วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2554

McIntosh Mania









ว่าไปแล้ว การสะสมนับเป็นกิเลสแบบหนึ่ง!

แม้คนที่สะสมพระเครื่อง ก็อาจทำให้รังแต่จะติดยึดกับวัตถุยิ่งๆ ขึ้นได้ ทั้งๆ ที่ บรรดาเกจิ ผู้สร้างพระเครื่องเหล่านั้นขึ้นมา อาจตั้งใจให้เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ เมื่อมีไว้ครอบครองหรือระลึกถึงคราใด ก็จะช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้ ลด ละ เลิก จากสมมติต่างๆ ได้บ้าง

ทว่า มนุษย์ปุถุชนส่วนใหญ่ ไหนเลยจะทนต่อการรบเร้าและเย้ายวนของกิเลสได้

ใครเล่า จะไม่ชอบลิ้มรสอาหารอร่อย ไม่ชอบดูสิ่งสวยๆ งามๆ ได้ดมกลิ่นหอม ได้รับการสัมผัสนุ่มเนียนเอื้ออาธร ได้ฟังคำสรรเสริญเยินยอ ตลอดจนเสียงไพเราะจากธรรมชาติหรือปรุงแต่งจากฝีมือมนุษย์

ความหลงไหลในเสียงไพเราะนี้เอง ที่ทำให้ดนตรีกลายเป็นของคู่กับสังคมมนุษย์เรา ไม่ว่าผู้ชาย ผู้หญิง คนจน คนรวย เจ้าหรือไพร่ ของแต่ละสังคม ย่อมมีวัฒนธรรมการเสพดนตรีของตนเอง

ฝรั่งมีแชมเบอร์มิวสิก มีซิมโฟนี มีโอเปร่า แจ๊ส ร็อก ไทยก็มี ปี่พาทย์ โขน ลำตัด ลิเก

แต่สมัยก่อน จะฟังดนตรีกันที ก็ต้องฟังกันสดๆ นักร้องนักดนตรีเก่งๆ ก็ถูกเก็บไว้ในอาณัติของเจ้านายหรือเศรษฐีผู้มั่งคั่ง เลี้ยงดูผูกขาดไว้เป็นสมบัติของตนเอง ทั้งเพื่อการสันทนาการและเพื่อแสดงอัครฐานต่างๆ

ทว่า การเสพดนตรีของคนสมัยนี้มักอาศัยเครื่องมือผลิตซ้ำเสียงดนตรี คือเครื่องเสียง แผ่นเสียง เทป ซีดี หรือดีวีดี เสียเป็นส่วนใหญ่ นานๆ ถึงจะมีโอกาสได้ฟังดนตรีสดกันเสียทีหนึ่ง


Reproduction of Music


ในบรรดาเครื่องผลิตซ้ำเสียงดนตรีชั้นยอดนั้น McIntosh โดดเด่นมานาน บางคนเปรียบ McIntosh ว่าเป็น Rolls Roylls ของวงการเครื่องเสียงด้วยซ้ำไป ถ้านับตั้งแต่ปี 1947 ที่ Frank McIntosh ก่อตั้ง McIntosh Scientific Laboratory จนบัดนี้ ก็เป็นเวลาเกือบ 61 ปีแล้ว


ตลอดระยะเวลานี้ McIntosh ผลิตเครื่องเสียงออกมาหลายร้อยแบบ แต่ละแบบก็มีหลายสิบรุ่น ทั้งที่เป็นแอมปลิไฟเออร์ ปรีแอมปลิไฟเออร์ อินติเกรเต็ดแอมปลิไฟเออร์ รีซิฟเวอร์ จูนเนอร์ เครื่องเล่นซีดี เครื่อเล่นเทป เครื่องเล่นดีวีดี ตลอดจน ลำโพง และสายสัญญาณต่างๆ


ในจำนวนหลายร้อยรุ่นนั้น มีบางรุ่นได้กลายเป็นของหายาก และนิยมสะสมกันในหมู่เศรษฐีและนักเลงเครื่องเสียงทั่วโลก รวมทั้งนักสะสมในเมืองไทยด้วยเช่นกัน


