วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2554

คีตกรรมในโบสถ์


ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจศึกษาชีวิตและผลงานของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของท่านที่ร่างไว้ใน เค้าโครงเศรษฐกิจฯ และการก่อรัฐประหารในคราว กบฏวังหลวง ก็ตาม


ในความเห็นของผม เอกสารที่ดีที่สุดและเป็นตัวของตัวเองมากที่สุดที่ท่านร่างขึ้นคือ ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ ซึ่งพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร เป็นผู้อ่านที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อตอนย่ำรุ่งของวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ก่อนที่จะเอาขวานฟันโซ่คล้องประตูบุกเข้ายึดพระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อใช้เป็นที่ทำการของคณะรัฐประหารในเช้าวันนั้น

ว่ากันว่าเนื้อความในประกาศฯ ฉบับดังกล่าว ทำให้ฝ่ายเจ้า ขมขื่น เจ็บแค้น และฝังใจเจ็บ แม้กระทั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ก็แสดงความน้อยพระทัย ถึงกับทรงกรรแสงต่อหน้าบรรดาผู้นำคณะราษฎรที่พากันไปเข้าเฝ้าเป็นครั้งแรกหลังจากยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จที่วังสุโขทัยเพียงหกวันหลังจากนั้น

และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ฝ่ายเจ้าและฝ่ายอนุรักษ์นิยมบางคนก็ถือปรีดีเป็น ศัตรูหมายเลขหนึ่ง จนหาทางโค่นล้ม และแก้แค้นเอาคืน ตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน (แม้ปรีดีจะลาโลกไปแล้วก็ยังหาทางทำลายชื่อเสียง เกียรติคุณ ที่เคยบำเพ็ญมา)

ปรีดีเป็นคนสำคัญในคณะชนชั้นผู้นำไทยที่มีส่วนกุมหางเสือประเทศเป็นเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ปี ๒๔๗๕-๒๔๙๐ ซึ่งพวกเขาต้องช่วยกันชี้นำและประคับประคองการเมืองระบอบใหม่ ที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ให้เดินไปได้ในทิศทางที่ยังไม่เคยมีการทดลองใช้และมีประสบการณ์กันมาก่อนในเมืองไทย ตลอดจนได้มีส่วนเป็นกลไกสำคัญในการจัดวางรากฐานและปรับเปลี่ยนบรรดา State Apparatus สำหรับสถาปนาประเทศให้เดินไปบนเส้นทางนั้น

สำหรับผมแล้ว ผลงานสาธารณะชิ้นสำคัญที่สุดของปรีดีเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ท่านและสหายได้ก่อตั้ง ขบวนการเสรีไทย ขึ้นหลังจากญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกและรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตัดสินใจเข้าร่วมกับญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร

องค์กรใต้ดินอันนั้น ซึ่งดำเนินงานภายใต้การชี้นำของปรีดี ได้หาทางติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรจนสำเร็จ และได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากกองกำลังสัมพันธมิตรที่ Ceylon (ปัจจุบันเรียกว่าศรีลังกา) ภายใต้การนำของ Lord Louise Mountbatten จนสามารถสร้างกองกำลังติดอาวุธขึ้นได้ทั่วประเทศ แต่ยังมิทันที่จะได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านอย่างเป็นทางการ ญี่ปุ่นก็ประกาศยอมแพ้เสียก่อน

ทว่า การกระทำอันนั้นก็ได้ให้เครดิตกับปรีดีในฐานะผู้นำประเทศหลังสงคราม ที่สามารถเจราจาให้ไทยรอดพ้นจากการตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม และถูกยึดครองโดยกองกำลังสัมพันธมิตรหรือต้องถูกปฏิบัติในเวทีระหว่างประเทศเยี่ยงผู้แพ้อื่น

น่าเสียดาย ที่ชนชั้นปกครองไทยรับปรีดีกันไม่ได้ แม้แต่เพื่อนๆ ที่ร่วมสาบานกันมาตอนเริ่ม ก่อการ แอบจัดตั้งคณะราษฎรกันตอนยังหนุ่มแน่น ตั้งแต่ดวงตายังมีประกายเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ที่ปารีส ก็หักหลังท่าน หันกลับไปร่วมกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมโค่นล้มท่าน จนท่านต้องหนีเอาชีวิตรอดอย่างหวุดหวิดและไม่ได้กลับไปเมืองไทยอีกเลย

