วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554

ความคิดสร้างสรรค์ที่แอบซ่อนอยู่


Ernest Hemingway บอกเคล็ดลับการเขียนงานวรรณกรรมของเขาไว้ใน By Line ว่าควรเขียนต้นฉบับด้วยดินสอลงบนกระดาษ เพื่อให้โอกาสตัวเองได้แก้ไขขัดเกลาถึงสามครั้งด้วยกัน


เขากล่าวว่า “เมื่อท่านลงมือเขียนนั้นท่านมีความคิดต่างๆ นานาไหลพล่านอยู่เต็มหัวในขณะที่คนที่ลงมือจับเรื่องของท่านขึ้นมาอ่านนั้นเขายังไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นอะไร, ดังนั้นในการจะไล่ความคิดของท่านให้ทันนั้นท่านจะใช้พิมพ์ดีดก็ได้เพราะว่ามันสะดวกดีด้วยประการทั้งปวง. หลังจากที่ท่านรู้แน่แล้วว่าเรื่องที่ท่านเขียนนั้นจะเป็นไปในแนวใดเรียบร้อยแล้วท่านก็จำเป็นต้องถ่ายทอดทุกสิ่งทุกอย่าง, อารมณ์, ภาพ, ความรู้สึก, สถานที่และความสะเทือนใจไปถึงคนอ่าน. การจะทำเช่นนั้นได้นั่นหมายความว่าท่านต้องอ่านทวนและแก้ไขสิ่งที่ท่านได้เขียนลงไปก่อนหน้านั้นแล้ว. ถ้าหากว่าท่านเขียนด้วยดินสอท่านก็มีโอกาสแก้ไขถึงสามครั้งด้วยกันเพื่อที่ท่านจะได้แน่ใจว่าคนอ่านจะได้รับในสิ่งที่ท่านต้องการให้เขาได้รับ. ครั้งแรกคือเมื่อท่านอ่านจากลายมือเขียนของท่านเอง; ต่อมาอีกก็คือเมื่อต้นฉบับได้รับการพิมพ์ดีด และอีกครั้งหนึ่งในการพิสูจน์อักษร. นั่นคือ .333 แห่งโอกาสอันดีเหลือหลาย. นอกจากนั้นต้นฉบับยังได้มีโอกาสอยู่กับท่านได้นานมากขึ้นซึ่งท่านจะได้ทำให้มันดีขึ้นได้ง่ายขึ้น.” (สำนวนแปลของ เชน จรัสเวียง, คัดจาก “เออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ ว่าด้วยการเขียน”, สำนักพิมพ์ปาปิรัส หน้า 72)


นับแต่เขาตายลง ต้นฉบับลายมือเขียน (และฉบับดีดพิมพ์) ของเฮมมิงเวย์ได้รับความสนใจศึกษาอย่างวิเคราะห์เจาะลึก จากนักเขียน นักข่าว และนักวิชาการในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ทั้งยังเป็นของสะสมราคาแพงอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นฉบับที่มีการแก้ไข ขีดฆ่า ตัดต่อ โยงใยลูกศร แทรกเครื่องหมายปีกกา หรือขีดเส้นใต้ ทำตำหนิ แล้วเขียนใหม่ หรือขีดเขียนเพิ่มเติมไว้เหนือบรรทัด ใต้บรรทัด และทำความเห็นไว้ตามที่ว่างข้างๆ ซ้ายขวา ยิ่งจะได้รับความสนใจจากพิพิธภัณฑ์และนักสะสมชั้นนำของโลกมากขึ้นเป็นเงาตามตัว


มิเพียงแต่ของเฮมมิงเวย์เท่านั้น ต้นฉบับงานศิลปะทุกแขนงของศิลปินเอกอุ ล้วนทะลุเพดานอย่างยากที่คนทั่วไปจะเอื้อมถึง เหล่านี้ล้วนกลายเป็นอาหารอันโอชะของพวก Banker หรือชีค หรือรัสเซียนไทคูน หรือมหาเศรษฐีนักสะสม หรือไม่ก็พิพิธภัณฑ์สำคัญของโลก


แม้แต่เศษเสี้ยวของงานต้นฉบับก็แย่งกันยังกะอะไร!


ตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ดันมีลายมือของ Beethoven โผล่มาให้ประมูลกันผ่าน Sotheby’s London คือเป็นเศษกระดาษแผ่นเล็กๆ กว้างยาวแค่ 5x6.7 ซ.ม. เขียนโน้ตไว้ห้องเดียว แล้วขีดแก้ไขเปรอะไป นัยว่าเป็นงานศึกษาส่วนตัวก่อนเขียนเพลงใหญ่ เพียงแค่นี้ก็ประมูลกันไปตั้ง 8,750 ปอนด์ (เมื่อมิถุนายนปีที่แล้ว) เป็นต้น


เมื่อปี 2546 ก็มีคนประมูลต้นฉบับเพลง Symphony No.9 ไปในราคา 2.13 ล้านปอนด์ อันนั้นมีลายมือของเบโธเฟ่นสั่งให้แก้ไขโน้ตเพลงหลายต่อหลายตอน เช่นให้เปลี่ยนจังหวะเพลงตอนท่อนสุดท้ายให้เร็วขึ้นจาก presto มาเป็น prestissimo แล้วยังเขียนวิจารณ์อาลักษณ์ผู้ลอกต้นฉบับว่า “du verfluchter Kerl” เป็นต้น (ถ้าจะแปลให้มันเถื่อนๆ หน่อยก็อาจจะได้ใจความว่า “ไอ้เกลอเ...ี้ย” หรือ “ไอ้เ...ี้ยเกลอ” นั่นแหละ)


