชอบเขียนอยู่ทุกเดือนก็ตาม แต่เรื่องนี้น่าจะได้รับความสนใจจากนักการเงิน นักลงทุน เจ้าของกิจการ และผู้ที่สนใจงานศิลปะในเชิงของการลงทุนหรือการออม (Store Wealth) ที่เป็นแฟนติดตามคอลัมน์นี้อยู่โดยมาก เพราะส่วนใหญ่พวกที่เสพงานศิลป์ในโลกนี้ ถ้าไม่ใช่ Public Museum หรือ Private Museum แล้ว ก็มักจะเป็นนักธุรกิจและนักการเงินเสียเป็นส่วนมาก


Blogger ลองคลิดดูแล้วก็เห็นว่าสมกับคำคุย ทำให้เรารู้สึกได้เหมือนเข้าไปเดินในห้องแสดงงานจริงๆ และการซูมอินก็สามารถขยายให้เห็นได้ใกล้ชิดมากๆ อย่างฝีแปรงของ Van Gogh ก็เห็นจริงๆ จะด้อยกว่าก็ตรงความนูนความเว้าและความดิบ ความธรรมดา ความ “พื้นๆ” ซึ่ง Blogger ว่าภาพสแกนเหล่านั้นยังให้ได้ไม่สมจริง อีกอย่าง ความงามและความเร้าอารมณ์หรือกระทบใจในเชิงภาพรวมที่จะสัมผัสได้เวลาเรายืนอยู่หน้าภาพบางภาพ จะขาดหายไปเมื่อคลิกดูมันในอินเทอร์เน็ต


Blogger ให้ 7 เต็ม 10


และแม้จะขาดพิพิธภัณฑ์สำคัญจำนวนมาก เช่น Lovre, d’Orsay, Prado, Picasso Museum, Vatican, ฯลฯ แต่หลายแห่งที่เข้าร่วมก็มีงานหัวกะทิอยู่เช่น New York Met, MoMa, Rijksmuseum, Van Gogh Museum, Tate, National Gallery, Uffizi เป็นต้น


Blogger ดีใจแทนเด็กรุ่นใหม่ที่ได้รับโอกาสเช่นนี้ นับเป็นประชาธิปไตยแบบหนึ่ง ที่ให้คนเดินดินกินข้าวแกงได้เสพงานศิลป์ชั้นหัวกะทิของโลก ซึ่งแต่ก่อนมีเพียงคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้ยล


พวกเราก็รู้ว่าอินเทอร์เน็ตนั้นมีความพิเศษ ต่างจากโลกอนาล็อกตรงที่มันสามารถ Copy และ Paste ได้ทันที สามารถต่อแขนต่อขา ต่อเติมเสริมแต่ง ได้ดังใจนึก ภาษาการตลาดสมัยใหม่เรียกว่า Customization แต่กูเกิ้ลเรียกว่า “การสร้างคอลเลกชั่นของคุณเอง” โดยเขาอนุญาตให้มีช่อง ‘Create an Artwork Collection’ เพื่อเก็บเป็น Private Collection ของเราเอง เป็น Cloud Collection ที่แขวนไว้บนอินเทอร์เน็ตผ่าน Google App โดยจะใส่ข้อคิดเห็นต่อภาพแต่ละภาพยังไงก็ได้ และส่งต่อให้เพื่อนฝูงบน Social Network ได้อีกด้วย นับเป็นสูตรสำเร็จของ Digital Marketing ในยุคนี้


แม้ Blogger จะรู้อยู่แก่ใจว่า Google ย่อมได้ประโยชน์เมื่อคนแห่เข้าไปในนั้น และเขาก็จะไปแปลงจำนวนคลิกให้เป็นรายได้ผ่านการขายโฆษณา แล้วก็จะไปดันกำไรและราคาหุ้นเขาในที่สุด แต่จะมีกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตใดบ้างในยุคนี้ ที่จะหลุดพ้นจากการครอบงำของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ หรือไม่ถูกแอบอ้างไปใช้ประโยชน์ได้บ้างล่ะ


เพียงแต่คราวนี้มันเปลี่ยนจากที่เคยต้องเสียให้กับสายการบิน โรงแรม ภัตราคาร และพิพิธภัณฑ์ (เมื่อต้องบินไปดู) ก็มาเสียให้ Google กันแทน


นั่นแหละวิธี “กินรวบ” โดยอาศัยอินเทอร์เน็ต


เขียนโดย ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว ภายใต้นามปากกา Blogger
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับควบ เดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 2554

วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2554

McIntosh Mania









ว่าไปแล้ว การสะสมนับเป็นกิเลสแบบหนึ่ง!