ก่อนจะลงมือเขียนบทความนี้ ผมก็ได้ไปเยี่ยมสุสาน Pier Lachaise เพื่อไปดูเมรุที่เคยเผาศพท่านเมื่อปี ๒๕๒๖ ผมอดสังเวชใจไม่ได้ว่า ทำไมสังคมไทยถึงปล่อยให้อดีตผู้นำซึ่งเป็นสามัญชน ไต่เต้ามาจากส่วนล่างของสังคม แต่ฉลาดมากๆ สร้างสรรค์มากๆ ทำประโยชน์ให้กับสังคมไทยมามาก อุทิศตนและมีบุญคุณต่อสังคมไทยไม่น้อย ต้องประสบเคราะห์กรรมได้ถึงเพียงนี้.............หรือสังคมไทยยังรับรู้ความจริงกันน้อยเกินไป หรืออาจจะไม่ได้รับรู้ความจริงกันเลยก็ได้
















อันที่จริงวันนี้ ผมไม่คิดจะเขียนเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ หรือประวัติศาสตร์ แต่ตั้งใจจะเขียนเรื่องที่กำลังจะไปฟังดนตรีในโบสถ์ เพื่อให้คู่กับบทความเรื่อง Paris is Jazz, Jazz is Paris ของผมที่เคยตีพิมพ์ไปแล้ว แต่เมื่อผมลงมือค้นหาสถานที่ตั้งของโบสถ์ Eglish St-Ephrem ที่ผมจองตั๋วไว้ในค่ำคืนนั้นสำหรับ Les Suites pour Violencelle de Bach ซึ่งจะบรรเลงโดย Timothee Marcel ผมก็พบว่าโบสถ์ดังกล่าวตั้งอยู่เยื้องกับห้องสมุด Sainte-Genevieve ซึ่งในอดีต ดร.ปรีดีเคยมาค้นคว้าที่นี่เป็นประจำ (อ้างจาก ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์ หน้า ๑๐๗)

ผมเลยตัดสินใจตระเวนไปในย่านดังกล่าว ยังสถานที่สำคัญซึ่งเคยกี่ยวข้องกับ ดร.ปรีดี และกำเนิดของคณะราษฎร และวางพล็อตเรื่องในหัวไว้คร่าวๆ ว่าจะเขียนข้อมูลสองเรื่องนี้ผสมปนเปกันไป เพราะย่านดังกล่าวในปารีส มิเพียงจะมีความสำคัญในตำนานของชาวฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญในบริบททางประวัติศาสตร์ของไทยอีกด้วย และผมก็คิดว่าผู้อ่านจะได้รับทั้งสาระและความเพลิดเพลินไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ถ้าไม่นับช่วง ๑๓ ปีหลังของชีวิตทื่ท่านมาใช้ชีวิตบั้นปลายในปารีสหลังจากลี้ภัยการเมืองอยู่ในประเทศจีนนานถึง ๒๑ ปีแล้ว ดร.ปรีดีเคยใช้ชีวิตอยู่ที่ฝรั่งเศสในช่วง พ.ศ. ๒๔๖๓-๒๔๗๐ โดยสามปีแรกเรียนอยู่ที่เมือง Caen และต่อมาที่มหาวิทยาลัยปารีส (Sorbonne) ท่านเป็นคนเรียนหนังสือเก่งมาก เป็นคนไทยคนแรกที่สอบได้ปริญญา Docteur en Droit และก็มีลักษณะผู้นำหรือกว้างขวางมาตั้งแต่เด็ก สมัยโน้นก็เป็นผู้นำนักศึกษาไทย และคบค้าสมาคมกับนักศึกษาต่างชาติอย่างกว้างขวาง ที่สำคัญท่านได้เป็นตัวตั้งตัวตีก่อตั้งคณะราษฎร โดยได้เช่าหอพักไว้ที่ถนน Rue du Sommarard เพื่อประชุมกับเพื่อนผู้เริ่มก่อการรุ่นแรกอีก ๖ คนคือ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ร.ท.แปลก ขิตตะสังคะ (ต่อมาคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม) ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี นายตั้ว ลพานุกรม หลวงสิริราชไมตรี (นามเดิมจรูญ สิงหเสนี) และนายแนบ พหลโยธิน

