วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2554

TD-124 ตำนานโต๊ะหมุน

Thorens Reference
(ภาพจากอินเทอร์เน็ต)












แผ่นเสียงกับ Modern Lifestyle

เดี๋ยวนี้ ทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า หันมาเล่นแผ่นเสียงกันมากขึ้น เพราะยิ่งเทคโนโลยีซับซ้อน ก้าวหน้าไปเพียงไร คนก็ยิ่งโหยหาความเรียบง่าย เพื่อกลับไปหารากเหง้ากันมากขึ้น เป็นเงาตามตัว

ยิ่งเทคโนโลยีดิจิตอลถูกนำมารับใช้ระบบการผลิตแบบ Mass Production มากเท่าใด ผู้คนที่ถือตัวว่ามีรสนิยมวิไล ก็ยิ่งหันไปแสวงหาผลิตภัณฑ์ Analog เพื่ออวดความวิเศษที่สามารถแสดงอัตลักษณ์เฉพาะตัวแบบ “ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร“ มากยิ่งขึ้น เป็นเงาตามตัว

ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ดิจิตอลกลายเป็น “ของโหล” ที่นับวันจะถูกลงเรื่อยๆ ทว่า ผลิตภัณฑ์อนาล็อกกลับกลายเป็น “ของหายาก” ที่ระดับราคาสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

นั่นแหละ ตรรกะของกิเลสมนุษย์ยุคนี้!

การกลับไปหาแผ่นเสียง ก็เกิดขึ้นจากกิเลสแบบนั้น

การเล่นแผ่นเสียงได้กลายเป็น “Trend” ของการบริโภคและการใช้ชีวิตสมัยใหม่ไปเสียแล้ว เดี๋ยวนี้ ถ้าใครเปิดนิตยสารแฟชั่น หรือนิตยสารตกแต่งบ้านประเภท “เทรนดี้” ทั้งหลาย ก็จะพบบทสัมภาษณ์ดารา และภาพถ่ายบ้านหรือคอนโดของคนมีชื่อเสียงจำนวนมากที่หันกลับไปฟังแผ่นเสียง

คอลเล็กชั่นแผ่นเสียง เริ่มกลับมาเคียงคู่กับคอลเล็กชั่นหนังสือหรือซีดีบนหิ้งอีกครา ในขณะที่ร้านขายแผ่นเสียงทั้งมือหนึ่ง มือสอง มือสาม ตลอดจน Website ขายแผ่นเสียง กลับมาคึกคักอีกครั้ง ราคาแผ่นเสียงเก่าบางแผ่น ขายกันเป็นหลักหมื่นก็ยังมีคนซื้อ

“เมื่อสี่ห้าปีก่อน แผ่นเสียงแทบไม่มีราคา ร่อนกันเล่นเป็นจานบิน ยังไม่มีใครสนใจเลย” พ่อค้าเครื่องเสียงผู้คร่ำหวอดมาตลอดชีวิตกล่าวกับผม

แน่นอน ตลาดเครื่องเล่นจานเสียง หรือ Turntable ก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งแท่น โทนอาร์ม และหัวเข็ม ที่เริ่มมีให้เลือกอย่างหลากหลาย ตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหลายแสนบาท

หนังสือเครื่องเสียงทุกเล่ม ต้องมี Section ประจำ ไว้สำหรับ ผู้รักแผ่นเสียง ทั้งโดยการแนะนำเครื่องเล่นจานเสียงรุ่นต่างๆ ตลอดจน “เครื่องเคียง” ที่มีตั้งแต่ หัวเข็มชนิดต่างๆ, โทนอาร์ม, (Tonearm), เครื่องขยายเสียงเฉพาะสำหรับเครื่องเล่นจานเสียง (Phono Stage), สายสัญญาณต่อเชื่อมระบบแผ่นเสียง ไปจนถึงบทวิจารณ์แผ่นเสียงออกใหม่ที่เริ่มมีให้เลือกมากในแต่ละเดือน

Made in Switzerland

Thorens เป็นผู้ผลิตเครื่องเล่นจานเสียงที่นักเล่นทุกรุ่น ไม่ว่าหนุ่มหรือแก่ รู้จักกันดี ชื่อ Thorens เป็นชื่อสามัญประจำบ้านของวงการเครื่องเล่นจานเสียง เหมือนดัง “บรีส” กับผงซักฟอกนั่นแหละ

ตลอดระยะเวลา 123 ปี ที่ผ่านมา Thorens ผลิตเครื่องเล่นจานเสียงมามากมายหลายรุ่น แต่รุ่นที่เปรียบเสมือน “กล่องดวงใจ” และมีนักสะสมจำนวนมากแสวงหาเพื่อให้ได้มาครอบครอง ก็คือรุ่น “TD-124” ซึ่งถือเป็น Top-of-the-line ของ Thorens.

