วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ว่าด้วย Blue NOTE

ว่าด้วย BLUE NOTE

ค่ำคืนนั้นที่ Village Vanguard ผมไม่แปลกใจเลยที่เจอชาวแจ๊สญี่ปุ่นจำนวนมาก เพราะคนญี่ปุ่นคลั่งแจ๊สมานานแล้ว และความคลั่งแจ๊สของคนญี่ปุ่นนี้เอง ที่เป็นเชื้อปะทุให้ตลาดเพลงแจ๊สโลกกลับมาเฟื่องฟูอีกครา

ค่ายเพลงแจ๊สที่สลบไสลไปแล้ว กลับฟื้นคืนชีพมาอีกครั้ง และได้นำมาสเตอร์เทปเก่ามา Reissue อย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพื่อสนองความต้องการของตลาดญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น BLUE NOTE, PRESTIGE, RIVERSIDE, BETHLEHEM, ATLANTIC, COLUMBIA, SAVOY, PACIFIC JAZZ และ IMPAULSE แล้วเลยลุกลามออกไปจำหน่ายกันนอกตลาดญี่ปุ่นด้วย

ทว่า หลังจาก Churchill Port หมดไปคนละสองสามแก้ว และยังไม่มีวี่แววของนักดนตรีบนเวที พวกเราก็คุยกันรื่น คราวนี้ ผมกลับแปลกใจมาก ที่พวกเขาเหล่านั้นบอกว่า ตั้งใจมานิวยอร์กกันเพื่อ “แจ๊ส” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีวัตถุประสงค์อื่นให้ไขว้เขวเลยแม้แต่น้อย

ผมฟังดูแล้ว พวกเขาจริงจังกันมาก เสมือนหนึ่งว่า มา “จาริก แสวงบุญ” กัน อย่างนั้นแหละ Village Vanguard เป็นเพียงจุดหมายหนึ่งในหลายสิบสถานที่ ที่พวกเขาจำต้องแวะไปสักการะให้ครบ หญิงสาวคนหนึ่งให้ผมดูอัลบั้มภาพในหน่วยความจำดิจิตอลของเธอ พร้อมกับอธิบายถึงความสำคัญของสถานที่ต่างๆ ด้วยความภูมิใจ

ผมจำได้ไม่หมดหรอก จำได้เฉพาะชื่อที่คุ้นหูอย่างเช่น Milton’s Playhouse, Hickory House, Apollo Theater, 52nd Street, Five Spot, Basin Street, Birdland, Café Bohemia, บ้านเดิมของ Charlie Parker ที่ 151 Avenue B และบ้านเดิมของ Miles David ที่ Central Park South Side ตลอดจนหลุมฝังศพของท่านผู้นั้น, สะพาน Williamsburg ที่ซึ่ง Sonny Rollins เคยปลีกวิเวกไปซ้อมอยู่เกือบสองปี, Louis Armstrong House and Archives ที่ Queen College, และ Jazz Record Center เป็นต้น

ณ ห้วงความคิดนั้น ผมอดไม่ได้ที่จะแวบไปเปรียบถึง “ศรัทธา” ของบรรดาพุทธมามะกะที่มักแสดงออกด้วยการเดินทางไปอินเดีย เพื่อแสวงบุญกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่าง ลุมพินีสถาน และอุรุเวฬา หรืออิสลามิกชนที่ต้องไป “เมกกะ” กันทุกปี

ผมแปลกใจยิ่งกว่านั้น เมื่อทราบว่าบรรดาสำนักงานเก่าของ Blue Note ก็เป็นแหล่งแสวงบุญในยุคแจ๊สยานุวัตร (Globalization of Jazz) ของบรรดาคอแจ๊สคณะนี้ด้วยเหมือนกัน ตั้งแต่เลขที่ 235 บนถนน 7th Avenue (at 23rd Street), 10 West 47th Street, และ 767 Lexington Avenue ตลอดจน 47 West 63rd Street อันโด่งดังบน Label แผ่นเสียง Blue Note ที่นิยมสะสมกันมากในปัจจุบัน

ผมทึ่งในความบ้าของคนญี่ปุ่นจริงๆ !

แต่ก่อนจะพูดอะไรกันต่อ ก็พอดีท่อนเปิดของเพลง Cool Struttin ของ Sonny Clark กระหึ่มขึ้น พร้อมๆ กับเสียงปรบมือของแฟนเพลง จึงได้รู้ว่าค่ำคืนนั้น เป็นคืนไว้อาลัยแด่ Jackie McLean ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่งของวงการแจ๊สโลก ที่เพิ่งอำลาสังขารไปก่อนหน้านั้นไม่นานนัก

คืนนั้น เป็นอีกคืนหนึ่งที่ผมยากจะข่มตาให้หลับได้…. ผมครุ่นคิดกลับไปกลับมา จน “คิดออก” ว่า “กิเลส” (Passion) แบบนี้นี่เอง ที่เป็นตัวผลักดันให้ระดับราคาแผ่นเสียงของ BLUE NOTE ชนิด “พิมพ์เดิม” (Original) ในตลาดโลก สูงขึ้นไปอยู่ในแดนที่คนธรรมดายากจะแตะต้องได้

ดังนั้น ก่อนที่ผมจะลงรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติของค่าย BLUE NOTE และอัลบั้มเพลงของศิลปินคนสำคัญๆ ในแต่ละยุค ตลอดจนบุคลิกลักษณะ และตำหนิสำคัญของแผ่นเสียง BLUE NOTE ในแต่ละยุค ผมจึงใคร่ขอเกริ่นนำด้วยบทความแรกนี้ ที่จะว่าด้วยเหตุผลในเชิงเศรษฐศาสตร์ หรือ Economic Side ของราคาแผ่นเสียง BLUE NOTE กันเป็นเบื้องแรก ซึ่งน่าจะสามารถอธิบายได้ว่า ทำไมนักสะสมจึงนิยมสะสมแผ่นเสียงของค่ายนี้ ทั้งๆ ที่ระดับราคาของมันก็ไม่น้อยเลย และพร้อมกันนี้ ผมยังจะกล่าวถึงอัลบั้มเพลง 5 อันดับแรก ที่นิยมสะสมกันมากในบรรดาแฟนๆ ของ BLUE NOTE

The Political Economy of BLUE NOTE

ความนิยมแผ่นเสียงเพลง Jazz ที่หวนกลับมาในยุคนี้ ทำให้ค่ายเพลงในต่างประเทศที่ถือลิขสิทธิ์แทบทุกค่าย นำเทปมาสเตอร์มาปัดฝุ่น เพื่อเป็นต้นแบบในการปั๊มแผ่นเสียงใหม่ออกวางตลาดกันหนาตาขึ้น ราคาแผ่นเสียงใหม่จึงเริ่มลดต่ำลง ในขณะที่ราคาแผ่นเสียงเก่าซึ่งเป็น “ของแท้” ในตลาดของสะสมเริ่มถีบตัวสูงขึ้นสวนทางกัน

ยิ่ง Reissue กันถี่ขึ้น คนก็ยิ่งถวิลหาของ Original กันมากขึ้น เป็นธรรมดา

เดี๋ยวนี้ ใครมี Miles Davis, John Coltrane, หรือ Sonny Rollins ต้นฉบับสมัยโน้นเก็บไว้ นอกจากจะ “เท่” มากแล้ว ยังกลายเป็นเศรษฐีไปโดยปริยายอีกด้วย