แม้คนที่สะสมพระเครื่อง ก็อาจทำให้รังแต่จะติดยึดกับวัตถุยิ่งๆ ขึ้นได้ ทั้งๆ ที่ บรรดาเกจิ ผู้สร้างพระเครื่องเหล่านั้นขึ้นมา อาจตั้งใจให้เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ เมื่อมีไว้ครอบครองหรือระลึกถึงคราใด ก็จะช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้ ลด ละ เลิก จากสมมติต่างๆ ได้บ้าง

ทว่า มนุษย์ปุถุชนส่วนใหญ่ ไหนเลยจะทนต่อการรบเร้าและเย้ายวนของกิเลสได้

ใครเล่า จะไม่ชอบลิ้มรสอาหารอร่อย ไม่ชอบดูสิ่งสวยๆ งามๆ ได้ดมกลิ่นหอม ได้รับการสัมผัสนุ่มเนียนเอื้ออาธร ได้ฟังคำสรรเสริญเยินยอ ตลอดจนเสียงไพเราะจากธรรมชาติหรือปรุงแต่งจากฝีมือมนุษย์

ความหลงไหลในเสียงไพเราะนี้เอง ที่ทำให้ดนตรีกลายเป็นของคู่กับสังคมมนุษย์เรา ไม่ว่าผู้ชาย ผู้หญิง คนจน คนรวย เจ้าหรือไพร่ ของแต่ละสังคม ย่อมมีวัฒนธรรมการเสพดนตรีของตนเอง

ฝรั่งมีแชมเบอร์มิวสิก มีซิมโฟนี มีโอเปร่า แจ๊ส ร็อก ไทยก็มี ปี่พาทย์ โขน ลำตัด ลิเก

แต่สมัยก่อน จะฟังดนตรีกันที ก็ต้องฟังกันสดๆ นักร้องนักดนตรีเก่งๆ ก็ถูกเก็บไว้ในอาณัติของเจ้านายหรือเศรษฐีผู้มั่งคั่ง เลี้ยงดูผูกขาดไว้เป็นสมบัติของตนเอง ทั้งเพื่อการสันทนาการและเพื่อแสดงอัครฐานต่างๆ

ทว่า การเสพดนตรีของคนสมัยนี้มักอาศัยเครื่องมือผลิตซ้ำเสียงดนตรี คือเครื่องเสียง แผ่นเสียง เทป ซีดี หรือดีวีดี เสียเป็นส่วนใหญ่ นานๆ ถึงจะมีโอกาสได้ฟังดนตรีสดกันเสียทีหนึ่ง


Reproduction of Music


ในบรรดาเครื่องผลิตซ้ำเสียงดนตรีชั้นยอดนั้น McIntosh โดดเด่นมานาน บางคนเปรียบ McIntosh ว่าเป็น Rolls Roylls ของวงการเครื่องเสียงด้วยซ้ำไป ถ้านับตั้งแต่ปี 1947 ที่ Frank McIntosh ก่อตั้ง McIntosh Scientific Laboratory จนบัดนี้ ก็เป็นเวลาเกือบ 61 ปีแล้ว


ตลอดระยะเวลานี้ McIntosh ผลิตเครื่องเสียงออกมาหลายร้อยแบบ แต่ละแบบก็มีหลายสิบรุ่น ทั้งที่เป็นแอมปลิไฟเออร์ ปรีแอมปลิไฟเออร์ อินติเกรเต็ดแอมปลิไฟเออร์ รีซิฟเวอร์ จูนเนอร์ เครื่องเล่นซีดี เครื่อเล่นเทป เครื่องเล่นดีวีดี ตลอดจน ลำโพง และสายสัญญาณต่างๆ