ผมได้เดินไปดูร้านขายเสื้อผ้าที่มุมถนน Rue des Ecoles ตัดกับถนน Boulevard Saint-Michel (ใกล้ๆ กับ Cluny และเยื้องกับ Sorbonne) ก็ปรากฏว่าไม่มีร่องรอยของร้านกาแฟเหลืออยู่เลย ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เคยเขียนเล่าไว้ว่า ณ ที่แห่งนั้น เมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ พ.ศ.๒๔๗๐ สมาชิกผู้ก่อการของคณะราษฎรได้ทำการประชุมกันเป็นครั้งแรก มิใช่ที่ Café de Le Prix อย่างที่มักเข้าใจกันในภายหลัง โดย ดร.ปรีดี เองก็เคยให้สัมภาษณ์กับ รงค์ วงษ์สวรรค์ ไว้ว่า สมัยโน้นร้านนั้นมีชื่อว่า ซูพรี (อ้างจาก วานปีศาจตอบ รงศ์ วงษ์สวรรค์ สำนักพิมพ์มติชน ๒๕๔๙ หน้า ๓๙๔)

หลังจากนั้น ผมจึงเดินลัดผ่านอนุสาวรีย์ของ Montaigne เข้าถนน Rue du Sommarard มาทะลุถนน Rue des Carmes เพื่อที่จะเลี้ยวขวาขึ้นไปทาง Pantheon มุ่งสู่เลขที่ ๑๗ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโบสถ์ Eglish St-Ephrem

ระหว่างเดินเพลินๆ นั้น ในใจผมก็ได้ยินเสียงเพลง J’ai deux amours (สองรักของฉัน) ของ Josephine Baker ซึ่งทราบว่าเป็นเพลงโปรดของท่านปรีดี โดยเฉพาะท่อนแยกของเพลงที่ร้องว่า J’ai deux amours, mon pays et Paris (สองรักของฉันคือบ้านเกิดเมืองนอนและปารีส) แล้วผมก็ผ่านร้านอาหารจีนเลขที่ 11 bis, Rue des Carmes ซึ่งท่านปรีดีชอบทานมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแถวนี้ แต่ระหว่างที่ผ่านถนน Rue du Sommarard นั้น ผมไม่สามารถจะชี้ชัดไปได้ว่าตรงไหนคือหอพักที่ท่านปรีดีและสหายเคยเช่าไว้เป็นที่ประชุม นั่นทำให้ผมตั้งใจว่าจะกลับไปถามคนเก่าคนแก่ที่เมืองไทยแล้วค่อยกลับมาดูอีกครั้งในอนาคต

ผมมาถึงตัวโบสถ์ราวทุ่มกว่า ก่อนเวลาประมาณ ๕ นาที ตั๋ววันนั้นราคา ๒๓ ยูโร (นักเรียน นักศึกษา ๑๕ ยูโร) โชคดีที่คนไม่ค่อยแยะเพราะอากาศหนาวมาก ผมเลยสามารถทดลองเรื่องต่างๆ ได้หลายประการ เช่น ย้ายที่นั่งจากข้างหน้ามาข้างหลัง ข้างหลังกลับไปข้างหน้า และจากหลังขวาไปหลังซ้ายหรือไปตรงกลาง เพื่อสังเกต Acoustic ของเสียงว่าต่างกันมากน้อยเพียงใด ฯลฯ

โบสถ์แห่งนี้เป็นโบสถ์เล็กๆ แต่มีระบบเสียงดีมาก สร้างด้วยอิฐก้อนใหญ่วางเรียงขึ้นไปเป็นรูปเรือคว่ำ ที่สำคัญคือไม่มีเสา ทำให้ห้องโถงโล่งกว้าง ประตูหน้าทำด้วยไม้บานใหญ่มาก และปิดทึบเวลาดนตรีเล่น ด้านหน้ามีเวทีเป็นยกพื้นนิดเดียวประมาณครึ่งฟุต และมีฉากไม้กั้น ฉลุลวดลายสวยงามเหมือนโบสถ์คาทอลิกแบบบารอคทั่วไป มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเครื่องอัตถบริขารครบครัน



