มีเรื่องเล่าในทำนองนี้มากมาย ว่ามักจะมีนักฟังเพลงวัยใกล้เกษียณที่บังเอิญไม่ได้ขายแผ่นเสียงแผ่นสำคัญๆ ทิ้งไปตอนที่ซีดีก่อกำเนิดและได้รับความนิยมจนแผ่นเสียงและเครื่องเล่นแผ่นเสียงหายไปจากตลาด พวกเขาเก็บแผ่นไว้เฉยๆ อย่างนั้นเรื่อยมา ทั้งๆ ที่ตัวเองก็หันมาฟังซีดี เพราะสะดวกสบายกว่าการเล่นแผ่นเสียงแยะ จนมาถึงตอนนี้เลยรู้ว่าตัวเองโชคดีมาก สิ่งที่เก็บไว้นั้นกลับมีค่าขึ้นมามหาศาล เหมือนกันคนที่ซื้อทองไว้ตั้งแต่บาทละ 400 นั่นแหละ

หรือเรื่องที่มีดีเจบางคนสามารถทำเงินได้มากในรอบสองสามปีนี้ ด้วยการทยอยขายแผ่นเสียงที่เคยได้รับแจกจ่ายจากค่ายเพลงต่างๆ ในสมัยก่อนออกมานั้น ก็เป็นเรื่องจริง

ความนิยมแผ่นเสียงเพลงแจ๊สและเพลงคลาสสิกแบบ Original เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้งในรอบสิบกว่าปีมานี้ นำโดยนักสะสมญี่ปุ่น แล้วก็ตามมาด้วยเกาหลีใต้ ไต้หวัน แล้วก็จีน ประเทศ “เศรษฐีใหม่” เหล่านี้ได้กว้านซื้อแผ่นเสียงเก่าอย่างรีบเร่งและจริงจัง

การก่อกำเนิดของ eBay ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาแผ่นเสียงเก่าถีบตัวขึ้น นายหน้าในประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ก็พากันเข้าไปประมูลซื้อแผ่นกันเพื่อนำไปขายในประเทศตน ทำให้เกิดราคาอ้างอิง และทำให้ระดับราคาแผ่นเสียงนอก eBay แพงไปด้วย

ปัจจุบัน eBay ก็เลยกลายเป็นตลาดอ้างอิงราคาแผ่นเสียงเก่า ดังที่ Chicago Board of Trade หรือ Chicago Mercantile Exchange เป็นตลาดอ้างอิงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดดูใบ หรือ เทรนต์ เป็นตลาดอ้างอิงราคาน้ำมันดิบ ที่ผู้ซื้อผู้ขายต้องนำมาอ้างอิงทุกวัน

แม้กระทั่ง Goldmine Jazz Album Price Guide ซึ่งเป็นหนังสืออ้างอิงราคาแผ่นเสียงเก่าที่นักสะสม ตลอดจนพ่อค้าแผ่นเสียงเก่า ให้ความเชื่อถือ ก็ยังต้องอาศัย eBay เป็นแหล่ง Update ข้อมูลของตัวทุกครั้งที่มีการจัดพิมพ์รอบใหม่

เหตุการณ์ทำนองนี้ ไม่ได้เกิดกับแผ่นเสียงเพียงอย่างเดียว แต่ได้เกิดขึ้นกับวงการเครื่องเสียงทั้งวงการ เครื่องเสียงรุ่นเก่าและหายากที่เรียกกันแบบรวมๆ ว่า Vintage Hifi อย่างของ McIntosh, Marantz, Quad, Altec, Tannoy, Bozak, JBL, Garrard, Thorens, SME, Ortofon, Western Electric ล้วนถีบตัวสูงขึ้นด้วยเหตุผลเดียวกัน เรื่องเล่าที่ชอบเล่ากันว่า ที่คลองถมสมัยก่อน สามารถหาซื้อ Garrard 301 หรือ Thorens TD124 ได้ในราคาไม่กี่พันบาท หรือซื้อ MC275 ได้ในราคาไม่กี่หมึ่นบาทนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นตำนานที่นำมาเล่าปลอบใจกันเองในหมู่นักสะสมไปเสียแล้ว

ตราบใดที่ยังมี “เศรษฐีใหม่” เกิดขึ้นในโลก ตราบนั้นความต้องการสิ่งของเหล่านี้จะไม่มีวันหมดไป ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยดันราคาของหายากเหล่านี้ให้สูงขึ้น นั่นเป็นเพราะ “เศรษฐีใหม่” (ที่ต้องการข้ามพ้นความเป็นเศรษฐีใหม่ของตน) ต้องการความแตกต่างในการบริโภคที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน

สิ่งของเหล่านี้ เป็นของหายาก มีจำนวนจำกัด บางอย่างมีเพียงไม่กี่ชิ้นในโลก ที่ไม่ใช่ว่าใครมีเงินแล้วจะหามาครอบครองได้ การได้ครอบครองสิ่งเหล่านี้ ย่อมแสดงให้เห็นถึง “พลัง” บางอย่างของผู้ครอบครอง ที่นอกเหนือไปจากมิติของเงินทอง

การสะสมของเหล่านี้ จึงนับเป็น “กิเลส” แบบหนึ่ง ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของความเป็นเศรษฐีใหม่

การเพิ่มมูลค่าของแผ่นเสียงในลักษณะนี้เอง ที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสะสม “แผ่นแท้” หรือ แผ่น Original กันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผ่นเพลง Jazz และเพลง Classic ที่ราคานับวันมีแต่จะถีบตัวสูงขึ้น เพราะเพลง Jazz กับเพลง Classic นั้น ฟังได้ตลอดทุกยุคทุกสมัย ฟังกันตั้งแต่รุ่นปู่จนถึงรุ่นหลาน ไม่ใช่เพลง Pop ที่ชื่อก็บอกแล้วว่าเมื่อเลิกฮิตแล้ว ก็เลิกกัน

ถ้าจะว่าถึงราคาแผ่น Original ในตลาดสะสมแผ่นเสียงเพลง Jazz ในโลกเดี๋ยวนี้ ผมยังไม่เห็นว่าจะมีค่ายไหนกิน BLUE NOTE ลง ราคาแผ่น BLUE NOTE พิมพ์เดิม สภาพดีบางแผ่น ที่หายากมากๆ และเป็นที่นิยมสะสมในอันดับต้นๆ อย่าง Jutta Hipp with Zoot Sims (หมายเลข BLP 1530), Afro-Cuban/Kenny Dorham (BLP 1535), Lee Morgan Vol.3 (BLP 1557), Hank Mobley (BLP 1568), True Blue/Tina Brooks (BLP 4041), Cool Struttin/Sonny Clark (BLP 1588), Open Sesame/Freddy Hubbard (BLP 4040), หรือแผ่นยุคแรกบางแผ่นของ Johnny Griffin, Lee Morgan, Jackie McLean, Hank Mobley, Sonny Clark, และ Donald Byrd เหล่านี้ล้วนมีราคาค่างวดอยู่ระหว่าง 1,000-4,000 เหรียญสหรัฐฯ บางแผ่นที่ “สภาพดีมาก” ก็อาจขึ้นไปถึง 5,000 เหรียญฯ หรือกว่านั้น