ในจำนวนหลายร้อยรุ่นนั้น มีบางรุ่นได้กลายเป็นของหายาก และนิยมสะสมกันในหมู่เศรษฐีและนักเลงเครื่องเสียงทั่วโลก รวมทั้งนักสะสมในเมืองไทยด้วยเช่นกัน


ศุภชัย ภิญญาวัฒน์ หรือ "เสี่ยเปา" ผู้คร่ำหวอดในวงการค้าเครื่องเสียง Hi-end และเป็นผู้ที่ McIntosh รุ่นหายาก ผ่านมือเขามากที่สุดในรอบหลายปีมานี้







หลายปีมานี้ มีญี่ปุ่นมากว้านซื้อไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคา McIntosh รุ่นที่นิยมสะสม ถีบตัวขึ้นสูงมาก และทำท่าว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะตอนหลัง นอกจากญี่ปุ่นแล้ว คนจีนก็เริ่มรวยขึ้น และหันมาสะสมเครื่อง McIntosh รุ่นหายากด้วยเหมือนกัน…..และมันก็เป็นธรรมดาของดีมานด์กับซัพพลาย เมื่อมีคนต้องการมาก แต่ของมีจำกัด เพราะเครื่องรุ่นเหล่านี้เขาเลิกผลิตไปนานแล้ว ราคามันก็ต้องถีบตัวขึ้น” ศุภชัย ภิญญาวัฒน์ พ่อค้าเครื่องเสียงที่คร่ำหวอดกับการขายเครื่องเสียง Hi-end มากว่า 30 ปี เล่าให้ฟัง

ญี่ปุ่นเขารวย เขาซื้อดะ บางทีเปิดเล่นไม่ได้ เขาก็ซื้อ เอาไปตั้งโชว์เฉยๆ ก็ยังดี ขอให้เป็นรุ่นที่เขาชอบสะสมเขาเอาหมด” ไทร วิชุวาณิชย์ อดีตหลงจู๊ร้านเบ๊เต๊กฮวด ผู้บุกเบิกนำเข้าเครื่องเสียง McIntosh เป็นรายแรกในเมืองไทย กล่าวเสริม


ศุภชัย ภิญญาวัฒน์ นั้นเป็นลูกชายของนายห้างยูเนี่ยนซาวด์ สะพานเหล็ก คลุกคลีกับการค้าเครื่องเสียงมาตั้งแต่รุ่นพ่อ และต่อมาได้บุกเบิกนำเข้าเครื่องเสียงระดับราคาแพง (Hi-end) จนได้เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องเสียงระดับแนวหน้าของโลกหลายยี่ห้อ เช่น Mark Levinson, Audio Research, และ Wilson Audio เป็นต้น


แต่หลังจากที่กิจการเครื่องเสียงขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทยของเขาต้องมลายหายไปพร้อมกับความล่มสลายของเศรษฐกิจไทยเมื่อปี 2540 และหลบทำใจตั้งหลักอยู่พักหนึ่ง เขาก็หวนกลับมาเปิดกิจการขายเครื่องเสียงและแผ่นเสียงเล็กๆ อยู่ที่อาคารฟอร์จูน แล้วก็ต้องมีอันเป็นไปอีกในรอบล่าสุดนี้ ทว่า ศุภชัยก็ได้สัมผัสกับเครื่องเสียงหายากสำหรับนักสะสมจำนวนมาก โดยเฉพาะ McIntosh รุ่นหายากนั้น ผ่านมือเขาไปไม่ใช่น้อย ในรอบหลายปีมานี้