Thorens TD-224 เปลี่ยนแผ่นได้อัตโนมัติ ข้างในเป็น Machanic ล้วน ไม่มีชิปสักตัว แสดงถึงความก้าวหน้าทางวิศวกรรมในขณะนั้น










อันที่จริง Thorens เคยผลิตเครื่องเล่นรุ่นพิเศษแบบจำกัดจำนวนที่เรียกว่ารุ่น Reference แต่รุ่นนั้น เดี๋ยวนี้ราคาในตลาดโลกได้ถีบตัวขึ้นไปเป็นล้านแล้ว และเมืองไทยเองเท่าที่ได้ข้อมูลจากอดีตผู้นำเข้ารายสำคัญก็ทราบว่าเคยมีผู้สั่งเข้ามาเพียง 2 เครื่องเท่านั้นเอง โดยที่เครื่องหนึ่งอาจถูกซื้อเก็บโดยนักสะสมชาวญี่ปุ่น และได้นำออกนอกประเทศไปแล้ว คงเหลืออยู่ในมือนักสะสมไทยเพียงเครื่องเดียวเท่านั้นเอง

ผมจะไม่ขอกล่าวถึงรุ่น Limited Edition ดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องสุดเอื้อมสำหรับคนส่วนใหญ่ และใช่ว่ามีเงิน ก็จะสามารถหามาครอบครองได้ ซะเมื่อไหร่

ตำนานของ Thorens เริ่มที่เมือง St.Croix ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 1883 โดย Hermann Thorens ผู้ก่อตั้ง แรกทีเดียว Thorens ผลิตหีบเพลงปาก (Harmonica) ไฟแช็ก และมีดโกน จนขยายใหญ่โต ว่ากันว่า ในปี 1929 นั้น Thorens จ้างพนักงานกว่า 1,200 คนเลยทีเดียว

และเมื่อปี 1929 นี่เองที่ Thorens เริ่มผลิตเครื่องเล่นจานเสียงโดยใช้มอเตอร์ขับ ที่เรียกว่า Direct-drive Motor (ซึ่งเป็นระบบที่ Thorens จดสิทธิบัตรไว้ในตอนนั้น) นอกจากนั้น Thorens ยังผลิตเครื่องรับวิทยุอีกด้วย

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง Thorens ออกเครื่องเล่นแผ่นเสียงสำหรับใช้งานในบ้านมาหลายรุ่น เช่น CD30, CD50, และ CD43 แต่มายกระดับคุณภาพของเครื่องเล่นให้ขึ้นสู่ระดับ Hi-end จริงๆ ในปี 1957 เมื่อรุ่น TD124 ออกสู่ตลาด โดยมีเป้าหมายที่นักฟังเพลงระดับเศรษฐีทั้งหลายทั่วโลก

TD-124 Mark I ติดอาร์ม SME 3012R ของผู้เขียน










TD124 ยุคแรกออกขายเฉพาะแท่นเครื่อง โดยผู้ซื้อสามารถเลือกติดตั้ง Tonearm (ก้านแขน) ตามใจชอบ และนี่เองที่นักสะสมยุคนี้มักเห็น TD124 รุ่นเก่านั้น มาพร้อมกับ Tonearm หลากหลายยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็น SME, Ortofon, Empire, FR-64, Shure, หรือแม้แต่ Rek-O-Kut ก็มี จนปี 1958 ที่เริ่มมีการบันทึกเสียงในระบบสเตริโอ Thorens จึงเริ่มผลิต Tonearm ของตัวเอง คือรุ่น BTD-12 ซึ่งถือเป็น Tonearm คุณภาพสูง หายาก และราคาแพงมากในปัจจุบัน เพราะเป็นที่หมายปองของนักสะสมทุกระดับชั้น