เท่าที่เห็นจากการประมูลซื้อขายกันบนเว็บไซต์ eBay และราคาป้ายตามร้านขายแผ่นเสียงสะสม ในโตเกียวก็ดี หรือในนิวยอร์กก็ดี ผมคิดว่า แผ่นที่มีการซื้อขายกันในราคาสูงที่สุดของ BLUE NOTE เห็นจะเป็นแผ่นหมายเลข BLP 1530 ของ Jutta Hipp ที่ซื้อขายกันผ่าน eBay เมื่อวันที่ 14 เดือนมีนาคม พ.ศ.2548 ด้วยราคา 5,205 เหรียญฯ คิดเป็นเงินไทยในช่วงนั้น กว่าสองแสนบาท

แม้จะมีแผ่น Jazz จากค่ายอื่นบางแผ่น ที่ซื้อขายกันสูงกว่าแผ่น BLUE NOTE (เช่นแผ่น Jackie McLean ชุด New Tradition ของค่าย AD LIB) แต่เมื่อดูโดยภาพรวมแล้ว ราคาเฉลี่ยของแผ่น Blue Note Original ก็ยังสูงกว่าของค่ายอื่น เอาเป็นว่า ราคาต่อแผ่นรุ่นแรกๆ นั้น ต้องมี “หมึ่นขึ้น” ใครคิดจะเก็บแผ่น BLUE NOTE ให้ครบ ก็ต้องใช้เงินหลายล้านบาท เอาแค่เฉพาะแผ่น 12 นิ้ว Series 1500 ที่นิยมเก็บกันมากที่สุด จำนวน 98 แผ่น (ตั้งแต่ BLP 1501-BLP 1600 เว้น BLP 1592 ที่ไม่ได้ทำแผ่นเสียงออกขายในยุคนั้น และหมายเลข 1553 ที่ไม่ได้นำมาใช้กับศิลปินคนไหนเลย) ก็บานตะไทแล้ว ยังไม่นับ Series 4000 อีกกว่า 400 แผ่น และแผ่น 10 นิ้วรุ่นแรกอีกเกือบ 100 แผ่น อีกทั้งแผ่นญี่ปุ่นบางแผ่นที่นำเอา Un-issued Tape สมัย Alfred Lion มาทำเป็นแผ่นขายในยุคหลังอีกจำนวนหนึ่ง (ทั้งหมดนี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวโดยละเอียดในตอนต่อๆ ไป)

ลองคำนวณเอาเองก็แล้วกันครับว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ ถ้าต้องซื้อครบชุด (สมมติว่ามันมีให้ซื้อได้ด้วยนะครับ)

ผมเคยสงสัยและพยายามค้นคว้าหาข้อมูลและสอบถามจากนักสะสม BLUE NOTE ที่สะสมมานานว่า มันมีเหตุผลอะไรรองรับราคาที่แพงในระดับนั้น หรือมันเป็นเพียงภาวะ “ฟองสบู่” ที่ปั่นกันขึ้นไปโดยไม่มี “พื้นฐาน” รองรับ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับรอเวลา “ฟองสบู่แตก” เหมือนกับราคาหุ้นหรือที่ดินในช่วงเศรษฐกิจบ้าเลือด ที่มักจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ในโลกทุนนิยมใบนี้

จากการค้นคว้า สอบถาม และทดลองฟัง ผมพบว่าในบรรดาแผ่นเสียงที่อัดในยุคทศวรรษที่ 1950 และ 1960 ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีแผ่นประเภทปรุงแต่ง ที่เราเรียกกันภายหลังว่าแผ่น Audiophile นั้น ก็ต้องนับว่าแผ่น Blue Note โดยเฉลี่ยนั้น บันทึกเสียงได้ดีกว่าค่ายเพลง Jazz อื่นในยุคเดียวกัน โดยเฉพาะแผ่นใน Series 1500 และ Series 4000 ที่อัดโดย Rudy Van Gelder (RVG) วิศวกรประจำห้องอัดที่เป็นตำนานในสายเพลง Jazz และที่ปั๊มในโรงงานรุ่นแรกของบริษัท Plastylite ซึ่งใช้วัสดุชั้นดี จะมีเครื่องหมาย “P” ปั๊มไว้ที่ Dead Wax ของทั้งสองหน้า (เครื่องหมายตัว P นี้ เป็นตัวเขียนในแนวนอน ดูไปแล้วก็คล้ายรูปใบหู ดังนั้น ในหมู่นักสะสมแผ่น BLUE NOTE จึงเรียกเครื่องหมายนี้ว่า Ear)

การจัดวางตำแหน่งของนักดนตรีและไมโครโฟนนั้น ถือเป็นความลับที่ RVG ไม่เคยเปิดเผยเลยตลอดชีวิตของเขา ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์ที่เขาเคยให้ไว้เพียงครั้งเดียวว่า ยุคที่เขาบันทึกเสียงให้กับ BLUE NOTE และ PRESTIGE นั้น เขาต้องสร้าง Amplifier เองทั้งหมด เขาเล่าว่า เขาต้องฟังความเห็นของ Alfred Lion และนักดนตรีที่มาอัด ด้วยว่าพวกเขาต้องการให้เสียงปลายทางออกมาแบบไหน แล้วเขาก็พยายามทำออกมาแบบนั้น

นั่นจึงทำให้แผ่นเสียงของ BLUE NOTE ให้เสียงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้คนรุ่นหลังอย่างเรา สามารถแยกแยะ “น้ำเสียง” หรือ “สำเนียง” ของศิลปินแต่ละคนได้อย่างชัดเจน แม้จะเล่นเครื่องดนตรีชนิดเดียวกัน ดังนั้น Miles Davis กับ Donald Byrd กับ Lee Morgan กับ Clifford Brown ย่อมมีสำเนียงทรับเป็ตที่ต่างกัน เหมือนกับเสียงพูดของเพื่อนแต่ละคนที่หากเราได้ยิน ก็สามารถบอกได้ว่าเป็นใคร แม้จะยังไม่เห็นหน้าก็ตาม

อันนี้ นับว่าต่างกับแผ่นเสียง Audiophile ยุคหลัง ที่มักจะให้เสียงเครื่องดนตรีชนิดเดียวกัน ด้วยสำเนียงที่คล้ายกันจนแยกไม่ออก ดังนั้น หากเป็นศิลปินที่มีสไตล์ใกล้เคียงกันแล้ว เรามักจะแยกยาก ว่าใครเป็นใคร

ว่ากันว่า Alfred Lion เจ้าของค่าย BLUE NOTE จะนัดนักดนตรีทุกคนมาเล่นพร้อมกันในห้องอัดที่ RVG ออกแบบและจัดวางไว้แล้วเป็นอย่างดี โดยจะออกเงินค่าจ้างให้ซ้อมก่อนบันทึกเสียงจริงสองวัน ดังนั้นเมื่อฟังแผ่น BLUE NOTE แล้ว เราจะได้ “บรรยากาศ” ของดนตรีแบบเต็มๆ ไม่มีการปรุงแต่งเหมือนสมัยหลัง ที่นักดนตรีต่างคนต่างอัด แล้วค่อยนำมา Mix ทีหลัง และการซ้อมก่อนเพียงสองวัน ก็มีข้อดีที่ทำให้เกิดความลงตัวของดนตรี ไม่อิสระแบบต่างคนต่างเล่นกันสดๆ แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นแบบแผนเสียจนเกินไป