ศุภชัย ภิญญาวัฒน์ หรือ "เสี่ยเปา" ผู้คร่ำหวอดในวงการค้าเครื่องเสียง Hi-end และเป็นผู้ที่ McIntosh รุ่นหายาก ผ่านมือเขามากที่สุดในรอบหลายปีมานี้







หลายปีมานี้ มีญี่ปุ่นมากว้านซื้อไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคา McIntosh รุ่นที่นิยมสะสม ถีบตัวขึ้นสูงมาก และทำท่าว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะตอนหลัง นอกจากญี่ปุ่นแล้ว คนจีนก็เริ่มรวยขึ้น และหันมาสะสมเครื่อง McIntosh รุ่นหายากด้วยเหมือนกัน…..และมันก็เป็นธรรมดาของดีมานด์กับซัพพลาย เมื่อมีคนต้องการมาก แต่ของมีจำกัด เพราะเครื่องรุ่นเหล่านี้เขาเลิกผลิตไปนานแล้ว ราคามันก็ต้องถีบตัวขึ้น” ศุภชัย ภิญญาวัฒน์ พ่อค้าเครื่องเสียงที่คร่ำหวอดกับการขายเครื่องเสียง Hi-end มากว่า 30 ปี เล่าให้ฟัง

ญี่ปุ่นเขารวย เขาซื้อดะ บางทีเปิดเล่นไม่ได้ เขาก็ซื้อ เอาไปตั้งโชว์เฉยๆ ก็ยังดี ขอให้เป็นรุ่นที่เขาชอบสะสมเขาเอาหมด” ไทร วิชุวาณิชย์ อดีตหลงจู๊ร้านเบ๊เต๊กฮวด ผู้บุกเบิกนำเข้าเครื่องเสียง McIntosh เป็นรายแรกในเมืองไทย กล่าวเสริม


ศุภชัย ภิญญาวัฒน์ นั้นเป็นลูกชายของนายห้างยูเนี่ยนซาวด์ สะพานเหล็ก คลุกคลีกับการค้าเครื่องเสียงมาตั้งแต่รุ่นพ่อ และต่อมาได้บุกเบิกนำเข้าเครื่องเสียงระดับราคาแพง (Hi-end) จนได้เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องเสียงระดับแนวหน้าของโลกหลายยี่ห้อ เช่น Mark Levinson, Audio Research, และ Wilson Audio เป็นต้น


แต่หลังจากที่กิจการเครื่องเสียงขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทยของเขาต้องมลายหายไปพร้อมกับความล่มสลายของเศรษฐกิจไทยเมื่อปี 2540 และหลบทำใจตั้งหลักอยู่พักหนึ่ง เขาก็หวนกลับมาเปิดกิจการขายเครื่องเสียงและแผ่นเสียงเล็กๆ อยู่ที่อาคารฟอร์จูน แล้วก็ต้องมีอันเป็นไปอีกในรอบล่าสุดนี้ ทว่า ศุภชัยก็ได้สัมผัสกับเครื่องเสียงหายากสำหรับนักสะสมจำนวนมาก โดยเฉพาะ McIntosh รุ่นหายากนั้น ผ่านมือเขาไปไม่ใช่น้อย ในรอบหลายปีมานี้


ศุภชัย หรือที่รู้จักกันในแวดวงเครื่องเสียงว่า “เสี่ยเปา” เล่าให้ฟังว่า กระแสการสะสม McIntosh นั้นเริ่มมาจากฝรั่งและญี่ปุ่น แล้วค่อยลามเข้ามาในหมู่คนไทย ส่วนรุ่นที่นิยมสะสมกันมากก็คือ MC 275 และ C-22 รองลงมาก็จะเป็น C-29 และ MR 78 แต่ปัจจุบันรุ่นเหล่านี้ มักหาสภาพดีๆ ยากแล้ว เพราะนักสะสมส่วนใหญ่ซื้อไปเก็บไว้และไม่ยอมปล่อยออกมา ทำให้นักสะสมรุ่นใหม่หันไปหารุ่นที่รองๆ ลงมาเช่น MC 240 และ C-20 หรือ C-8 เป็นต้น