TD124 ประสบความสำเร็จมาก และกลายเป็น Turntable ที่ได้รับความนิยมตั้งแต่เริ่มแรก คู่แข่งของ Thorens ในตอนนั้นคือ Garrard ที่มีรุ่น 301 เป็นธงนำ และเมื่อ Garrand ปรับโฉมรุ่นธงนำเพื่อออกเป็นรุ่น401 ตอนปี 1964 Thorens ก็ปรับโฉม 124 บ้างในอีกสองปีต่อมา โดยเรียกรุ่นที่ปรับโฉมใหม่ในครั้งนั้นว่า“TD 124 Mk II”

รุ่น Mark II เปลี่ยนดีไซน์ให้ดูทันสมัยขึ้น จากแท่นสีครีมของรุ่นเก่า มาเป็นสีเทาอ่อน และปุ่มปรับความเร็วรอบก็ถูกเปลี่ยนใหม่

TD 124 เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ผสมผสานจุดแข็งของระบบ Idler Drive กับระบบ Belt Drive เข้าด้วยกัน คือใช้มอเตอร์กำลังสูงติดลูกล้อทดแรงหมุนจานและสายพานล่าง เพื่อไปหมุนลูกล้อบน ที่เป็นลูกล้อทดแรงเสียดสีกับขอบล้อของ Platter ยักษ์ (แท่นวางแผ่น) น้ำหนัก 4.5 กิโลกรัม อีกทอดหนึ่ง โดยใช้เพลาหมุนขนาด 14 มิลิเมตร หมุนบนลูกปืนโลหะชนิดพิเศษเป็นแกนกลาง ระบบนี้ ปัจจุบันไม่นิยมผลิตแล้ว (เครื่องเล่นรุ่นปัจจุบันนิยมใช้ระบบมอเตอร์ไปหมุนสายพานที่หมุน Platter โดยตรง เรียกว่าระบบ Belt Drive) แต่จุดนี้แหละ ที่เป็นจุดแข็งของ TD124 ที่นักสะสมรุ่นปัจจุบันแสวงหากันนัก เนื่องเพราะมอเตอร์ของ TD124 มีความทนทานและเที่ยงตรงมาก และ Platter ก็แข็งแรง รับแรงเหวี่ยงได้ดี ประกอบกับเพลาและลูกปืนก็ทนทานง่ายแก่การบำรุงรักษา แม้เวลาจะผ่านไปเกือบ 50 ปีแล้ว เครื่องส่วนใหญ่ยังเล่นได้คุณภาพเสียงที่ไม่แพ้เครื่องเล่นรุ่นใหม่ในระดับราคาเป็นแสน สมกับคำร่ำลือว่าชาวสวิตนั้นเชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องจักรที่มีความเที่ยงตรงเป็นเลิศ

ไม่เชื่อก็ดูนาฬิกาที่ชาวสวิตผลิตนั่นปะไร ราคาเรือนละหลายๆ ล้าน คนก็ยังนิยมซื้อ!

ความเที่ยงตรง สม่ำเสมอ และความมั่นคง เป็นหัวใจสำคัญของเครื่องเล่นแผ่นเสียง เพราะความเร็วที่คงที่และรากฐานที่มั่นคง ไม่หวั่นไหวต่อแรงสั่นสะเทือน มีผลต่อคุณภาพเสียงที่ขับผ่านหัวเข็มออกมา

TD124 สามารถปรับความเร็วได้ถึง 4 ระดับ คือ 16 2/3, 33 1/3, 45, 78 รอบต่อนาที โดยใช้ระบบ Magnetic Break ตรวจความถูกต้องได้โดยมองผ่าน Stroboscope ที่ฉาบทาไว้บนขอบนอกของจานหมุน และใช้หลอดนีออนจิ๋วส่องผ่านกระจกสะท้อนให้ผู้เล่นเห็นได้ นับเป็นเทคโนโลยีใหม่มากในสมัยนั้น ที่อนุญาติให้ผู้เล่นสามารถปรับความเร็วด้วยมือได้อย่างแม่นยำ (ข้อมูลในคู่มือของ TD124 อ้างว่าระดับความเพี้ยนเมื่ออุ่นเครื่องไปแล้วประมาณ 10 นาที มีเพียง 1% เท่านั้น)

จุดแข็งอีกอย่างของ TD124 คือการแยกแผ่นติดตั้ง Arm หรือ Armboard ให้เป็นเอกเทศต่างหากออกไปจากแท่นเครื่อง ซึ่งช่วยลดความสั่นสะเทือนที่หัวเข็มอาจได้รับจากการหมุนของมอเตอร์ นั่นแสดงให้เห็นว่าวิศวกรผู้ออกแบบ มีความใส่ใจต่อรายละเอียดสูงมาก แม้เพียงน้อยนิดก็ยอมไม่ได้