ข้อนี้นับว่าต่างกับค่าย PRESTIGE คู่แข่งสำคัญของ BLUE NOTE ที่นิยมให้อัดกันสดๆ โดยไม่ต้องซ้อมกันมาก่อน และในขณะอัดเสียงนั้น Alfred Lion เจ้าของค่าย BLUE NOTE จะต้องมาดูแลด้วยตัวเองทุกครั้ง และเนื่องจากเขาเป็นคนเข้มข้นในเรื่องคุณภาพ เขาจะขอให้นักดนตรีเล่นอีก Take เสมอ ถ้าการเล่นครั้งแรก ไม่เป็นที่น่าพอใจ แล้วเขาก็จะเลือกเอา Take ที่ดีที่สุดมาทำเป็นแผ่นเสียงขาย

เมื่อไม่นานมานี้ มีการค้นพบ Master Tape จำนวนมากที่ถูก Lion คัดทิ้ง และค่าย BLUE NOTE ปัจจุบัน (ซึ่งเป็นของ EMI) ก็ได้เอามาอัดลงซีดีขาย โดยเพิ่ม Alternative Take เข้าไป เพื่อเป็นกำนัลผู้ฟัง เราจึงได้รู้ว่า ท่อน Solo หรือ “ท่อนแยก” ของแต่ละ Take นั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แม้จะเป็นเพลงๆ เดียวกันก็ตาม

นั่นแหละ คือธรรมชาติของเพลง Jazz ที่แม้จะเล่นโดยคนๆ เดียวกัน แต่เพลงที่ออกมาแต่ละครั้งก็จะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของศิลปินในช่วงนั้นจะพาให้พวกเขา “ด้น” (Improvise) ไปทางใด

ขอแนะนำให้ลองฟังแผ่นซีดีชุด BLUE TRAIN ของ John Coltrane ซึ่ง Rudy Van Gelder เป็นคนเอามาสเตอร์ที่ตัวเองเคยอัดสมัยโน้นมา Re-master ใหม่ เพื่อเปรียบเทียบเพลง Blue Train ของเก่าที่เราเคยคุ้นหูมานาน กับ Take ที่เพิ่งค้นพบ เราจะพบว่ามันต่างกันมากในรายละเอียด ทว่า นักดนตรีทุกคนก็ผลัดกัน Solo ได้ดีมากๆ ในทั้งสอง Take ไม่ว่าจะเป็น Lee Morgan, Curtis Fuller, Kenny Drew, Paul Chamber, Philly Joe Jones, และตัว John Coltrane เอง

นักวิจารณ์จำนวนมาก ยกย่องว่า วันที่บันทึกเสียงวันนั้นพวกเขาสามารถเล่นดนตรีกันได้ในระดับดีเลิศ ดีถึงขนาดสูงสุดที่ฝีมือมนุษย์จะอนุญาตให้ทำได้ภายใต้เครื่องดนตรีที่แต่ละคนใช้ ผมจึงไม่แปลกใจที่มีคนเขียนประวัติ BLUE NOTE แล้วบันทึกไว้ว่า Alfred Lion ชื่นชมแผ่นเสียงชุดนี้มาก แม้ตอนตาย ก็ให้วางไว้ที่หลุมศพด้วย และแผ่นนี้ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ 1 ใน 3 ของตัว John Coltrane เอง ที่แม้จะฝากผลงานในฐานะผู้เล่นนำ (Leader) ไว้ให้ค่าย BLUE NOTE แค่เพียงชุดเดียว แต่ก็ถือเป็น “เพชรน้ำเอก” ของวงการ Jazz ตลอดกาล

เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้แผ่น BLUE NOTE มีราคาแพงนอกจากเอกลักษณ์ของเสียง ก็คือตัว “ดนตรี” ที่อัดอยู่ในร่องเสียงเหล่านั้น

นักดนตรีของ BLUE NOTE สมัยนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นนักดนตรีชั้นเยี่ยมของโลก หลายคนได้มีส่วนสร้างคุณูปการสำคัญต่อวงการ Jazz ของโลก แผ่นเสียงหลายแผ่นของ BLUE NOTE มีส่วนหันเหทิศทางของดนตรี Jazz ในช่วงนั้นๆ

ในยุค Hard Bob และ Free Jazz นั้น นอกจากค่าย PRESTIGE แล้ว ก็ต้องถือว่า BLUE NOTE มีคุณูปการมากที่สุด คือได้อัดแผ่นเสียงไว้มากกว่า 500 ชุด ซึ่งหลายชุดในจำนวนนั้น ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็น “หมุดหมาย” หรือ Milestone สำคัญที่มีส่วนหักเหประวัติศาสตร์วงการ Jazz โลก ถึงแม้ว่า BLUE NOTE จะเป็นค่ายเพลงอิสระ เล็กๆ ก็ตาม ทว่า นักดนตรีที่เคยบันทึกเสียงกับ BLUE NOTE สมัยนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นนักดนตรีที่ได้รับยกย่องในเวลาต่อมาว่ามีฝีมืออยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ชื่อชั้นของพวกเขาล้วนเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ดนตรี Jazz ไม่ว่าจะเป็น Thelonious Monk, Bud Powell, Horace Silver, Sonny Rollins, John Coltrane, Elmo Hope, Art Blakey, Miles Davis, Lee Morgan, Hank Mobley, Jackie McLean, Donald Byrd, Kenny Drew, Joe Henderson, Freddy Hubbard, Kenny Burrell, Grant Green, Jimmy Smith, Thad Jones, Ornette Coleman, Kenny Dorham, Herbie Hancock, หรือ Clifford Brown



ข้อนี้นับว่าต่างจากแผ่นเสียงประเภท Audiophile ในยุคหลังที่บันทึกเสียงได้ดีมาก แต่เกิดมาไม่ทันยุคที่ Jazz กำลังรุ่งเรือง ก็เลยไม่มีโอกาสได้บันทึกเสียงของนักบุกเบิกผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการ Jazz ที่กล่าวมานั้น จะมีก็เพียงผลงานของนักดนตรีในยุคหลัง ที่นำเอาเพลงของศิลปินรุ่นก่อนมาบันทึกเสียงใหม่ เสียเป็นส่วนใหญ่

เหตุผลข้อนี้แหละ ที่สามารถใช้อธิบายได้ว่า เหตุใดราคาแผ่น BLUE NOTE ฉบับดั้งเดิม จึงแพงกว่าแผ่น Audiophile ทั้งๆ ที่แผ่นกลุ่มหลังนี้บันทึกเสียงได้ทันสมัยกว่า

เพราะ ถ้าเกิดอยากจะฟังเพลงของ Monk สักเพลงหนึ่ง คนส่วนใหญ่ก็คงอยากจะฟังที่ Monk บรรเลงเอง มากกว่าที่ศิลปินยุคหลังนำมาเล่น ไม่ว่าเพลงนั้นจะบันทึกเสียงได้ดีกว่าสักเพียงใดก็ตาม

อีกข้อหนึ่ง นอกจากดนตรีและคุณภาพเสียงแล้ว องค์ประกอบเชิงศิลปะก็เป็นอีกประการหนึ่งที่ทำให้แผ่น BLUE NOTE เป็นที่ต้องการ การออกแบบปก และการเลือกภาพปกแผ่นเสียงของ BLUE NOTE นับว่ามีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง และทำได้อย่างมี Class มาก ถึงแม้ว่าจะเอา “คนดำ” ซึ่งสมัยนั้นยังถือว่าเป็นชนชั้นล่าง มาขึ้นปกก็ตามที