ศุภชัยวิเคราะห์ว่า McIntosh นั้นเป็นเครื่องเสียงที่ทนมาก และอยู่ในตลาดมานาน Brand แข็งแกร่ง และมี Brand Loyalty สูง แถมยังให้คุณภาพเสียงที่ดี จึงมีสาวกจำนวนมาก เหมือน “เสาโรมัน” ที่คอยค้ำจุนกิจการ ในเมืองไทย เป็นที่นิยมมากในหมู่คนจีนที่มีเงิน


คุณสมบัติของรุ่นที่นิยมสะสมกันนั้น นอกจากความหายากของมันแล้ว ยังต้องเป็นรุ่นที่นักฟังระดับหูทองให้การยอมรับกันแล้วว่าเสียงดีด้วย ไม่ใช่หายากอย่างเดียว แต่คุณภาพเสียงไม่ได้มาตรฐาน และถ้าจะให้ดีต้องมีสภาพ “เดิมๆ” คืออะไหล่ทุกชิ้นต้องเป็นอะไหล่แท้ที่ได้รับการรับรองจาก McIntosh และเป็นของรุ่นนั้นๆ ตรงกับ Serial Number ไม่ใช่ Modify จนเป็นลูกผสม หรือเอาอะไหล่ที่ผลิตในญี่ปุ่นหรือรัสเซียหรือจีนใส่เข้าไปแทน


McIntosh MC 275 นั้น เป็นเครื่องขยายเสียงหรือแอมปลิฟายเออร์รุ่นที่ใช้หลอดสูญญากาศเป็นตัวขยายเสียง หรือที่เรียกกันเล่นๆ ว่า “แอมป์หลอด” มีกำลังขยายเท่ากับ 75 วัตต์ต่อข้างในระบบสเตอริโอ และ 135 วัตต์ต่อข้างในระบบโมโน ผลิตออกจำหน่ายในช่วงปี 1961-1970 เป็นแอมป์ที่ขายดีและสร้างชื่อเสียงให้กับ McIntosh มาก เป็นที่ต้องการของนักสะสมทั่วโลก จนราคาปัจจุบันถีบตัวขึ้นไปกว่าแสนบาทแล้ว ทั้งๆ ที่สมัยก่อนราคาขายปลีกเพียง 444 เหรียญฯ เท่านั้น


ความนิยมในแอมป์หลอดรุ่นนี้มีมากจน McIntosh ต้องผลิตรุ่น Limited Edition ออกมาสำหรับการสะสมโดยเฉพาะอีก 2 รอบด้วยกัน คือรอบแรกผลิตขายในช่วงปี 1993-1996 เรียกว่ารุ่น Commemorative Edition (Gordon Gow) ายปลีกที่ราคา 4,000 เหรียญฯ และรอบที่สองในปี 2004 โดยราคาขายปลีกในเมืองไทยเมื่อนำเข้ามาใหม่ๆ เครื่องละ 190,000 บาท


นักสะสมมักนิยมใช้ MC 275 คู่กับปรีแอมปริไฟเออร์รุ่น C-22 ซึ่งเป็นหลอดเหมือนกัน C-22 ผลิตขึ้นจำหน่ายระหว่างปี 1963-1968 และก็เช่นเดียวกับ MC 275 ที่มีคนนิยมสะสมกันมาก McIntosh จึงต้องผลิตซ้ำอีกครั้งในปี 1995 และเรียกเป็นรุ่น Commemorative Edition เช่นเดียวกัน ปัจจุบันราคาของรุ่นนี้ถีบตัวขึ้นไปกว่า 2 แสนบาทแล้ว ถ้าสภาพยังดี และถ้าใช้หลอด Telefunken ด้วยแล้ว ก็จะมีราคาสูงขึ้นไปอีก ทั้งๆ ที่สมัยออกใหม่ๆ McIntosh ตั้งราคาขายปลีกไว้เพียง 279 เหรียญฯ เท่านั้นเอง (รุ่นผลิตซ้ำขายที่ 2,500 เหรียญฯ)