TD-124 Mark II ติดอาร์ม Ortofon 212











ความสำเร็จของ TD124 ทำให้ Thorens ออกเครื่องเล่นรุ่นต่อมาอีกหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น TD184 (1958), TD134 (1959) เพื่อจับตลาดระดับกลาง และ TD135 (1961), TD135 MkII, TD121 (1962) ที่พยายามจำลองจาก TD124 แต่ลดความซับซ้อนลง เพื่อให้ต้นทุนผลิตต่ำสำหรับคนทั่วไป แต่ก็ประสบความล้มเหลว นอกจากนั้นยังมี TD224 ที่เปลี่ยนแผ่นได้มากถึง 6 แผ่นโดยอัตโนมัติ

Thorens ก็เหมือนกับบริษัทเครื่องเสียง Hi-end ของฝรั่งทั้งหลาย ที่เริ่มประสบความยุ่งยากเมื่อผู้ผลิตญี่ปุ่นเริ่มเข้าตีตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดในระดับ Mass

Thorens ปรับตัวโดยรวมกิจการกับ Paillard ผู้ผลิตกล้อง Bolex แต่ความสัมพันธ์อันดีก็กลายเป็นขมในเวลาไม่นานนัก Thorens ต้องย้ายฐานการผลิตไปเยอรมัน เพื่อให้ต้นทุนถูกลง และเข้าร่วมกับ EMT กลายเป็นบริษัท Thorens-Franz AG. หลังจากนั้นจึงร่วมกันออกแบบรุ่น TD150 (1965) และ TD150 AB หลังจากนั้นจึงออกรุ่น TD125 (1969) ซึ่งเป็นอีกรุ่นหนึ่งที่นักสะสมตามหากันมาก

ความสำเร็จของ TD125 ทำให้เกิด TD125 Mk II ตามมาในปี 1972 แต่เนื่องจาก TD125 และ TD125 Mk II เป็นเครื่องราคาแพง (แพงกว่า Garrard 401 คู่แข่งสำคัญเกือบเท่าตัว) Thorens จึงออกรุ่นถูกลงคือ TD165 และ TD166 ในปีเดียวกันนั้นเอง

นักเล่นเครื่องเสียงส่วนใหญ่ ถือเอาช่วงปี 1972-1974 เป็นจุดสูงสุดของ Thorens เพราะหลังจากที่ตัดสินใจออกรุ่น TD126 มาแทน TD125 Mk II ในปี 1974 Thorens ก็เริ่มเสื่อม แม้จะออก TD126 Mk II และ Mk III ตามมาอีกก็ตาม

จุดพลิกผันอยู่ที่การเข้าตีตลาดเพลงโดยซีดีและเครื่องเล่นซีดี (CD) ในปี 1982 ทำให้ตลาดแผ่นเสียงและเครื่องเล่นแผ่นเสียงหดตัวลงแทบจะทันที คงเหลือแต่ตลาดบนในระดับราคาแพงเท่านั้น ที่ยังหลงเหลือ Pocket Demand อยู่

Thorens เอง ก็หนีไม่พ้นชะตากรรมดังกล่าว จนต้องล้มลุกคลุกคลาน และถูกซื้อโดยนักลงทุนเยอรมันไปในที่สุด ปัจจุบัน Thorens Audio HiFi-Vetriebs-GmbH ยังคงผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงยี่ห้อ Thorens อยู่ เพียงแต่เปลี่ยนตลาดจากที่เคยอยู่ในระดับ Hi-end ลงมาสู่ตลาดระดับ Mass

และด้วยกระแสของความนิยมแผ่นเสียงที่กลับมาอีกครั้ง Thorens ก็ได้เปิด Lab สำหรับซ่อม จำหน่ายอะไหล่ และสร้าง (Restoration) เครื่องเก่า ขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีนี้ ทำให้ตลาดเครื่องเล่นจานเสียง Thorens รุ่นเก่าสำหรับนักสะสม เริ่มคึกคัก และกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

แน่นอน ราคาย่อมถีบตัวตามไปด้วยเป็นเงาตามตัว

สำหรับเมืองไทยนั้น กระแสโหยหาอดีตและนิยมบริโภคอดีต ก็เริ่มดันราคาแผ่นเสียงเก่า และเครื่องเสียงคุณภาพรุ่นเก่าๆ บางยี่ห้อ อย่าง Marantz, McIntosh หรือ Mark Levinson ไปไต่ระดับที่คนส่วนใหญ่ยากจะสัมผัสได้ และแน่นอน TD124 ก็ย่อมจะหนีไม่พ้นสัจธรรมแห่ง Demand-Supply ดังว่า ในเร็ววันนี้