เบญจภาคี BLUE NOTE

จากการสังเกตและสอบถามนักสะสมหลายชาติ ผมพอจะประมวลได้ว่าแผ่น BLUE NOTE พิมพ์เดิมซึ่งเป็นที่นิยมและหายากมากๆ ในอันดับต้นๆ นั้น น่าจะไม่พ้นแผ่นโมโน 5 แผ่นต่อไปนี้

1. COOL STRUTTIN’

COOL STRUTTIN’ เป็นอัลบั้มเพลงของค่าย BLUE NOTE ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดชุดหนึ่ง และเป็นอัลบั้มที่มีการนำมาทำใหม่ หรือ Reissue อย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแผ่นเสียง เทป และซีดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่นนั้น COOL STRUTTIN’ ได้รับการนำมาทำใหม่อย่างถี่ยิบ และถือกันว่าเป็น TOP 3 ของดนตรี Hard Bob ตลอดกาล

COOL STRUTIN’ ใช้หมายเลข 1588 ประจำแค็ตตาล็อกของ BLUE NOTE (โดยแผ่นโมโนใช้ BLP 1588 และแผ่นสเตอริโอใช้ BST 1588) บันทึกเสียงเมื่อวันที่ 5 เดือนมกราคม พ.ศ. 2501 มีทั้งหมด 4 เพลง คือ Cool Strutin’, Blue Minor, Sippin’ At Bells, และ Deep Night แบ่งเป็นหน้าละสองเพลงตามลำดับ

ดนตรีของ COOL STRUTTIN’ นั้น ฟังแล้วสมชื่อ โดยเฉพาะเพลงแรกซึ่งใช้จังหวะ Blue 24 ห้อง (12/12) ฟังแล้วก็ให้จินตนาการถึงจังหวะก้าวของสาวสวยที่เดินอย่างทระนง ทุกเพลงในชุดนี้ ฟังง่าย ไม่ซับซ้อน ศิลปินทุกคนเล่นได้ดีอย่างเข้าขา ทั้ง Sonny Clark (เปียโน) Art Farmer (ทรัมเป็ต) Jackie McLean (อัลโตแซ็กโซโฟน) Paul Chambers (เบส) และ Philly Joe Jones (กลอง)

แม้ว่า เมื่อบันทึกเสียงในครั้งนั้น ทุกคนจะยังไม่โด่งดังมาก ทว่า มาถึงวันนี้ พวกเขาเหล่านั้น ต่างก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินเอกชั้นแนวหน้าของโลก ที่ได้มีส่วนกำหนดและหันเหทิศทางของดนตรีแจ๊ส ตัว Sonny Clark เอง แม้จะอายุสั้น เพราะเสียชีวิตจากการเสพยาเมื่ออายุได้เพียง 31 ปี แต่ก็ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเปียโนแจ๊สรุ่นหลังเป็นจำนวนมาก

Fred Cohen แห่ง Jazz Record Center อันโด่งดังในหมู่นักสะสมเพลงแจ๊ส เล่าให้ผมฟังในช่วงบ่ายของวันหนึ่งว่า ในรอบสิบกว่าปีมานี้ นักสะสมแผ่นเสียงจากญี่ปุ่น ได้กว้านซื้อแผ่นเสียงชุด COOL STRUTTIN’ ยุคแรก ไปเป็นจำนวนมาก (เขาใช้คำว่า Corner Market) จนทำให้ราคาแผ่น “พิมพ์เดิม” หรือ “แผ่นออริจินัล” (Original first pressing) พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยิ่งนักสะสมฝรั่ง หันกลับมาซื้อแข่งในระยะหลังด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ระดับราคาเขยิบขึ้นไปอยู่ในระดับที่ยากแก่คนทั่วไปจะเอื้อมถึง

“แผ่นพิมพ์เดิมที่สภาพดี เคยขายกันเมื่อเร็วๆ นี้ กว่า 3,600 เหรียญฯ” เขากล่าว

ลักษณะหนึ่งของแผ่นพิมพ์เดิมที่เขาหมายถึงนั้น ก็คือต้องพิมพ์บ้านเลขที่ 767 Lexington Avenue NYC (ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานยุคแรกๆ ของ BLUE NOTE) ไว้บนตราแผ่นเสียงทั้งสองข้างนั่นแหละ (นอกจากบ้านเลขที่แล้ว นักสะสมยังต้องดูตำหนิอื่นประกอบอีกหลายอย่าง เช่นร่องลึกรูปวงแหวนบนตราทั้งสองด้าน ริมแผ่นเสียงเป็นแบบริมเรียบ หรือ Flat Edge ตลอดจนเครื่องหมาย P และ RVG ที่ Dead Wax ซึ่งมีรายละเอียดมากมาย ที่ผมจะกล่าวถึงในบทความต่อๆ ไป)

เห็นหรือยังครับว่า ทำไมคอแจ๊สญี่ปุ่นถึงต้องพากันไปแสวงบุญที่ 767 Lexington กันในปัจจุบัน

อันที่จริงในการบันทึกเสียงวันนั้น ศิลปินทั้งสี่ยังได้บรรเลงไว้อีก 2 เพลง คือ Royal Flush และ Lover ซึ่งตอนแรกกะว่าจะนำไปรวมกับอีก 3 เพลง ที่ Sonny Clark ได้บันทึกเสียงไว้ก่อนหน้านั้น (กับ Cliff Jordan มือเทนเนอร์แซ็กโซโฟน, Kenny Burrell มือกีตาร์, Paul Chamber มือเบส, และมือกลอง Pete LaRoca) แล้วออกเป็นแผ่นหมายเลข BLP 1592 แต่ไม่ทราบด้วยเหตุใด แผ่นเสียงแผ่นนี้จึงไม่ได้ทำออกขาย จนกระทั่งปี 2529 ที่ Toshiba-EMI นำมาทำออกขายในญี่ปุ่น โดยใช้หมายเลขแผ่น LNJ-70093 ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นแผ่นหายาก และเป็นเป้าหมายของนักสะสม BLUE NOTE เช่นกัน

LNJ-70093 มีทั้งหมด 5 เพลงคือ หน้าแรก Minor Meeting, Eastern Incident, Little Sonny และหน้าสอง Royal Flush และ Lover

2. JUTTA HIPP WITH ZOOT SIMS

ที่จริงแล้ว Jutta Hipp (ออกเสียงเป็น “อุตตา ฮิบ”) เป็นนักเปียโนแจ๊สหญิง เชื้อสายเยอรมัน เธอเกิดในเยอรมนีตะวันออก แต่ข้ามฟากมาอยู่นิวยอร์กโดยความช่วยเหลือของ Leonard Feather นักเขียนและนักวิจารณ์ดนตรีแจ๊สชื่อดัง เพื่อให้เธอมาเปิดการแสดงที่คลับชื่อ Hickory House ในช่วง พ.ศ. 2499 ซึ่งบางส่วนของการแสดงครั้งประวัติศาสตร์นั้น BLUE NOTE ก็ได้บันทึกเสียงไว้ และทำเป็นแผ่นเสียงออกจำหน่ายในชื่อชุดว่า JUTTA HIPP AT THE HICKORY HOUSE VOL.1 (หมายเลข BLP 1515) และ JUTTA HIPP AT THE HICKORY HOUSE VOL. 2 (หมายเลข BLP 1516) ซึ่งปัจจุบันก็ได้กลายเป็นแผ่นหายากและมีราคาแพงเช่นเดียวกัน (ผมเคยเห็นร้านขายแผ่นเสียงมือสองที่โตเกียวตั้งราคาขายกว่าหกหมึ่นบาทสำหรับ BLP 1515 และกว่าแปดหมึ่นบาทสำหรับ BLP 1516) ครั้งนั้นเธอจับคู่กับ Peter Ind มือเบส และ Ed Thigpen มือกลอง โดยที่ต่อมา Ahmed Abdul-Malik มือเบสฝีมือพระกาฬคนหนึ่งของวงการแจ๊ส ได้เข้ามาแทนที่ Ind