ศุภชัย หรือที่รู้จักกันในแวดวงเครื่องเสียงว่า “เสี่ยเปา” เล่าให้ฟังว่า กระแสการสะสม McIntosh นั้นเริ่มมาจากฝรั่งและญี่ปุ่น แล้วค่อยลามเข้ามาในหมู่คนไทย ส่วนรุ่นที่นิยมสะสมกันมากก็คือ MC 275 และ C-22 รองลงมาก็จะเป็น C-29 และ MR 78 แต่ปัจจุบันรุ่นเหล่านี้ มักหาสภาพดีๆ ยากแล้ว เพราะนักสะสมส่วนใหญ่ซื้อไปเก็บไว้และไม่ยอมปล่อยออกมา ทำให้นักสะสมรุ่นใหม่หันไปหารุ่นที่รองๆ ลงมาเช่น MC 240 และ C-20 หรือ C-8 เป็นต้น


ศุภชัยวิเคราะห์ว่า McIntosh นั้นเป็นเครื่องเสียงที่ทนมาก และอยู่ในตลาดมานาน Brand แข็งแกร่ง และมี Brand Loyalty สูง แถมยังให้คุณภาพเสียงที่ดี จึงมีสาวกจำนวนมาก เหมือน “เสาโรมัน” ที่คอยค้ำจุนกิจการ ในเมืองไทย เป็นที่นิยมมากในหมู่คนจีนที่มีเงิน


คุณสมบัติของรุ่นที่นิยมสะสมกันนั้น นอกจากความหายากของมันแล้ว ยังต้องเป็นรุ่นที่นักฟังระดับหูทองให้การยอมรับกันแล้วว่าเสียงดีด้วย ไม่ใช่หายากอย่างเดียว แต่คุณภาพเสียงไม่ได้มาตรฐาน และถ้าจะให้ดีต้องมีสภาพ “เดิมๆ” คืออะไหล่ทุกชิ้นต้องเป็นอะไหล่แท้ที่ได้รับการรับรองจาก McIntosh และเป็นของรุ่นนั้นๆ ตรงกับ Serial Number ไม่ใช่ Modify จนเป็นลูกผสม หรือเอาอะไหล่ที่ผลิตในญี่ปุ่นหรือรัสเซียหรือจีนใส่เข้าไปแทน


McIntosh MC 275 นั้น เป็นเครื่องขยายเสียงหรือแอมปลิฟายเออร์รุ่นที่ใช้หลอดสูญญากาศเป็นตัวขยายเสียง หรือที่เรียกกันเล่นๆ ว่า “แอมป์หลอด” มีกำลังขยายเท่ากับ 75 วัตต์ต่อข้างในระบบสเตอริโอ และ 135 วัตต์ต่อข้างในระบบโมโน ผลิตออกจำหน่ายในช่วงปี 1961-1970 เป็นแอมป์ที่ขายดีและสร้างชื่อเสียงให้กับ McIntosh มาก เป็นที่ต้องการของนักสะสมทั่วโลก จนราคาปัจจุบันถีบตัวขึ้นไปกว่าแสนบาทแล้ว ทั้งๆ ที่สมัยก่อนราคาขายปลีกเพียง 444 เหรียญฯ เท่านั้น


ความนิยมในแอมป์หลอดรุ่นนี้มีมากจน McIntosh ต้องผลิตรุ่น Limited Edition ออกมาสำหรับการสะสมโดยเฉพาะอีก 2 รอบด้วยกัน คือรอบแรกผลิตขายในช่วงปี 1993-1996 เรียกว่ารุ่น Commemorative Edition (Gordon Gow) ายปลีกที่ราคา 4,000 เหรียญฯ และรอบที่สองในปี 2004 โดยราคาขายปลีกในเมืองไทยเมื่อนำเข้ามาใหม่ๆ เครื่องละ 190,000 บาท


นักสะสมมักนิยมใช้ MC 275 คู่กับปรีแอมปริไฟเออร์รุ่น C-22 ซึ่งเป็นหลอดเหมือนกัน C-22 ผลิตขึ้นจำหน่ายระหว่างปี 1963-1968 และก็เช่นเดียวกับ MC 275 ที่มีคนนิยมสะสมกันมาก McIntosh จึงต้องผลิตซ้ำอีกครั้งในปี 1995 และเรียกเป็นรุ่น Commemorative Edition เช่นเดียวกัน ปัจจุบันราคาของรุ่นนี้ถีบตัวขึ้นไปกว่า 2 แสนบาทแล้ว ถ้าสภาพยังดี และถ้าใช้หลอด Telefunken ด้วยแล้ว ก็จะมีราคาสูงขึ้นไปอีก ทั้งๆ ที่สมัยออกใหม่ๆ McIntosh ตั้งราคาขายปลีกไว้เพียง 279 เหรียญฯ เท่านั้นเอง (รุ่นผลิตซ้ำขายที่ 2,500 เหรียญฯ)