ยิ่งต้นฉบับของศิลปินเอกอุคนแรกที่เคยเป็นสมบัติหรืออยู่ในครอบครองของศิลปินเอกอุคนต่อมา แล้วค่อยตกทอดมาสู่ลูกหลานในปัจจุบัน ยิ่งมีผู้บุญหนักศักดิ์ใหญ่เสาะหากันนัก และพร้อมที่จะเข้าแย่งชิง ประกวดประขัน ด้วยวงเงินจำนวนไม่อั้น เพื่อให้ได้มาครอบครอง


ตัวอย่างคือต้นฉบับงานนิพนธ์เพลงของ Bach ที่เคยเป็นของ Mahler มาก่อน โดย Mahler ได้ขีดเขียน วิพากษ์วิจารณ์ และ Rearrange ใหม่นั้น ปัจจุบันได้ตกไปอยู่ในมือของ Sir Ralph Kohn มหาเศรษฐีเจ้าของกิจการยายักษ์ใหญ่เสียแล้ว


Blogger เคยดูหนังอาร์ตเรื่องหนึ่งนานมาแล้ว ท้องเรื่องว่าด้วยการวิเคราะห์ภาพเขียนนามระบือ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ สแกนให้รู้ว่ากว่าจะมาเป็นงานที่เราเห็นเนี่ย ศิลปินผู้วาดได้ขีดเขียนอะไรไว้บ้างขณะวาดภาพนั้น มีการแก้ไข ลบแล้วเขียนใหม่ช่วงไหนบ้าง ขีดฆ่า หรือหันเหไปทางอื่นก่อนจะมาจบทางนี้หรือไม่อย่างไร


นับเป็นการมองทะลุเวลากลับไปอ่านใจศิลปินเอกอุเจ้าของภาพวาดเหล่านั้น ว่าท่านคิดอะไร เริ่มงานชิ้นนั้นยังไง วาดตรงไหนก่อน ลงสีไหนก่อนหลัง หรือทำไปแล้วติดอะไร ทดลองเทคนิคอะไรหรือไม่ และเปลี่ยนความคิดไปมากี่รอบ ก่อนจะมาลงตัวอย่างที่เห็น


การยลงานศิลป์แนวนี้ก็มันส์ไปอีกแบบ!


ถือเป็นการเสพงานศิลปะแบบเจาะลึกถึงความคิดเบื้องหลังตั้งเค้า และคิดลึกถึงสองชั้นสามชั้น เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบงานท้าทาย หรือต้องการแสวงหาแรงบันดาลใจ หาบ่อน้ำแห่งปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ เอาไว้ตักกินตักอาบ ชะโลมใจชะโลมปัญญา กอบโกยเอาจากขุมทรัพย์ของอดีตนักสร้างสรรค์ตัวกลั่น


ว่ากันว่า J.P. Morgan สมัยเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ก็ชอบเสพงานศิลปะแนวนี้ และได้สะสมงานต้นฉบับไว้มากมาย ทัั้งต้นฉบับโน้ตเพลงและงานวรรณกรรม หนังสือหายากและภาพเขียน รวมถึงบันทึกประจำวันของศิลปินและผู้มีชื่อเสียงจำนวนมาก จนเมื่อเขาตายลง ลูกหลานจึงนำเอาของสะสมเหล่านั้นมาเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากัน

ระยะนี้ The Morgan Library & Museum กำลังเปิดแสดงงานทางอินเทอร์เน็ตให้พวกเราได้ยลผลงานต้นฉบับเหล่านั้น ทั้งคอลเล็กชั่น Diary และต้นฉบับงานนิพนธ์เพลง ซึ่งรวบรวมมาได้กว่า 900 ชิ้น และมากกว่า 42,000 หน้า ล้วนเป็นของศิลปินเอกอุ ไล่เรียงมาตั้งแต่ J. S. Bach, Beethoven, Brahms, Chopin, Debussy, Fauré, Haydn, Liszt, Mahler, Massenet, Mendelssohn, Mozart, Puccini, Schubert, จนถึง Schumann


ส่วนต้นฉบับงานนิพนธ์วรรณกรรมและไดอารี่ของคนดังก็มีเด่นๆ อย่างบางหน้าของ Ulyses ของ James Joyce และบันทึกประจำวันของ Charlotte Brontë, Henry David Thoreau, Tennessee William, Anaïs Nin, William S. Burroughs, John Ruskin, Sir Walter Scott, และ John Steinbeck, หรือแม้กระทั่งบันทึกการเดินทางของ Albert Einstein ซึ่งเต็มไปด้วยสูตรคณิตศาสตร์ เป็นต้น


Blogger ได้อะไรไม่น้อยเลย จากนิทรรศการนี้


เชิญผู้สนใจที่ www.themorgan.org


ได้ความคิดใหม่อะไร ก็เขียนมาคุยกันมั่งนะครับ


(รูปประกอบเป็นต้นฉบับลายมือของ Beethoven เพลง Violin and Piano Sonata, op. 96 in G major, จาก www.themorgan.org)

บทความนี้เขียนโดยทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว ด้วยนามปากกา Blogger ประจำคอลัมน์แนะนำ Blog ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนมีนาคม 2554