สำหรับอัลบั้มชุด JUTTA HIPP WITH ZOOT SIMS (BLP 1530) นั้น ถือกันว่าเป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดของเธอ ทั้งนี้เพราะเธอได้ร่วมเล่นกับ Zoot Zims และเล่นกันได้อย่างลงตัวมาก Zoot Zims เป็นศิลปิน Tenor Saxophone ผิวขาว ที่ชื่อชั้นไม่ได้ด้อยไปกว่าศิลปินผิวหมึกชั้นแนวหน้าอย่าง Sonny Rollins, John Coltrane, Coleman Hawkins, Dexter Gordon, Lester Young, หรือ Hank Mobley สำเนียงของ Zoot Zims เป็นสำเนียงสนุกสนานเฉพาะตัวแบบสวิง โดยที่อัลบั้มชุดนี้ นับเป็นการบันทึกเสียงเพียงครั้งเดียวที่ Zoot Zims ทำให้กับ BLUE NOTE

อัลบั้มชุดนี้ บันทึกเสียงเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2499 โดย Jutta Hipp เล่นเปียโน, Jerry Lloyd ทรัมเป็ต, Zoot Sims เทนเนอร์แซ็กโซโฟน, Ahmed Abdul Malik เบส, และ Ed Thigpen กลอง มีทั้งหมด 6 เพลงคือ Just Blues, Violets For Your Furs, Down Home, Almost Like Being In Love, Wee-Dot, และ Too Close For Comfort

ก่อนหน้านั้น Jutta Hipp เคยออกอัลบั้มกับ BLUE NOTE มาแล้วชื่อ NEW FACES – NEW SOUNDS FROM GERMANY/THE JUTTA HIPP QUINTET (เป็นแผ่นขนาด 10 นิ้ว หมายเลข BLP 5056) ซึ่งบันทึกเสียงที่เมือง Frankfurt ประเทศเยอรมนี เมื่อ พ.ศ. 2497

ว่ากันว่า หลังจากออกอัลบั้ม JUTTA HIPP WITH ZOOT ZIMS ได้ไม่นาน เธอก็หายตัวไปอย่างลึกลับ แม้แต่คนของ BLUE NOTE ก็ตามหาเธอไม่พบ เมื่อพวกเขาต้องการจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพลงให้กับเธอ เพิ่งมารู้ภายหลังว่า เธอตัดสินใจเลิกเล่นดนตรี หันมาวาดรูป และภายหลังกลายมาเป็นช่างตัดเสื้อ

คนของ BLUE NOTE เพิ่งจะหาตัวเธอพบที่บรู้กลินเมื่อปี 2543 นี้เอง และได้มอบเงินค่าสิทธิ์เพลงย้อนหลังให้กับเธอถึง 40,000 เหรียญฯ โดยหลังจากนั้นเพียง 3 ปี เธอก็เสียชีวิต สิริอายุได้ 78 ปี

สรุปแล้ว เธอมีผลงานกับ BLUE NOTE เพียง 4 ชุด ทุกชุดได้กลายเป็นของล้ำค่าที่นักสะสม BLUE NOTE ต่างแสวงหา แผ่น Original ทั้ง 4 นี้ ล้วนต้องลงบ้านเลขที่ 767 LEXINGTON AVENUE NYC ไว้บน Label ทั้งสองด้าน และมีตำหนิอื่นเช่นเดียวกันกับ COOL STRUTIN’ ที่ได้กล่าวมาแล้ว

คิดดูอีกทีก็แปลก ผลงานศิลปะดีๆ มักไม่ค่อยได้รับความสนใจตอนที่ตัวศิลปินผู้สร้างงานยังมีชีวิตอยู่

เมื่อไม่นานมานี้ มีการค้นพบ Master Tape ของการบันทึกเสียงครั้งนั้นที่ถูกคัดทิ้ง เราจึงได้รู้ว่า ยังมีเพลงเพราะๆ ของ JUTTA HIPP กับ ZOOT ZIMS อีก 2 เพลง ที่คนยุคก่อนไม่มีโอกาสได้ผ่านหู คือเพลง Those Foolish Things และ Z’s Wonderful

ผู้สนใจ หาฟังได้จากชุด THE OTHER SIDE OF BLUE NOTE 1500 SERIES โดย Toshiba EMI ที่ออกจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น (หมายเลข BNJ 61009)

3. HANK MOBLEY

เป็นที่รับรู้กันในหมู่นักสะสม BLUE NOTE ว่าแผ่นของ Hank Mobley เบอร์ BLP 1568 นี้ เป็นแผ่นที่หายากมาก มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ สำหรับนักสะสม ราคาไม่ต้องพูดถึง เคยประมูลกันบน eBay มาแล้วกว่า 5,000 เหรียญฯ เช่นกัน

Hank Mobley เป็นนักเป่า Tenor Saxophone ที่มีสำเนียงเสียงเป็นกลางๆ กลมๆ อยู่กึ่งกลางระหว่าง Sonny Rollins และ John Coltrane สำเนียงเสียงของ Hank นั้นไพเราะ นิ่มนวล และกลมกลืนกับสำเนียงของเครื่องดนตรีชนิดอื่นที่บรรเลงร่วมกัน ไม่เหมือนกับสำเนียงเสียงของ Sonny Rollins ที่โดดออกมาอย่างเด่นชัด กลืนกินสำเนียงเสียงของเพื่อนร่วมวงเสียสิ้น สำเนียงเสียง Tenor Saxophone ของ Sonny Rollins นั้น ถ้าเปรียบเป็นพระเอก ก็เป็นแบบ “ข้ามาคนเดียว” ส่วนของ Hank Mobley นั้น เป็นพระเอกแบบที่ต้องอาศัย Teamwork หรืออาศัยเพื่อนร่วมวงหนุนส่งและในขณะเดียวกันก็หนุนส่งเพื่อนร่วมวงในเวลาเดียวกัน แต่ถ้าเป็นสำเนียงเสียงของ John Coltrane ก็ต้องเปรียบว่าเป็น “พระเอกหนังคาวบอย” ดุดัน ห้วน และเด็ดขาด ไม่อิดออด อิดเอื้อน แม้แต่น้อย

Hank Mobley ถูกรัศมีของทั้ง Rollins และ Coltrane บดบังอยู่ตลอดสมัยที่เขายังมีชีวิตอยู่ แม้เขาจะเคยเล่นกับนักดนตรีระดับพระกาฬจำนวนมาก เคยเล่นประจำกับวงของ Miles Davis ด้วย แต่ก็ไม่ดังเท่าที่ควร เขามาโด่งดังเอาตอนบั้นปลายของชีวิต นักฟังญี่ปุ่นเริ่มค้นพบความสามารถในการแต่งเพลงของเขาและความไพเราะของสำเนียงแบบ Hank จึงได้กว้านซื้อแผ่นเสียงของเขาอย่างบ้าคลั่ง ทำให้ราคาแผ่นของเขา โดยเฉพาะที่ออกโดยค่าย Blue Note, Prestige, และ Savoy พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