จับคู่ C-22 กับ MI-200 รุ่นที่นักสะสมหากันมากเป็นอันดับสองรองจาก MI-350 (รูปแรกข้างบนสุด) (โดยภาพนี้ได้จากบ้านเพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียน)






ปัจจุบัน MC275 และ C-22 กลายเป็นของหายากไปแล้ว นักสะสมรุ่นใหม่จึงต้องหันไปหารุ่นรองๆ ลงมา เช่น MC240 และ C-20 หรือ C-29 ซึ่งราคายังอยู่ในราว 5 หลัก และยังมีของให้เล่นได้มาก


ในสมัยโน้น MC240 เป็นที่นิยมกันมากกว่า MC275 เพราะราคาถูกกว่า แต่คุณภาพเสียงใกล้เคียงกับ MC275 คนนิยมใช้คู่กับ C-20 เพราะเสียงดี นิ่มนวล มีเนื้อมีหนัง….สมัยโน้นผมขาย MC240 เพียง 9,000 บาท แต่ MC275 ขาย 14,000 บาท ผมเลยขาย MC240 ได้เป็นร้อยเครื่อง สั่งมาทีละ 8-10 เครื่องก็ขายหมดทุกทีไป แต่ MC 275 ผมว่ามีไม่กี่สิบเครื่องเท่านั้นเองในเมืองไทย” ไทร วิชุวาณิชย์ กล่าว


MC240 เป็นแอมป์ฯ รูปร่างเหมือน MC275 ทุกประการ เพียงแต่มีกำลังขยายต่ำกว่า คือ 40 วัตต์ต่อข้างในระบบสเตอริโอ หรือ 80 วัตต์ต่อข้างในระบบโมโน ผลิตขายในช่วงปี 1960-1969 โดยตั้งราคาสมัยนั้นไว้เพียง 288 เหรียญฯ ในขณะที่ C-20 เป็นปรีแอมป์หลอด ที่ผลิตขายระหว่างปี 1959-1963 และตั้งราคาไว้ที่ 269 เหรียญฯ ส่วน C-29 เป็นปรีแอมป์ชนิดทรานซิสเตอร์ ผลิตขายในช่วงปี 1978-1985 และราคา 1,399 เหรียญฯ ในขณะนั้น ปัจจุบัน MC240 ซื้อขายกันไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท ส่วน C-20 ก็ซื้อขายกันในราวนั้น แต่ถ้าสภาพดีและใช้หลอด Telefunken ก็อาจมีราคาถึงแสนบาท และ C-29 ก็อยู่ในราว 60,000-70,000 บาท แต่หาของยากมาก


กำพืด McIntosh ในไทย



ตำนาน McIntosh ในเมืองไทย เริ่มขึ้นเมื่อห้าสิบกว่าปีมาแล้ว โดยผู้ที่สามารถครอบครอง McIntosh ได้ในยุคนั้น จำกัดอยู่เพียงแวดวงเศรษฐี ที่ส่วนใหญ่เป็นเจ้า หมอ พ่อค้าชั้นนำ และนายธนาคาร เท่านั้นเอง

ย้อนกลับไปก่อนพุทธกาลไม่นานนัก ไทร วิชุวาณิชย์ เด็กหนุ่มชาวจีนลูกชายช่างซ่อมแกรมโมโฟน ที่เริ่มเข้าร่วมงานกับห้างเบ๊เต๊กฮวดในฐานะบ๋อยได้ระยะหนึ่งแล้ว มีโอกาสได้ทดลองฟังเครื่องเสียง Hi-fi เป็นครั้งแรกที่ห้างกมลสุโกสล แล้วก็ติดใจในเสียงแหลมที่แตกต่างจากแกรมโมโฟน ที่ห้างตัวเองขายอยู่ราวฟ้ากับดิน