การจัดวางเก้าอี้เป็นแบบคอนเสิร์ตในโบสถ์ทั่ไปคือแบ่งออกเป็นสองแถวเว้นทางเดินไว้ตรงกลางและสองข้างซ้ายขวา เก้าอี้เป็นเก้าอี้ไม้ขนาดเล็กผูกติดกันเป็นพรืดป้องกันคนยกแยกออกจากกัน แสงไฟในโบสถ์สลัวแต่สว่างตรงเวที และมีการจุดเทียนหเล่มใหญ่หลายเล่ม จนกลิ่นอบอวนชวนฝันากาศในโบสถ์อบอุ่น แต่ต้องใส่แจ๊คเกตไว้ตลอด ถ้าถอดจะรู้สึกหนาว ทั้งหมดทั้งปวงนั้นเพื่อชักนำหรือเสริมความเชื่อให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกโดยรวมว่า ศักดิ์สิทธิ์น่าเลื่อมใส เหมาะกับโปรแกรมเพลงของ Bach ขนาดผมไม่ใช่คาทอลิก ยังอดไม่ได้ที่จะต้องก้มหน้าลง แล้วหลับตาอธิษฐาน

ผมเกิดความรู้สึกวังเวงและตระหนักได้ทันทีว่าชีวิตมนุษย์นั้นมันช่างเป็นเพียงปรากฎการณ์แบบ Ephemeral เมื่อเทียบกับธรรมชาติทั้งมวล แม้จะมั่งคั่งยิ่งใหญ่เพียงใด สุดท้ายก็ต้องม้วยมลายหายไปสิ้น มนุษย์จึงต้องมีศาสนาเอาไว้เพื่อพิชิต ความกลัว อันนั้น และในขณะเดียวกันก็สร้าง ความหวัง ให้กันและกัน ว่าอย่างน้อยยังมีโลกหน้าที่ดีและสมบูรณ์ แต่ต้องทำความดีแล้วพระองค์จะเสด็จมารับไปอยู่ด้วย

บทเพลงของ Bach ทั้งหมดก็มีจุดหมายที่พระเจ้าและสร้างศรัทธา ความคิดสร้างสรรค์ของ Bach มาจากแรงศรัทธามากกว่าอย่างอื่น ต่างกับ Beethoven, Mozart, หรือ Mahler ที่มักมาจากความกดดัน ความกลัว ความสิ้นหวัง ความยากลำบากในชีวิต การแข่งขันชิงดีชิงเด่น และความทุกข์

ผมเคยอ่านชีวประวัติของ Bach ก็พบว่าเขาเป็นคนที่มีจิตใจผูกพันกับพระเจ้าและดนตรีมาก โดยเฉพาะดนตรีนั้นต้องใช้คำว่า ลุ่มหลง เลยทีเดียว เขาต้องพกกระดษโน้ตเพลงตลอดเวลา เผื่อว่าเขาคิดออก เขาก็จะรีบจดโน้ตลงไปบนกระดาษเปล่านั้นหรือเอาที่เคยจดไปแล้วขึ้นมาเกลาใหม่ ตลอดชีวิตเขาประพันธ์เพลงกว่า ๑,๖๐๐ ชิ้น (นิสัยนี้คล้ายๆ กับนักสร้างสรรค์คนอื่นที่มีความลุ่มหลงในสิ่งที่ตัวทำ เช่น Picasso ซึ่งพกสมุดวาดเขียนตลอดเวลา แม้ไปนั่นกินอาหารก็จะเอาสมุดออกมาสเก็ตภาพ เป็นภาพมือตัวเองบ้าง ภาพหัวของคนที่นั่งอีกโต๊ะหนึ่งบ้าง ภาพถ้วยชามบ้าง ตลอดชีวิตเขาสร้างสรรค์งานศิลปะกว่า ๓๐,๐๐๐ ชิ้น