เมื่อ พ.ศ. 2529 สมัยที่ Toshiba-EMI เริ่มฟื้นฟู Blue Note ขึ้นมาอีกครั้ง โดยจัดคอนเสิตร์ Mount Fuji Jazz Festival with Blue Note ขึ้นเป็นครั้งแรกที่เชิงเขาฟูจิ ประเทศญี่ปุ่นนั้น Alfred Lion กลับมาปรากฏตัวเป็นครั้งสุดท้าย รวมถึงนักดนตรีคนสำคัญของ Blue Note ในอดีตที่ยังมีชีวิตอยู่ในช่วงนั้น ล้วนแบกสังขารมาบรรเลงเพื่อเป็นเกียรติ์กับเขา ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของ Michael Cuscuna ผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นคืนชีพของ Blue Note พบว่า Hank Mobley อยากมาร่วมเล่นกับพรรคพวกสมัยก่อนมาก แต่สุดท้ายเขาก็มาไม่ได้ เพราะสังขารไม่อำนวย และหลังจากนั้นไม่นาน เขาก็เสียชีวิตลง ไล่ๆ กับ Alfred Lion ผู้ปั้นเขาขึ้นมา หลังจากเขาตายลง ชื่อเสียงของเขายิ่งขจรขจายในฐานะนักดนตรี Jazz ผู้ยิ่งใหญ่ เขายิ่งดังกว่าตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ น่าเสียดายที่เขาไม่ได้อยู่ดูว่าแผ่นเสียงของเขาแต่ละแผ่นมีค่ายิ่งกว่าทองหรือแม้กระทั่งเพชรด้วยซ้ำไป

นักวิจารณ์หลายคน ลงความเห็นว่าแผ่น BLP 1568 นี้ เป็นผลงานชิ้นสำคัญมากของ Blue Note เพราะนอกจากจะรวมนักดนตรี Hard Bob ชั้นแนวหน้าอย่าง Hank Mobley, Sonny Clark, Paul Chamber, และ Art Tayler ไว้ด้วยกันแล้ว ยังได้ Curtis Porter มาเป่า Alto Saxophone และได้ Bill Hardman มาเล่นทรัมเป็ต อัลบั้มนี้มีเพลงเพราะๆ ที่มีเสียงแซ็กโซโฟนสองตัวบรรเลงด้วยกัน ทั้งหมด 5 เพลง คือ Might Moe and Joe (แต่เพื่อเป็นเกียรติ์กับมือเบส Ollie Mohammed และมือเทนเนอร์แซ็กโซโฟน Joe Alexander), News, Bags’ Groove, Double Exposure, และ Falling in Love with Love บันทึกเสียงเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2500

แผ่น BLP 1568 ล็อตแรกจะลงบ้านเลขที่ไม่เหมือนกันบน Label ทั้งสองด้าน ว่ากันว่า ตอนที่พิมพ์แผ่น BLP 1568 รอบแรกจากตัวแม่พิมพ์นั้น มีจำนวนเพียง 500 แผ่นเท่านั้นเอง โดยที่ 200 แผ่นแรก จะมี New York 23 ต่อท้ายบ้านเลขที่บน Label ของหน้า 2 (Side 2) แต่หน้า 1 (Side 1) นั้น คงเป็น 47 West 63rd NYC ตามปกติ ส่วน 300 แผ่นหลังในการพิมพ์รอบแรกเดียวกันนั้น จะมี Label เหมือนกันทั้งสองด้าน โดยไม่มี New York 23 ต่อท้าย และที่น่าสนใจก็คือ แผ่นเบอร์นี้ ไม่เคยปั๊มเป็นแบบ “ขอบเรียบ” หรือ Flat Edge เลย หรืออย่างน้อยในหมู่นักสะสมทั่วโลกก็ยังไม่เคยมีใครพบว่ามีเวอร์ชั่นที่เป็น Flat Edge มาก่อน

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีข่าวลือขึ้นในหมู่นักสะสมทั่วโลกว่า มีคนค้นพบแผ่น BLP 1568 ที่มี New York 23 ต่อท้ายบ้านเลขที่บน Label ทั้งสองด้านเหมือนกัน โดยที่แผ่นดังกล่าวเป็นแผ่นที่เรียกว่า Review Copy” หรือแผ่นทดสอบที่ Blue Note ส่งให้กับ DJ สถานีวิทยุก่อนที่จะออกขายจริง แต่ทว่า ก็ยังไม่มีใครยืนยันว่าข่าวลือดังกล่าวเป็นความจริง

กรณีของแผ่นเบอร์ BLP 1568 นี้ นับเป็นข้อยกเว้นข้อหนึ่งที่สำคัญสำหรับนักสะสม เพราะกลายเป็นว่า แผ่นที่ติด Label ทั้งสองด้านต่างกัน กลับมีราคาแพงกว่าแผ่นที่มี Label เหมือนกันทั้งสองด้าน แต่เนื่องจากแผ่นนี้เป็นแผ่นหายาก เพลงไพเราะ และบันทึกเสียงดี ราคาจึงต่างกันไม่มากนัก สำหรับแผ่นล็อตแรกดังกล่าว

4. LEE MORGAN VOLUME 3

ใครๆ ก็รู้ว่า Miles Davis นั้น เป็นคน “ปากเสีย” แต่ไมล์เคยกล่าวยกย่องนักทรัมเป็ตแจ๊สรุ่นหลังไว้บ้างบางคน Clifford Brown กับ Lee Morgan คือสองคนที่ไมล์ชื่นชม ทั้งสองคนนั้นโด่งดังเมื่ออายุยังน้อย และตายเมื่ออายุยังน้อยเช่นเดียวกัน

Lee Morgan เริ่มบันทึกเสียงในฐานะหัวหน้าวง (Leader) เมื่ออายุเพียง 18 ปีเท่านั้น อัลบั้มยุคแรกของเขาทั้งที่สังกัด BLUE NOTE และ SAVOY ล้วนมีค่ามหาศาลในสายตานักสะสมปัจจุบัน ในช่วงปลายปี 2499 จนถึงต้นปี 2501 นั้น เขาได้บันทึกเสียงกับ BLUE NOTE ในฐานะหัวหน้าวงถึง 6 ครั้งด้วยกัน นั่นแสดงให้เห็นว่า Alfred Lion เชื่อมั่นในตัวเด็กอายุ 18 คนนี้มาก

แผ่นเสียง “พิมพ์เดิม” ยุคแรกของหกอัลบั้มดังว่า ที่ยังคงสภาพดี เคยซื้อขายกันกว่า 1,000 เหรียญฯ ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น Indeed! (Blue Note 1538), Lee Morgan Vol.2 (Blue Note 1541), Lee Morgan Vol.3 (Blue Note 1577), City Lights (Blue Note 1575), The Cooker (Blue Note 1578), และ Candy (Blue Note 1590)