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Corporate Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2547 และอีกครั้งในนิตยสาร Audiophile ประมาณสามปีหลังจากนั้น

ดาวินชีที่ปลายนิ้ว





















สมัยโน้นตั้งใจมากว่าจะไป Uffizi แต่พอไปถึงปากทาง ก็พบว่าพิพิธภัณฑ์ถูกสั่งปิดเพราะไฟเพิ่งจะไหม้ไปหยกๆ น่าเสียดาย และฝังใจว่าสักวันต้องกลับไปดูผลงานเก่าแก่ด้วยตาตัวเองให้ได้สักครั้ง


อีกหลายปีต่อมา Blogger ได้ศึกษาเรื่องราวของ Judith ในพระคัมภีร์พันธะสัญญาเดิม ก็อยากจะเห็นภาพเขียน Judith and Holofernes เวอร์ชั่นของ Artemicia Gentileschi เพราะว่ากันว่า มันชวนขนพองสยองเกล้าอย่างมาก แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่มีโอกาสกลับไป Uffizi อีกเลย แม้จะมีกิจให้ผ่านไปแถวทัสคานีหลายครั้งหลายครา


จนเมื่อสองปีกว่ามานี้เอง ที่ Blogger มีวันเวลาเว้นว่างจากการงาน เลยมีโอกาสเดินทางไปดูผลงานของ Tulouse-Lautrec ที่บรัสเซล ปารีส และอัลบิ ก็เผอิญได้ยลรูปปั้นของ Judith ซึ่งปั้นมาราวปลายยุคกลางที่มหาวิหารกลางเมืองนั้น แล้วเลยนึกขึ้นได้ จึงเดินทางต่อไปยังฟลอเรนซ์และได้ดูภาพสยองสมใจ


ที่ท้าวความมายาว เพราะอยากให้รู้สึกถึงความยากลำบาก ในแง่โอกาสของคนสมัยก่อนเทียบกับคนสมัยนี้ ในเชิงของการเสพงานศิลป์


ไม่ต้องย้อนไปไกลก็ได้ เอาแค่สมัย "ก่อนอินเทอร์เน็ต" กับสมัย "หลังอินเทอร์เน็ต" แค่นี้ก็ต่างกันลิบลับ เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็หาดูภาพเขียนและชิ้นงานศิลปะที่สมัยก่อนหาดูยากมากได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต เพียงคลิกไม่กี่ครั้ง แม้แต่งานที่อยู่ใน Private Collection ประเภทสมบัติส่วนตัวของใครหรือองค์กรใดที่มิได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม ก็ยังหาดูได้บนอินเทอร์เน็ต เพราะเจ้าของใจกว้าง ยอมถ่ายรูปหรือสแกนรูปมาให้ชมกัน ยกตัวอย่างมหาเศรษฐี Bill Gates ที่ยอมเผยแพร่ Lesiester Codex ของ Da Vinci ให้พวกเราดูผ่านอินเทอร์เน็ต ทั้งที่ซื้อมาตั้ง 31 ล้านเหรียญฯ เป็นต้น


ดังนั้น Blogger จึงรู้สึกสะใจมากกับโครงการ Art Project ของ Google (www.googleartproject.com) ที่อุตส่าห์ลงทุนลงแรงชักชวนพิพิธภัณฑ์สำคัญ 17 แห่งของโลกเข้าร่วมโครงการสแกนภาพถ่ายความละเอียดสูงให้ดูกันแบบ 360 องศา หมุนได้โดยรอบ ซ้าย ขวา หน้า หลัง ซูมอิน ซูมเอ้าท์ สไตล์ Street View ที่ใช้มาก่อนหน้านี้ใน Google Map นัยว่างานนี้รวบรวมไว้กว่าพันภาพ


Blogger ขอชมเชยจากใจจริง และอยากให้กำลังใจด้วย แม้ว่ามันจะไม่เกี่ยวกับ “Blog การเงิน” ภายใต้หัวคอลัมน์ที่ Blogger รับผิดชอบเขียนอยู่ทุกเดือนก็ตาม แต่เรื่องนี้น่าจะได้รับความสนใจจากนักการเงิน นักลงทุน เจ้าของกิจการ และผู้ที่สนใจงานศิลปะในเชิงของการลงทุนหรือการออม (Store Wealth) ที่เป็นแฟนติดตามคอลัมน์นี้อยู่โดยมาก เพราะส่วนใหญ่พวกที่เสพงานศิลป์ในโลกนี้ ถ้าไม่ใช่ Public Museum หรือ Private Museum แล้ว ก็มักจะเป็นนักธุรกิจและนักการเงินเสียเป็นส่วนมาก


Blogger ลองคลิดดูแล้วก็เห็นว่าสมกับคำคุย ทำให้เรารู้สึกได้เหมือนเข้าไปเดินในห้องแสดงงานจริงๆ และการซูมอินก็สามารถขยายให้เห็นได้ใกล้ชิดมากๆ อย่างฝีแปรงของ Van Gogh ก็เห็นจริงๆ จะด้อยกว่าก็ตรงความนูนความเว้าและความดิบ ความธรรมดา ความ “พื้นๆ” ซึ่ง Blogger ว่าภาพสแกนเหล่านั้นยังให้ได้ไม่สมจริง อีกอย่าง ความงามและความเร้าอารมณ์หรือกระทบใจในเชิงภาพรวมที่จะสัมผัสได้เวลาเรายืนอยู่หน้าภาพบางภาพ จะขาดหายไปเมื่อคลิกดูมันในอินเทอร์เน็ต


Blogger ให้ 7 เต็ม 10


และแม้จะขาดพิพิธภัณฑ์สำคัญจำนวนมาก เช่น Lovre, d’Orsay, Prado, Picasso Museum, Vatican, ฯลฯ แต่หลายแห่งที่เข้าร่วมก็มีงานหัวกะทิอยู่เช่น New York Met, MoMa, Rijksmuseum, Van Gogh Museum, Tate, National Gallery, Uffizi เป็นต้น


Blogger ดีใจแทนเด็กรุ่นใหม่ที่ได้รับโอกาสเช่นนี้ นับเป็นประชาธิปไตยแบบหนึ่ง ที่ให้คนเดินดินกินข้าวแกงได้เสพงานศิลป์ชั้นหัวกะทิของโลก ซึ่งแต่ก่อนมีเพียงคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้ยล


พวกเราก็รู้ว่าอินเทอร์เน็ตนั้นมีความพิเศษ ต่างจากโลกอนาล็อกตรงที่มันสามารถ Copy และ Paste ได้ทันที สามารถต่อแขนต่อขา ต่อเติมเสริมแต่ง ได้ดังใจนึก ภาษาการตลาดสมัยใหม่เรียกว่า Customization แต่กูเกิ้ลเรียกว่า “การสร้างคอลเลกชั่นของคุณเอง” โดยเขาอนุญาตให้มีช่อง ‘Create an Artwork Collection’ เพื่อเก็บเป็น Private Collection ของเราเอง เป็น Cloud Collection ที่แขวนไว้บนอินเทอร์เน็ตผ่าน Google App โดยจะใส่ข้อคิดเห็นต่อภาพแต่ละภาพยังไงก็ได้ และส่งต่อให้เพื่อนฝูงบน Social Network ได้อีกด้วย นับเป็นสูตรสำเร็จของ Digital Marketing ในยุคนี้


แม้ Blogger จะรู้อยู่แก่ใจว่า Google ย่อมได้ประโยชน์เมื่อคนแห่เข้าไปในนั้น และเขาก็จะไปแปลงจำนวนคลิกให้เป็นรายได้ผ่านการขายโฆษณา แล้วก็จะไปดันกำไรและราคาหุ้นเขาในที่สุด แต่จะมีกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตใดบ้างในยุคนี้ ที่จะหลุดพ้นจากการครอบงำของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ หรือไม่ถูกแอบอ้างไปใช้ประโยชน์ได้บ้างล่ะ


เพียงแต่คราวนี้มันเปลี่ยนจากที่เคยต้องเสียให้กับสายการบิน โรงแรม ภัตราคาร และพิพิธภัณฑ์ (เมื่อต้องบินไปดู) ก็มาเสียให้ Google กันแทน


นั่นแหละวิธี “กินรวบ” โดยอาศัยอินเทอร์เน็ต


เขียนโดย ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว ภายใต้นามปากกา Blogger
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับควบ เดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 2554