ไทร วิชุวาณิชย์ กับตำนาน "เบ๊เต๊กฮวด" ผู้นำเข้า McIntosh และ JBL และ Bozak เป็นรายแรก เราว่าไทรรู้เรื่อง McIntosh กับ JBL มากที่สุดในเมืองไทยขณะนี้....ตอนที่เราไปเยี่ยมไทรที่บ้าน ท่านได้โชว์รูปถ่ายที่ถ่ายกับ Gordon Gaw และ Rudy Bozak ให้เราได้ชม








หลังจากนั้น ไทรก็โน้มน้าวให้หลงจู๊สั่งเครื่องแบบนั้นเข้ามาขายบ้าง โดยเริ่มจากยี่ห้อ Quad ก่อน แต่ด้วยยี่ห้อนั้นมีเสียงฮัมมาก ก็เลยเปลี่ยนมานำเข้า McIntosh


ผมรู้จัก McIntosh จาก ดร.อุย ลูกชายนายห้างเคี่ยนหงวน เพราะมีอยู่วันหนึ่ง ดร.อุยทนฟังผมคุยไม่ได้ เลยกลับไปยกเครื่อง Mc ที่บ้านมาให้ฟังเครื่องนั้นเป็นปรีแอมป์รุ่น C-8 และแอมป์ 50 วัตต์ (ตอนนั้นยังไม่มีชื่อรุ่น) ที่เขาติดมือมาจากต่างประเทศหลังเรียนจบกลับมา เครื่องเสียงคู่นั้นเสียงดีมาก ผมเลยเสนอให้หลงจู๊สั่งเข้ามาขาย หลงจู๊ก็ใจถึงมาก สั่งเข้ามาราคา 8,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงมาก เพราะสมัยก่อนทองคำบาทละ 400 รถออสตินคันละสองหมึ่นกว่า และเงินเดือนผม 400 บาทเอง ตอนแรกเถ้าแก่ก็ไม่ค่อยพอใจพวกผมเหมือนกัน แต่ดีว่าหลงจู๊เป็นน้องเมียแกเอง” ไทร ย้อนความหลังให้ฟัง


หลังจากตั้งโชว์อยู่ไม่นาน ไทรก็สามารถขายเครื่องชุดนั้นได้ในราคา 9,000 บาท และหลังจากนั้น ก็สั่งเข้าเรื่อยๆ จนที่สุดเบ๊เต๊กฮวดก็ขอเป็นผู้แทนจำหน่ายแต่ผู้เดียวในเมืองไทย


ผมจำได้ว่า คนที่ซื้อ McIntosh คู่แรกในประเทศไทยไปคือลูกชายของคุณวิเชียร ฉวีวงศ์ เจ้าของน้ำมันใส่ผมบาโบ๊ต และหลังจากที่ผมสั่งคู่ที่สองมา ตอนนั้นเป็น C-8 คู่กับ MC-30 ก็ได้ขายให้กับคุณจำนงค์ ภิรมย์ภักดี ซึ่งตอนนั้นเพิ่งกลับมาจากเมืองนอกใหม่ๆ และหลังจากนั้น ก็ดูเหมือนจะเป็นคุณอุเทน เตชะไพบูลย์ ที่มาซื้อรุ่น MC-60 ไป และคุณชวลิต รุ่งแสง ที่ซื้อรุ่น MC3500 ซึ่งมีไม่เกิน 3 คู่ในเมืองไทย” ไทรกล่าวเสริม


ไทรย้อนความหลังว่าลูกค้าสมัยนั้นส่วนใหญ่เป็นเศรษฐีหรือไม่ก็คนใหญ่คนโตในวงสังคม และเมื่อคนเหล่านี้บอกต่อ ก็ทำให้เกิดความนิยมเพิ่มขึ้นในวงกว้าง


