วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554

Marantz 1 Prototype

1. ผมได้เห็น Marantz Model 1 รุ่นแรกสุด หลังจากตีพิมพ์บทความว่าด้วย  Marantz 1 และ Marantz 2 ไปแล้วหลายปี (อ่านได้จากบทความลำดับถัดไป) รายละเอียดของ Marantz 1 รุ่นแรก แตกต่างจากรุ่นต่อๆ มาหลายแง่มุม ทั้งในเชิงหน้าตาและอุปกรณ์ที่ผู้ออกแบบเลือกใช้ ทว่าโครงสร้างวงจรไม่ต่างกันมากอย่างมีนัยสำคัญ เพียงเครื่องแรกนี้อาศัยหลอด 12AU7 ขยายสัญญาณขั้นที่สองระหว่าง 12AX7 สองหลอดหัวท้าย ซึ่งเป็นความตั้งใจแรกของผู้ออกแบบ ก่อนจะเปลี่ยนใจมาใช้หลอด 12AX7 สามหลอดรวดในเวลาต่อมา นับเป็น Major Change เพียงแง่มุมเดียว โดยผมยังค้นคว้าไม่พบว่าทำไมผู้ออกแบบเปลี่ยนใจและอะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริง ได้แต่สอบถามผู้รู้และกะเก็งความจริงไปตามประสาคนรุ่นหลัง แฟนๆ Marantz และท่านผู้สนใจลองพิศดูภาพถ่ายก็อาจจะแปลกใจเหมือนผม


2. ตัว Knob แถวบนยังเป็น Bakelite ยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นทองเหลืองเยี่ยงเดียวกับแถวล่าง และการวางตำแหน่งตัวสกรีนรอบ Selector ก็ต่างกัน คือตำแหน่ง TV และ Extra วางกันคนละตำแหน่งกับรุ่นหลัง อีกทั้งภาษาที่ใช้กับสกรีนรอบปุ่ม Bass และ Treble ภายใต้วงจร Record Equalizer (สองปุ่มขวาสุด) ก็ต่างกัน แถม Selector Switch ที่ใช้ผลักซ้ายขวา (ขวาเป็น Tape) ซึ่งเจาะเป็นรูเล็กๆ ใต้ Selector (ปุ่มซ้ายสุด) ก็ยังไม่ปรากฎให้เห็น และไฟสัญญาณ (สีแดงเล็กๆ แถวล่าง ใกล้กับปุ่มทองเหลือง On/Off ด้านขวาสุด) ยังคงวางไว้ด้านซ้ายของปุ่ม On/Off ผิดกับรุ่นหลังที่สลับกัน

3. ขนาดอักษร (Font) ของคำว่า Marantz ที่อยู่แถวบนสุดตรงกลางคล้ายยอดปิรามิด เทียบแล้วเล็กกว่าสกรีนของรุ่นหลัง


4. ฝาด้านบนเจาะแผงระบายอากาศค่อนไปด้านหลัง โดยยึดกรูทั้งหมด 8 ตัวเหมือนกับรุ่นต่อมา แต่พอถึงรุ่นหลังสุด ได้ขยายอาณาเขตของแผงระบายอากาศให้ใหญ่ ครอบคลุมยิ่งขึ้น

5. สมัยโน้นยังไม่ได้ใช้ชื่อเรียกเป็นทางการว่า Marantz Model 1 และยังไม่ได้สกรีนคำว่า "Model 1" ที่ด้านหลัง เอกสารคู่มือเรียกโมเดลนี้ว่า Audio Consolette และรูปแบบตัวหนังสือ (Font) ที่สกรีนลงบนแผงหน้าปัดก็ต่างกันกับเครื่องรุ่นหลัง

6. ด้านหลังยังไม่ได้สกรีนคำว่า "Model 1" ทว่าตำแหน่งจุดต่อเชื่อมสายสัญญาณและ Tube Sockets คงเดิม คืออยู่ตำแหน่งเดียวกันทุกรุ่นการผลิต

7. เห็นชัดเจนว่าดีไซน์แรกเริ่มเดิมทีนั้น ผู้ออกแบบตังใจให้ภาคขยายสัญญาณขั้นที่สองต้องผ่านหลอด 12AU7 ซึ่งได้เปลี่ยนเป็น 12AX7 ทันทีในรุ่นการผลิตถัดมา (ซึ่งยังคงใช้ Knob แถวบนเป็น Bakelite เช่นเดียวกับรุ่นแรก) และครั้นจำเนียรกาลผ่านไป ก็ได้คงดีไซน์ "12AX7 x 3" นั้นไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ตลอดอายุไขของมัน จนกระทั่งเลิกผลิตในอีก 8 ปีต่อมา

8. ปลั๊ก Bulgin Style AC Plug ตัวผู้ จุดต่อเชื่อมสาย Power Cord กับ Power Supply ยุคแรก ที่ต่อมาปรับเปลี่ยนหน้าตาและเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า Marantz Type 4 หรือ Marantz Model 4 นั่นเอง

9. Marantz Model 1 เป็นปรีแอมป์ระบบโมโน หากต้องการฟังในแบบสเตอริโอต้องใช้สองเครื่องประกบกัน ซึ่งต่อมาได้ออกแบบ Marantz Model 6 เพื่อให้ทำหน้าที่เป็น Stereo Adaptor มาต่อเชื่อมกับ Marantz 1 จำนวนสองตัว ทว่าสามารถปรับควบคุมได้จากแผงหน้าปัดเดียว ก่อนออก Marantz Model 7C ซึ่งเป็นปรีแอมป์สเตอริโอหลอดที่ขายดีที่สุดในโลกยุคนั้น

10. มองด้านหลังจากมุมสูง ดูเหมือนฝาแฝด

11. Serial Number สกรีนไว้ด้านบนของแนวหลอด ต้องพลิกกลับจึงจะมองเห็น ต่างกับรุ่นหลังที่สกรีนไว้บน Chassis ด้านใน ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อเปิดฝาออก

12. "#1-2204" ถูกเขียนไว้ในสไตล์วินเทจ เพื่อแสดงตัวตนของเครื่องนี้

13. "#1-2205" เป็นน้องที่คลานตามมาติดๆ ในล็อตเดียวกัน

14. หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านและแฟนๆ มาร้านซ์กันบ้างไม่มากก็น้อย หากใครมีข้อมูลและความเห็นเพิ่มเติม ก็สามารถแลกเปลี่ยนต่อยอดกันได้ในบล็อกนี้เลยครับ นับว่าเทคโนโลยีดิจิตัลช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้รักอนาล็อกแบบพวกเราได้แยะ