จับคู่ C-22 กับ MI-200 รุ่นที่นักสะสมหากันมากเป็นอันดับสองรองจาก MI-350 (รูปแรกข้างบนสุด) (โดยภาพนี้ได้จากบ้านเพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียน)






ปัจจุบัน MC275 และ C-22 กลายเป็นของหายากไปแล้ว นักสะสมรุ่นใหม่จึงต้องหันไปหารุ่นรองๆ ลงมา เช่น MC240 และ C-20 หรือ C-29 ซึ่งราคายังอยู่ในราว 5 หลัก และยังมีของให้เล่นได้มาก


ในสมัยโน้น MC240 เป็นที่นิยมกันมากกว่า MC275 เพราะราคาถูกกว่า แต่คุณภาพเสียงใกล้เคียงกับ MC275 คนนิยมใช้คู่กับ C-20 เพราะเสียงดี นิ่มนวล มีเนื้อมีหนัง….สมัยโน้นผมขาย MC240 เพียง 9,000 บาท แต่ MC275 ขาย 14,000 บาท ผมเลยขาย MC240 ได้เป็นร้อยเครื่อง สั่งมาทีละ 8-10 เครื่องก็ขายหมดทุกทีไป แต่ MC 275 ผมว่ามีไม่กี่สิบเครื่องเท่านั้นเองในเมืองไทย” ไทร วิชุวาณิชย์ กล่าว


MC240 เป็นแอมป์ฯ รูปร่างเหมือน MC275 ทุกประการ เพียงแต่มีกำลังขยายต่ำกว่า คือ 40 วัตต์ต่อข้างในระบบสเตอริโอ หรือ 80 วัตต์ต่อข้างในระบบโมโน ผลิตขายในช่วงปี 1960-1969 โดยตั้งราคาสมัยนั้นไว้เพียง 288 เหรียญฯ ในขณะที่ C-20 เป็นปรีแอมป์หลอด ที่ผลิตขายระหว่างปี 1959-1963 และตั้งราคาไว้ที่ 269 เหรียญฯ ส่วน C-29 เป็นปรีแอมป์ชนิดทรานซิสเตอร์ ผลิตขายในช่วงปี 1978-1985 และราคา 1,399 เหรียญฯ ในขณะนั้น ปัจจุบัน MC240 ซื้อขายกันไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท ส่วน C-20 ก็ซื้อขายกันในราวนั้น แต่ถ้าสภาพดีและใช้หลอด Telefunken ก็อาจมีราคาถึงแสนบาท และ C-29 ก็อยู่ในราว 60,000-70,000 บาท แต่หาของยากมาก


กำพืด McIntosh ในไทย



ตำนาน McIntosh ในเมืองไทย เริ่มขึ้นเมื่อห้าสิบกว่าปีมาแล้ว โดยผู้ที่สามารถครอบครอง McIntosh ได้ในยุคนั้น จำกัดอยู่เพียงแวดวงเศรษฐี ที่ส่วนใหญ่เป็นเจ้า หมอ พ่อค้าชั้นนำ และนายธนาคาร เท่านั้นเอง

ย้อนกลับไปก่อนพุทธกาลไม่นานนัก ไทร วิชุวาณิชย์ เด็กหนุ่มชาวจีนลูกชายช่างซ่อมแกรมโมโฟน ที่เริ่มเข้าร่วมงานกับห้างเบ๊เต๊กฮวดในฐานะบ๋อยได้ระยะหนึ่งแล้ว มีโอกาสได้ทดลองฟังเครื่องเสียง Hi-fi เป็นครั้งแรกที่ห้างกมลสุโกสล แล้วก็ติดใจในเสียงแหลมที่แตกต่างจากแกรมโมโฟน ที่ห้างตัวเองขายอยู่ราวฟ้ากับดิน


ไทร วิชุวาณิชย์ กับตำนาน "เบ๊เต๊กฮวด" ผู้นำเข้า McIntosh และ JBL และ Bozak เป็นรายแรก เราว่าไทรรู้เรื่อง McIntosh กับ JBL มากที่สุดในเมืองไทยขณะนี้....ตอนที่เราไปเยี่ยมไทรที่บ้าน ท่านได้โชว์รูปถ่ายที่ถ่ายกับ Gordon Gaw และ Rudy Bozak ให้เราได้ชม








หลังจากนั้น ไทรก็โน้มน้าวให้หลงจู๊สั่งเครื่องแบบนั้นเข้ามาขายบ้าง โดยเริ่มจากยี่ห้อ Quad ก่อน แต่ด้วยยี่ห้อนั้นมีเสียงฮัมมาก ก็เลยเปลี่ยนมานำเข้า McIntosh


ผมรู้จัก McIntosh จาก ดร.อุย ลูกชายนายห้างเคี่ยนหงวน เพราะมีอยู่วันหนึ่ง ดร.อุยทนฟังผมคุยไม่ได้ เลยกลับไปยกเครื่อง Mc ที่บ้านมาให้ฟังเครื่องนั้นเป็นปรีแอมป์รุ่น C-8 และแอมป์ 50 วัตต์ (ตอนนั้นยังไม่มีชื่อรุ่น) ที่เขาติดมือมาจากต่างประเทศหลังเรียนจบกลับมา เครื่องเสียงคู่นั้นเสียงดีมาก ผมเลยเสนอให้หลงจู๊สั่งเข้ามาขาย หลงจู๊ก็ใจถึงมาก สั่งเข้ามาราคา 8,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงมาก เพราะสมัยก่อนทองคำบาทละ 400 รถออสตินคันละสองหมึ่นกว่า และเงินเดือนผม 400 บาทเอง ตอนแรกเถ้าแก่ก็ไม่ค่อยพอใจพวกผมเหมือนกัน แต่ดีว่าหลงจู๊เป็นน้องเมียแกเอง” ไทร ย้อนความหลังให้ฟัง


หลังจากตั้งโชว์อยู่ไม่นาน ไทรก็สามารถขายเครื่องชุดนั้นได้ในราคา 9,000 บาท และหลังจากนั้น ก็สั่งเข้าเรื่อยๆ จนที่สุดเบ๊เต๊กฮวดก็ขอเป็นผู้แทนจำหน่ายแต่ผู้เดียวในเมืองไทย


ผมจำได้ว่า คนที่ซื้อ McIntosh คู่แรกในประเทศไทยไปคือลูกชายของคุณวิเชียร ฉวีวงศ์ เจ้าของน้ำมันใส่ผมบาโบ๊ต และหลังจากที่ผมสั่งคู่ที่สองมา ตอนนั้นเป็น C-8 คู่กับ MC-30 ก็ได้ขายให้กับคุณจำนงค์ ภิรมย์ภักดี ซึ่งตอนนั้นเพิ่งกลับมาจากเมืองนอกใหม่ๆ และหลังจากนั้น ก็ดูเหมือนจะเป็นคุณอุเทน เตชะไพบูลย์ ที่มาซื้อรุ่น MC-60 ไป และคุณชวลิต รุ่งแสง ที่ซื้อรุ่น MC3500 ซึ่งมีไม่เกิน 3 คู่ในเมืองไทย” ไทรกล่าวเสริม


ไทรย้อนความหลังว่าลูกค้าสมัยนั้นส่วนใหญ่เป็นเศรษฐีหรือไม่ก็คนใหญ่คนโตในวงสังคม และเมื่อคนเหล่านี้บอกต่อ ก็ทำให้เกิดความนิยมเพิ่มขึ้นในวงกว้าง


สมัยแรกๆ ปีหนึ่งจะขายได้เพีย2-3 ชุด แต่พอมีระบบสเตอริโอ หลังยุคที่ผลิต C-20 แล้ว ผมก็ขอเป็นผู้แทนจำหน่าย ซึ่งต่อมาไม่นานก็ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายลำโพง JBL ด้วย ช่วงนั้นความนิยมเพิ่มขึ้นมาก เป็นยุครุ่งเรืองของคู่แฝด McIntosh กับ JBL ชนิดที่ว่า ใครจะสร้างบ้านใหม่ ก็จะต้องมี McIntosh กับ JBL เป็นของคู่บ้าน ทำให้ขายดีมาก ผมต้องตามเซอร์วิสตลอด ทั้งสอน ทั้งซ่อม เพราะผมใช้กลยุทธ์ซ่อมให้ฟรี คือสโลแกนว่า McIntosh ไม่มีเสีย…….ช่วงนั้น เป็นช่วงรุ่งเรืองของเบ๊เต๊กฮวด”


ไทรร่วมงานกับเบ๊เต๊กฮวดจนได้เป็นหลงจู๊ และได้มีโอกาสไปกินข้าวกับ Gordon Gow ประธานผู้เป็นตำนานของ McIntosh ที่นิวยอร์ก และต่อมาก็ได้เห็นความร่วงโรยของ McIntosh เพราะการแข่งขันจากผู้ผลิตญี่ปุ่น


ผมขาย McIntosh จนถึง C-29 ก็เริ่มรู้ว่า การขายเงียบลงเยอะ ลูกค้าช่วงนั้นส่วนใหญ่เป็นคนจีน พอมาถึง C-32 ก็ขายได้น้อยลงมาก เพราะฝรั่งเริ่มตั้งราคาแพง และคนก็หันไปนิยม LaserDisc กับเครื่องเสียงญี่ปุ่นที่ถูกกว่า ดีไซน์ร่วมสมัยมากกว่า” เขากล่าว


หลังจากนั้นไม่นาน ไทรก็ออกจากเบ๊เต๊กฮวดหลังจากร่วมงานกันมากว่า 30 ปี และเบ๊เต๊กฮวดก็สูญเสียความเป็นตัวแทนจำหน่าย McIntosh ไปให้กับ KS ซึ่งเป็นของนักธุรกิจภารตะจนถึงปัจจุบัน


เดี๋ยวนี้ ไทรอายุ 74 แล้ว แต่ยังคงรับซ่อม McIntosh รุ่นโบราณ อยู่ที่บ้านอย่างเงียบๆ เพราะลูกค้าเก่ายังไว้ใจว่าเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญ McIntosh ชั้นแนวหน้า ซึ่งยังหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่คนในเมืองไทย


The Caretaker


เกษม ทัศนสุวรรณ หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ช่างเกษม” ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เชี่ยวชาญเรื่องวงจรเครื่องเสียงโบราณ และเป็นที่พึ่งของนักสะสมเครื่องเสียงไทย เมื่อถึงเวลาต้องทำการฟื้นฟูสภาพ (Restoration) ตลอดจนรักษาอาการเจ็บป่วยของเครื่องเสียงในคอลเล็กชั่นของตัว


เกษม ทัศนสุวรรณ หรือ "ช่างเกษม" ที่นักเล่นเครือง Vintage ทุกคนต้องรู้จัก ความรู้และฝีมือของช่างเกษมลึกซึ้งและครอบคลุมกว้างขวางถึงวงจรเครื่องเสียงโบราณทุกชนิด ช่างเกษมเรียนรู้วงจรและเรื่องอิเล็กทรอนิกด้วยวิธี Self-taught น่าเสียดายที่ช่างรุ่นใหม่หันหลังให้กับการซ่อมแซมเครื่อง Vintage และน่าเสียดายที่คลังความรู้ของช่างเกษมจะไม่มีผู้สืบทอด







เกษม คลุกคลีอยู่กับวงการซ่อมเครื่องเสียงตั้งแต่รุ่นพ่อของเขา ซึ่งเป็นเจ้าของร้านซ่อมเครื่องเสียงอยู่ที่สุพรรณบุรี เกษมไม่ได้รับการศึกษาในระบบ แต่เขาเรียนรู้ในทางปฏิบัติ ผ่านการซ่อมเครื่องเสียงมากว่า 50 ปี จนรู้จักวงจรเกือบทุกชนิดของทุกยี่ห้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องหลอด และเครื่องรุ่นเก่า เกษมจะเชี่ยวชาญชนิดหาตัวจับยาก ชนิดฟังเสียงก็รู้แล้วว่าเครื่องสมบูรณ์หรือไม่อย่างไร เขาจึงกลายเป็นศูนย์รวมของนักเล่นเครื่องเสียง Vintage ของเมืองไทยไปโดยปริยาย


เกษมมีวิญญาณของความเป็นช่างสูง เขามองงานซ่อมเครื่องเสียงเป็น Work of art ประเภทหนึ่ง และนอกจากเขาจะซ่อมเครื่องเสียงแล้วเขายังทำเครื่องเสียงขึ้นมาไว้ฟังเองและขายให้คนที่สนิทๆ ด้วย เขาบอกว่า เขารักเครื่องเสียงมาก และรักที่จะซ่อมเครื่องเสียง “ทุกวันที่ยังทำอยู่นี้ ก็เพราะใจรัก ไม่ได้คิดแพง แต่อยากอนุรักษ์ของเก่าไว้ไม่ให้สาบสูญ และงานซ่อมเครื่องเสียง มันเป็นเรื่องของฝีมือและประสบการณ์ ไม่ใช่อาศัยความเข้าใจทฤษฎีแล้วจะทำได้”


นอกจากซ่อมเครื่องแล้ว เกษมยังสามารถ Restore เครื่อง จากที่เคยเป็นอะไหล่ แยกย้ายกันอยู่คนละทิศละทาง หรือเป็นขยะอยู่ในห้องเก็บของ ให้กลับมาเล่นใหม่ได้ โดยยังคงสภาพเดิมๆ เหมือนกับครั้งที่เคยออกจากโรงงานในสมัยเมื่อ 40-50 ปีก่อนโน้นได้


ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกเลย ที่ระหว่างเรากำลังทำการสัมภาษณ์เขา จึงได้เห็นนักสะสมหลั่งไหลมาหาเขาอย่างไม่ขาดสาย แม้ถ่อมาจากต่างจังหวัดไกลๆ เพื่อเจาะจงมาหาเขาโดยเฉพาะ ก็มีเกษมยกย่อง McIntosh าก ในด้านความทนทานและความเรียบง่ายของวงจร แต่กลับให้คุณภาพเสียงที่ดีมาก และเขาก็ให้เครดิตกับความทนทานนี้เอง ที่ทำให้นักสะสมหลงไหล McIntosh มากกว่ายี่ห้ออื่น


เกษม Restore เครื่อง McIntosh มาแล้วเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน แต่สิ่งหนึ่งที่เขาเสียดายก็คือ McIntosh รุ่นหายากจำนวนไม่น้อย ได้ถูกซื้อออกไปนอกประเทศในรอบสามสี่ปีที่ผ่านมา


เราคิดว่า กระแสความนิยมสะสม McIntosh จะทวีขึ้นในอนาคต เนื่องเพราะคนในประเทศโลกที่สามเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชีย เริ่มมีฐานะดีขึ้น


จากการเข้าไปสำรวจใน Website E-bay พบว่า McIntosh รุ่นหายากที่กล่าวมาแล้ว ทำการประมูลกันในราคาสูงขึ้นทุกที และผู้ชนะประมูลส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย จึงตรงกับข้อสันนิฐานของเราที่ว่า เมื่อคนเริ่มมีฐานะเหลือกินเหลือใช้ พวกเขาย่อมต้องการที่จะครอบครอง Great Machine ชนิดใดชนิดหนึ่ง เพื่อความเพลิดเพลิน ตลอดจนแสดงสถานะและอำนาจของตัวเอง


นี่แหละหนา กิเลสมนุษย์!


บทความนี้เขียนโดย ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว ร่วมกับ วีระพงษ์ เจตพิทักษ์พงษ์

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Corporate Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2547 และตีพิมพ์อีกครั้งในนิตยสาร Audiophile หลังจากนั้นประมาณสามปี