สมัยแรกๆ ปีหนึ่งจะขายได้เพีย2-3 ชุด แต่พอมีระบบสเตอริโอ หลังยุคที่ผลิต C-20 แล้ว ผมก็ขอเป็นผู้แทนจำหน่าย ซึ่งต่อมาไม่นานก็ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายลำโพง JBL ด้วย ช่วงนั้นความนิยมเพิ่มขึ้นมาก เป็นยุครุ่งเรืองของคู่แฝด McIntosh กับ JBL ชนิดที่ว่า ใครจะสร้างบ้านใหม่ ก็จะต้องมี McIntosh กับ JBL เป็นของคู่บ้าน ทำให้ขายดีมาก ผมต้องตามเซอร์วิสตลอด ทั้งสอน ทั้งซ่อม เพราะผมใช้กลยุทธ์ซ่อมให้ฟรี คือสโลแกนว่า McIntosh ไม่มีเสีย…….ช่วงนั้น เป็นช่วงรุ่งเรืองของเบ๊เต๊กฮวด”


ไทรร่วมงานกับเบ๊เต๊กฮวดจนได้เป็นหลงจู๊ และได้มีโอกาสไปกินข้าวกับ Gordon Gow ประธานผู้เป็นตำนานของ McIntosh ที่นิวยอร์ก และต่อมาก็ได้เห็นความร่วงโรยของ McIntosh เพราะการแข่งขันจากผู้ผลิตญี่ปุ่น


ผมขาย McIntosh จนถึง C-29 ก็เริ่มรู้ว่า การขายเงียบลงเยอะ ลูกค้าช่วงนั้นส่วนใหญ่เป็นคนจีน พอมาถึง C-32 ก็ขายได้น้อยลงมาก เพราะฝรั่งเริ่มตั้งราคาแพง และคนก็หันไปนิยม LaserDisc กับเครื่องเสียงญี่ปุ่นที่ถูกกว่า ดีไซน์ร่วมสมัยมากกว่า” เขากล่าว


หลังจากนั้นไม่นาน ไทรก็ออกจากเบ๊เต๊กฮวดหลังจากร่วมงานกันมากว่า 30 ปี และเบ๊เต๊กฮวดก็สูญเสียความเป็นตัวแทนจำหน่าย McIntosh ไปให้กับ KS ซึ่งเป็นของนักธุรกิจภารตะจนถึงปัจจุบัน


เดี๋ยวนี้ ไทรอายุ 74 แล้ว แต่ยังคงรับซ่อม McIntosh รุ่นโบราณ อยู่ที่บ้านอย่างเงียบๆ เพราะลูกค้าเก่ายังไว้ใจว่าเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญ McIntosh ชั้นแนวหน้า ซึ่งยังหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่คนในเมืองไทย


The Caretaker


เกษม ทัศนสุวรรณ หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ช่างเกษม” ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เชี่ยวชาญเรื่องวงจรเครื่องเสียงโบราณ และเป็นที่พึ่งของนักสะสมเครื่องเสียงไทย เมื่อถึงเวลาต้องทำการฟื้นฟูสภาพ (Restoration) ตลอดจนรักษาอาการเจ็บป่วยของเครื่องเสียงในคอลเล็กชั่นของตัว


เกษม ทัศนสุวรรณ หรือ "ช่างเกษม" ที่นักเล่นเครือง Vintage ทุกคนต้องรู้จัก ความรู้และฝีมือของช่างเกษมลึกซึ้งและครอบคลุมกว้างขวางถึงวงจรเครื่องเสียงโบราณทุกชนิด ช่างเกษมเรียนรู้วงจรและเรื่องอิเล็กทรอนิกด้วยวิธี Self-taught น่าเสียดายที่ช่างรุ่นใหม่หันหลังให้กับการซ่อมแซมเครื่อง Vintage และน่าเสียดายที่คลังความรู้ของช่างเกษมจะไม่มีผู้สืบทอด







เกษม คลุกคลีอยู่กับวงการซ่อมเครื่องเสียงตั้งแต่รุ่นพ่อของเขา ซึ่งเป็นเจ้าของร้านซ่อมเครื่องเสียงอยู่ที่สุพรรณบุรี เกษมไม่ได้รับการศึกษาในระบบ แต่เขาเรียนรู้ในทางปฏิบัติ ผ่านการซ่อมเครื่องเสียงมากว่า 50 ปี จนรู้จักวงจรเกือบทุกชนิดของทุกยี่ห้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องหลอด และเครื่องรุ่นเก่า เกษมจะเชี่ยวชาญชนิดหาตัวจับยาก ชนิดฟังเสียงก็รู้แล้วว่าเครื่องสมบูรณ์หรือไม่อย่างไร เขาจึงกลายเป็นศูนย์รวมของนักเล่นเครื่องเสียง Vintage ของเมืองไทยไปโดยปริยาย


เกษมมีวิญญาณของความเป็นช่างสูง เขามองงานซ่อมเครื่องเสียงเป็น Work of art ประเภทหนึ่ง และนอกจากเขาจะซ่อมเครื่องเสียงแล้วเขายังทำเครื่องเสียงขึ้นมาไว้ฟังเองและขายให้คนที่สนิทๆ ด้วย เขาบอกว่า เขารักเครื่องเสียงมาก และรักที่จะซ่อมเครื่องเสียง “ทุกวันที่ยังทำอยู่นี้ ก็เพราะใจรัก ไม่ได้คิดแพง แต่อยากอนุรักษ์ของเก่าไว้ไม่ให้สาบสูญ และงานซ่อมเครื่องเสียง มันเป็นเรื่องของฝีมือและประสบการณ์ ไม่ใช่อาศัยความเข้าใจทฤษฎีแล้วจะทำได้”


นอกจากซ่อมเครื่องแล้ว เกษมยังสามารถ Restore เครื่อง จากที่เคยเป็นอะไหล่ แยกย้ายกันอยู่คนละทิศละทาง หรือเป็นขยะอยู่ในห้องเก็บของ ให้กลับมาเล่นใหม่ได้ โดยยังคงสภาพเดิมๆ เหมือนกับครั้งที่เคยออกจากโรงงานในสมัยเมื่อ 40-50 ปีก่อนโน้นได้


ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกเลย ที่ระหว่างเรากำลังทำการสัมภาษณ์เขา จึงได้เห็นนักสะสมหลั่งไหลมาหาเขาอย่างไม่ขาดสาย แม้ถ่อมาจากต่างจังหวัดไกลๆ เพื่อเจาะจงมาหาเขาโดยเฉพาะ ก็มีเกษมยกย่อง McIntosh าก ในด้านความทนทานและความเรียบง่ายของวงจร แต่กลับให้คุณภาพเสียงที่ดีมาก และเขาก็ให้เครดิตกับความทนทานนี้เอง ที่ทำให้นักสะสมหลงไหล McIntosh มากกว่ายี่ห้ออื่น


เกษม Restore เครื่อง McIntosh มาแล้วเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน แต่สิ่งหนึ่งที่เขาเสียดายก็คือ McIntosh รุ่นหายากจำนวนไม่น้อย ได้ถูกซื้อออกไปนอกประเทศในรอบสามสี่ปีที่ผ่านมา


เราคิดว่า กระแสความนิยมสะสม McIntosh จะทวีขึ้นในอนาคต เนื่องเพราะคนในประเทศโลกที่สามเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชีย เริ่มมีฐานะดีขึ้น


จากการเข้าไปสำรวจใน Website E-bay พบว่า McIntosh รุ่นหายากที่กล่าวมาแล้ว ทำการประมูลกันในราคาสูงขึ้นทุกที และผู้ชนะประมูลส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย จึงตรงกับข้อสันนิฐานของเราที่ว่า เมื่อคนเริ่มมีฐานะเหลือกินเหลือใช้ พวกเขาย่อมต้องการที่จะครอบครอง Great Machine ชนิดใดชนิดหนึ่ง เพื่อความเพลิดเพลิน ตลอดจนแสดงสถานะและอำนาจของตัวเอง


นี่แหละหนา กิเลสมนุษย์!


บทความนี้เขียนโดย ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว ร่วมกับ วีระพงษ์ เจตพิทักษ์พงษ์

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Corporate Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2547 และตีพิมพ์อีกครั้งในนิตยสาร Audiophile หลังจากนั้นประมาณสามปี