Lee Morgan Vol.3 (BLP 1577) ดูเหมือนจะเป็นเพชรกลางมงกุฎในบรรดาเพชรทั้งปวง แผ่นล็อตแรกของอัลบั้มชุดนี้ ออกขายเฉพาะเวอร์ชั่นโมโน บน Label ทั้งสองข้าง ต้องลงบ้านเลขที่ 47 West 63rd และต้องมี New York 23 ต่อท้ายด้วย อัลบั้มนี้ บันทึกเสียงเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2500 มีทั้งหมด 5 เพลงคือ Hasaan’s Dream, I Remember Clifford, Mesabi Chant, Tip-Toeing, และ Domingo ร่วมบรรเลงโดย Gigi Gryce (อัลโตแซ็กโซโฟนและฟรุ้ต), Wynton Kelly (เปียโน), Paul Chambers (เบส), Charlie Persip (กลอง), และ Benny Golson (เท็นเนอร์แซ็กโซโฟน) ซึ่งเป็นคนแต่งและเรียบเรียงเพลงทั้งหมดในชุดนี้ด้วย

สำเนียงทรัมเป็ตของ Lee Morgan ในอัลบั้มชุดนี้ต่อเนื่อง หลายเฟสยาวๆ ฟังแล้วจะขาดใจ แต่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังล่องลอยไปที่ไหนสักแห่งบนก้อนเมฆ สำเนียงของเขาไม่โดดเดี่ยวหรือเจ็บปวด ไม่ดัง ไม่ค่อย พอดีๆ ฟังสบายๆ คล้ายๆ กับที่เขาเคยโซโลให้กับ John Coltrane ในอัลบั้ม BLUE TRAIN (Blue Note 1577) นั่นแหละ

เพลง I Remember Clifford ที่แต่งกันขึ้นเพื่อรำลึกถึง Clifford Brown ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตได้ไม่นาน และตอนหลังมีศิลปินหลายคนนำไปบรรเลงอย่างแพร่หลายนั้น ปรากฏเป็นครั้งแรกใน BLP 1577 นี้เอง

Lee Morgan เสียชีวิตเพราะถูกภรรยาตัวเองยิงที่คลับแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก เมื่อ พ.ศ. 2515 สิริอายุได้เพียง 33 ปี กระนั้นก็ตาม ในช่วงชีวิตของเขา เขาก็ได้บันทึกเสียงในฐานะผู้นำวงไว้กับค่าย BLUE NOTE ถึง 25 อัลบั้ม

5. TRUE BLUE

Tina Brooks หรือชื่อจริง Harold Floyd Brooks เป็นศิลปินอีกคนหนึ่งที่อาภัพในเรื่องชื่อเสียง ระหว่างที่มีชีวิตอยู่ เขาไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ทั้งๆ เขามีความสามารถมาก ทั้งในเชิงของการแต่งเพลง เรียบเรียงเสียงประสาน และปฏิบัติเครื่องดนตรี สำเนียงเทนเนอร์แซ็กของเขา เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป่าได้เหมือนน้ำไหล เพลงของเขาแทบทุกเพลง ฟังง่าย เพลิน เพราะ แต่ซับซ้อนในเชิงเทคนิค

TRUE BLUE (Blue Note หมายเลข 4041) เป็นเพียงอัลบั้มเดียวของเขาที่มีโอกาสได้ออกจำหน่าย แต่ยอดขายก็ไม่ดี ทำให้อัลบั้มต่อมา BACK TO THE TRACK (Blue Note 4052) ถูกระงับ ถึงแม้จะบันทึกเสียงกันไว้ และบรรจุลงในแค็ตตาล็อกของ BLUE NOTE แล้ว

เขาต้องรอจนถึงปี 2528 หลังจากเสียชีวิตอย่างไร้ชื่อถึง 11 ปี กว่าที่ Michael Cuscuna แห่ง MOSAIC RECORDS จะนำเอาผลงานทั้งหมดของเขา มารวมออกจำหน่ายในชุด THE COMPLETE BLUE NOTE RECORDINGS OF THE TINA BROOKS QUINTETS และก็ได้รับความนิยมสูงมาก แบบที่ Cuscuna เอง ก็ไม่ได้คาดคิดมาก่อน หลังจากนั้น นักสะสมรุ่นใหม่ก็เริ่มตามเก็บผลงานของเขาอย่างไม่ลดละ และก็แน่นอน ที่เป็นตัวผลักดันราคาแผ่น Original อีกตามเคย แผ่นเสียงแผ่นนี้เคยซื้อขายกันกว่า 5,000 เหรียญฯ มาแล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในหมู่นักสะสม BLUE NOTE และคอแจ๊สในเชิงลึกแล้ว อัลบั้ม TRUE BLUE เป็นอัลบั้มในดวงใจของพวกเขามาตลอด Robert Palmer ยกย่องอัลบั้มนี้ว่าเป็นผลงานชั้นแนวหน้าของ BLUE NOTE ที่ลงตัวในทุกด้าน โดยเฉพาะเสียงประสานระหว่างทรัมเป็ตของ Freddie Hubbard และเสียงแซ็กของ Brooks เอง ใครที่ชอบอัลบั้มชุด OPEN SESAME (Blue Note 4040) ซึ่งเป็นอัลบั้มแรกในชีวิตของ Hubbard และได้รับการยกย่องอย่างมาก ย่อมชอบ TRUE BLUE เช่นกัน เพราะ Brooks ช่วยแต่งเพลงให้ Hubbard ในชุดนั้นถึง 3 เพลง และก็ร่วมบันทึกเสียงด้วยกัน

นอกจากนั้น TRUE BLUE ยังได้ Duke Jordan มือเปียโนเก่าของ Charlie Parker และ Sam Jones มือเบส ตลอดจน Art Taylor มือกลอง มาร่วมงานอีกด้วย อัลบั้มนี้ บันทึกเสียงเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2503 มีทั้งหมด 6 เพลงคือ Miss Hazel, Good Old Soul, Nothing Ever Changes My Love For You, True Blue, Up Tight’s Creek, และ Theme For Doris

แผ่นเสียงล็อตแรกของแผ่นนี้จะต้องลงบ้านเลขที่ 47 West 63rd Street บน Label ทั้งสองข้าง และเป็นแผ่นโมโนเท่านั้น คือใช้รหัส BLP 4041

Epilogue

อันที่จริง ยังมีอัลบั้มอื่นอีกหลายอัลบั้มที่นักสะสมนิยมเก็บกันมาก การที่ผมเลือกมาเพียง 5 อัลบั้ม นั้นเป็นการเลือกของผมเอง แต่ถ้าถามนักสะสมหลายๆ คน อาจมีความเห็นต่างไป ทว่า อย่างไรก็ตาม หากถามความเห็นพวกเขาว่าให้ลองเลือก BLUE NOTE TOP 10 มาให้เราดู ผมก็เชื่อว่า 5 อัลบั้ม ที่ผมเลือกมานั้น ติดอยู่ในโผของแต่ละคนด้วยอย่างแน่นอน

เรื่องราวของการสะสมแผ่นเสียง BLUE NOTE นั้น มีมากและซับซ้อน ผมจึงใคร่ขอเริ่มต้นด้วยการปูความเข้าใจในแนวทางนี้ก่อนที่จะเริ่มกล่าวถึงแผ่นเสียงในแต่ละยุค และตำหนิของแผ่นแต่ละยุค ตลอดจนประวัติของการบันทึกเสียงและนักดนตรี ที่นักสะสมจำเป็นต้องรู้

พบกันใหม่ฉบับหน้า

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
16 พฤศจิกายน 2549
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Audiophile ฉบับเดือน ธันวาคม พ.ศ.2549