หรืออย่าง Newton ก็เป็นคนลุ่มหลงในงานที่ทำจนใจลอย มัวคิดแต่เรื่องคณิตศาสตร์และงานค้นคว้าที่กำลังทำอยู่ มีอยู่ครั้งหนึ่งเดินจูงลากลับบ้าน ใจลอยขนาดลาหลุดหายไปแล้วยังไม่รู้ เดินลากเชือกเปล่าจนถึงบ้าน....Newton เป็นผู้ค้นพบแรงโน้มถ่วง ซึ่งถือเป็น Breakthrough สำคัญของแวดวงวิทยาศาสตร์

















หรืออย่าง Adam Smith ที่ต้องเดินครุ่นคิดตลอดเวลา พวกแม่ค้ามักหยอกเล่นโดยทำเซอร์ไพรส์แบบไม่ให้ตั้งตัว เพื่อให้เขาตกใจและมักจะกล่าวคำผรุสวาทออกมายาวเหยียดเป็นคุ้งเป็นแควแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เป็นที่ขบขันอย่างยิ่ง ทุกวันนี้หนังสือ The Wealth of Nations ของเขากลายเป็นคัมภีร์สำคัญที่นักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลังให้ความนับถือ ฯลฯ)

สำหรับผมแล้ว เพลงของ Bach มี Tonality ที่ไม่หวือหวา ออกจะ Monotone ด้วยซ้ำ แต่ Melody ก็มีความไพเราะมาก แม้จะ Simple ไม่ซับซ้อน ก็งดงาม ยิ่งฟังยิ่งมีสมาธิ แม้จะยาวหลายตอนแต่ก็ไม่ทำให้สมาธิแตกซ่าน

Cello Suits ที่บรรเลงในโบสถ์ Eglish St-Epherem วันนั้น ก็ทำให้ผมรู้สึกเช่นเดียวกัน!

ความเงียบ อุณหภูมิที่เหมาะสม กลิ่นอโรม่คลุ้งของเทียนหอมและธูป ตลอดจนระบบอคูสติกที่บังคับให้เสียงต่ำๆ ของ Cello ล่องลอยไปทั่วทุกทิศทุกทาง ช่วยปรุงแต่งโสตประสาทของผมและช่วยหนุนใจผม ให้ได้เข้าถึงงานดนตรีชั้นยอดที่ตั้งใจประพันธ์ขึ้นมาเพื่อถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งฝรั่งถือว่าสูงสุด เป็นที่สุดของความดี ความงาม ความจริง ความยุติธรรม ความรัก และเป็นนักสร้าง ผู้สร้าง หรือ ต้นแบบ ของทุกสรรพสิ่ง ดังนั้นงานประพันธ์จึงต้องสร้างสรรค์ด้วยความศรัทธา ต้องสมบูรณ์ ต้องแก้แล้วแก้อีก เกลาแล้วเกลาอีก ลองแล้วลองอีก จนไม่มีที่ติ และต้อง “Pious”

ผมถือว่านั่นเป็นการ คั้น เอาจากสมอง จิตใจ วิญญาณ และจากประสบการณ์เท่าที่มนุษย์จะพึงให้ได้

ผมเข้าใจและเข้าถึงแล้วในวันโน้นว่า เพลงที่เป็นบทประพันธ์ชั้นยอดของฝรั่งนั้น ถ้าเราได้เสพในบริบทที่เหมาะสมกลมกลืน มันย่อมนำให้เราได้ลิ้มถึงรสของความ อิ่ม ที่แท้จริง เพราะเรามิเพียงได้ฟังด้วยหูและดูด้วยตาเท่านั้น แต่ยังรับรู้ได้ด้วยนาสิก ผิวหนัง ประสาทสัมผัส และ ใจ อีกด้วย

ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
๑๖ กันยายน ๒๕๕๒

หมายเหตุ : คนที่มาปารีสแล้วอยากไปฟังดนตรีในโบสถ์ ผมแนะนำ ๓ แห่งที่ให้ระบบเสียงดีมาก คือ Eglish de La Madeleine ซึ่งเป็นโบสถ์ใหญ่, Saint German du Pre ซึ่งเป็นโบสถ์ขนาดกลาง, และ Eglish St-Epherem ซึ่งเป็นโบสถ์ขนาดเล็ก, ทั้งหมดนั้นดูโปรแกรมและจองตั๋วผ่านอินเทอร์เน็ตได้ที่ www.ampconcerts.com


ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนกันยายน 2552

ไม่มีความคิดเห็น: