วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554
วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554
Paris is Jazz, Jazz is Paris
ผมเริ่มเขียนต้นฉบับนี้ เมื่อบ่ายวันหนึ่ง ขณะนั่งมองผู้คนเดินผ่านไปมา ณ ร้านกาแฟเล็กๆ ริมถนน BOULEVARD SAINT- GERMAIN ในปารีส อันเนื่องมาแต่แว่วเสียงทรัมเป็ตของ Miles Davis ดังมาแต่ไกล และพลันในหัวผมก็เกิดจินตนาการเห็นภาพ Miles Davis กับ Juliette Greco กำลังนั่งสนทนากับ Jean-Paul Sartre และ Simone de Beauvoir อยู่ ณ มุมใดมุมหนึ่งของร้านกาแฟแถบนี้…………… Cafe’ de Flore
ปารีส มีเสน่ห์เสมอสำหรับทุกคน
ปารีส เป็นอะไรๆ ได้ตั้งหลายอย่าง
เหมือนดั่งกระจกหกด้าน ปารีส เป็นแต่ละอย่างสำหรับแต่ละคน สุดแล้วแต่ใครจะเลือกมองจากด้านใด .......แต่ละคน ทีละคน ไม่เหมือนกัน.....แม้กับคนๆ เดียวกัน ปารีส ก็อาจจะเป็นบางอย่างในบางเวลา ทว่าเมื่อเวลาผันผ่าน ปารีสก็แปรผันเป็นอย่างอื่นเสียแล้ว
สำหรับบางคน ปารีส เป็นแฟชั่น เป็นแหล่งช็อปปิ้ง เป็นความหรูหราอลังการ แต่กับบางคน ปารีส กลับเป็นศิลปะ เป็นอิมแพรชั่นนิส เป็นคิวบิซึ่ม เป็นอวองการ์ด เป็นสถานศึกษาและวรรณกรรมชั้นสูง เป็นสถาปัตยกรรมอันงดงาม เป็นภาพยนตร์แนวศิลปะ เป็นร้านกาแฟริมถนน เป็นภัตตาคารชั้นเลิศ เป็นคาบาเร่โชว์ตระการตา และเป็นอะไรต่อมิอะไร อีกร้อยแปด
ปารีส เป็นแม้กระทั่งกองทหารอันเคยเกรียงไกรพิชิตทั่วทั้งยุโรป และเป็นต้นแบบของ “การปฏิวัติประชาธิปไตย” ตลอดจนแหล่งฟูมฟักความคิดเสรี ที่ความเห็นอกเห็นใจและต้องการปลดปล่อยคนชั้นล่างทั่วโลก เริ่มเป็นจริงเป็นจัง ณ ที่แห่งนี้
“เสรีภาพ เสมอภาพ และ ภราดรภาพ” คือคำขวัญที่นักปฏิวัติทั่งโลกยึดถือดั่งโองการจากสวรรค์
ปารีส ก็เคยเป็นอะไรหลายๆ อย่าง สำหรับผม
ทว่าบัดนี้ ปารีสสำหรับผม เหลือเพียงมิติเดียว
“แจ๊ส”
“Paris is Jazz, and Jazz is Paris”
รอบนี้ ปารีสสำหรับผม จึงมิใช่ VERSAILLES ไม่ใช่ LOUVRE ไม่ใช่ D’ORSAY ไม่ใช่ POMPIDOU CENTER ไม่ใช่ PICASSO ไม่ใช่ RODIN ไม่ใช่ VICTOR HUGO หรือพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ไม่ใช่ EIFFEL TOWER ไม่ใช่ถนน CHAMPS-ELYSEES ไม่ใช่ SAMARITAINE, PRINTEMPS, หรือ GALERIES LAFAYETTE ไม่ใช่ MONTMARTRE ไม่ใช่ MOULIN ROUGE ไม่ใช่ LE GRAND REX และไม่ใช่เรื่องราวเกี่ยวกับ NAPOLEON อย่างที่เคยเป็น
แต่ ปารีสสำหรับผม กลับเป็น ST-GERMAIN-DES-PRES
และ ST-GERMAIN-DES-PRES ก็มิใช่ที่ฝังซากสังขารของ Rene’ Descartes แต่เป็น JAZZ CLUB และ JAZZ CAFÉ ที่แฝงตัวอยู่ตามซอกตึกและห้องใต้ดินของซอกเล็กซอยน้อยในแถบนั้นเอง
ที่นี่ มีตั้งแต่ “แจ๊สหวาน” ไปจนถึง “แจ๊สเต้นรำ”
ทว่า ลมหนาวเริ่มโชยมาแล้ว ไปที่ไหนจึงมักได้ยินเสียงเพลง Autumn Leave เสมอ เพราะอันที่จริงเพลงนี้ก็มีต้นกำเนิดมาจากฝรั่งเศสนั่นเอง เพลงนี้ถือเป็นเพลงหลักเพลงหนึ่งในวงการแจ๊ส ที่ศิลปินจำนวนมากนำไปบรรเลงและร้อง แต่สำหรับผมแล้ว ผมชอบสำเนียงทรัมเป็ตของ Miles Davis ที่เป่าไว้ในชุด Somethin’ Else ของ Cannonball Adderley (Blue Note 1595) ซึ่งถือเป็นงานคลาสสิกชิ้นหนึ่งที่ Miles ทิ้งไว้ให้กับวงการแจ๊ส
The falling leaves drift by my window
The falling leaves of red and gold
I see your lips, the summer kisses
The sunburned hands I used to hold
Since you went away the days grow long
And soon I'll hear old winter's song
But I miss you most of all, my darling
When autumn leaves start to fall
ย้อนเวลากลับไปเมื่อ พ.ศ. 2492 ตอนนั้น Miles Davis เพิ่งจะเคยมาปารีสเป็นครั้งแรกในชีวิต กับ Tadd Dameron Band เขาร่วมเล่นกับ Tadd Dameron (เปียโน), Kenny Clark (กลอง), James Moody (แซ็กโซโฟน), และ Pierre Michelot (เบส) ที่ Paris Jazz Festival และ Club Tabou ช่วงนั้น เขาตกหลุมรักกับ Juliette Greco นักร้อง นักแสดง ที่โด่งดังมากของฝรั่งเศสในยุคหนึ่ง เขาได้ใช้ชีวิตคลุกคลีกับ Jean-Paul Sartre นักคิด นักเขียน สดมภ์หลักของสำนัก Existentialism จนที่สุด ปารีส ทำให้เขาเปลี่ยนวิธีคิด วิธีมองสิ่งต่างๆ ไปอย่างสิ้นเชิง และตลอดกาล เขากล่าวไว้ใน Miles: The Autobiography ว่า “…it (Paris) changed the way I looked at things forever.")
ปารีส มักทำให้คนเปลี่ยนโลกทัศน์เสมอ
กาลครั้งหนึ่ง นักเรียนไทยจำนวนเพียงหยิบมือ ที่เคยไปเรียนที่นั่น เมื่อหลังสงครามโลกครั้งแรก นำโดยดอกเตอร์ปรีดี พนมยงค์ ก็เคยซึมซับแนวคิดทางการเมืองอันก้าวหน้า แล้วกลับมา “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” กลับข้างให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้มีสิทธิมีเสียง กันมาแล้ว
กับบรรดาศิลปินแจ๊สนั้น ปารีสโอบอุ้มไว้อย่างอบอุ่นเสมอมา นักดนตรีผิวดำที่เคยอยู่อย่างน้อยเนื้อต่ำใจในอเมริกา เวลามาปารีส ก็มักได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอบ่าเสมอไหล่ ปารีสได้ต้อนรับนักดนตรีแจ๊สอเมริกันมาแล้วทุกรุ่น ตั้งแต่รุ่นเก๋าอย่าง Sidney Bechet, Dizzy Gillizpy, Charlie Parker, Thelonious Monk, Miles Davis, John Coltrane ไล่เรียงมาจนถึงรุ่นกลางอย่าง Herbie Hancock, Wayne Shorter, Ron Carter, Tony Williams และรุ่นล่าสุด อย่าง Patricia Barber และ Norah Jones ก็ล้วนต้องมาเยี่ยมเยียน St.-Germain des Pres กันเป็นครั้งคราว
ตามร้านขายเพลงแถวนี้ ผมเห็นโปสเตอร์ใหญ่โปรโมทอัลบั้มเพลงแจ๊สอยู่ทั่วไปหมด Ascenseur pour L’echafaud คือหนึ่งในนั้น ชาวแจ๊สปารีสชอบอัลบั้มนี้มาก แม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายสิบปีแล้ว มันก็ยังขายดีอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย Miles Davis เป็นคนทำเพลงชุดนี้เองทั้งหมด ในระหว่างที่เขาถูกเชิญให้ไปเล่นที่ CLUB ST.-GERMAIN ถ้าใครเคยดู DVD ชุด The Miles Davis Story ตอนที่มีการสัมภาษณ์ Louis Malle ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ก็จะรู้ว่า เพลงชุดนี้เป็นการ “ด้นสด” (Improvisation) อย่างแท้จริง Miles ทำงานชุดนี้ โดยนำภาพยนตร์มาดูก่อนแบบคร่าวๆ แล้วก็คิดเพลงประกอบว่าควรจะออกมาแนวไหน แล้วก็บอกแนวทางต่อนักดนตรีร่วมวงว่าให้เล่นคอร์ดอะไรบ้าง ซึ่งประกอบด้วย Kenny Clark (กลอง), Pierre Michelot (เบส), Barney Wilen (เซ็กโซโฟน), และ Rene Urtreger (เปียโน) ต่อจากนั้น เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของภาพยนตร์แนวฆาตกรรม ก็ให้หาตึกเก่าๆ ที่มืดๆ ทึมๆ หลังหนึ่ง สำหรับบันทึกเสียง โดยฉายภาพยนตร์ไปด้วยและบรรเลงไปด้วยแบบสดๆ ไม่มีการเขียนโน้ตไว้ก่อนแม้แต่น้อย
ภาพยนตร์เรื่องนี้ ออกฉายในอังกฤษด้วยชื่อ Lift to the scaffold แต่ออกฉายในอเมริกาด้วยชื่อ Elevator to the Gallows อาจแปลเป็นไทยแบบตรงตัวได้ว่า “ลิฟท์สู่ตะแลงแกง” ผมชอบฉากที่ Jeanne Moreau เดินบนถนน Champs-Elysees อย่างกระวนกระวายแกมสิ้นหวังว่าชู้รักที่เพิ่งลงมือฆ่าสามีเธอไปหมาดๆ นั้น (นำแสดงโดย Maurice Ronet) คงจะทิ้งเธอไปเสียแล้ว ฉากนั้น ปารีส สวยคลาสสิกมาก แม้วว่าหนังเรื่องนี้จะเป็น Film Noir ก็ตาม และเมื่อนึกถึงตอนที่ Miles เป่าเพลงประกอบฉากนี้ คือ Florence Sur Les Champs-Elysees ขณะที่ระหว่างนิ้วยังคงคีบบุหรี่อยู่ด้วยแล้ว มันช่างดูเป็น Art Form เสียนี่กระไร
Ascenseur pour L’echafaud บันทึกเสียงเมื่อวันที่ 5 และ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2500 มีทั้งหมด 26 เพลง (รวม Alternative Takes ด้วยทั้งหมด) แทบทุกเพลง ฟังไพเราะ ถ้าใครชอบ Bird of the Cool (Capital T762) และ Kind of Blue (Columbia CL1355 หรือ CS8163) แล้ว ก็ต้องชอบอัลบั้มนี้ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะถือว่าอยู่ในช่วง “Cool Period” ที่ขั้นอยู่ตรงกลางระหว่างอัลบั้มทั้งสองนั้น ผมคิดว่าขณะนั้น ความคิดของ Miles กำลังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” เขากำลังอยู่ในช่วงตกผลึก และกำลังจะ Breakthrough ในเชิงของ Modal Jazz ซึ่งแสดงออกอย่างลึกซึ้งที่สุดผ่านอัลบั้มชุด Kind of Blue ที่บันทึกเสียงหลังจากนั้นเพียง 15 เดือน
ผมเห็นด้วยกับ Miles Davis ที่เคยบอกว่า Paris นั้น มี “กลิ่น” เฉพาะตัวที่ต่างกับที่อื่น ดมไปก็คล้ายเป็นกลิ่นอโรมาของกาแฟ แต่สูดอีกทีก็เหมือนกับกลิ่นมะนาวควายที่ผสมกับน้ำมะพร้าวแล้วเทลงไปในแก้วเหล้า ที่คืนนั้น ณ CAVEAU de la HUCHETTE ผมดื่มเข้าไปไม่น้อยเลย
เป็นเวลาของวันใหม่แล้ว ที่คลับเพิ่งเลิกรา ทั้งนักดนตรีและบรรดานักเต้นเท้าไฟ ต่างขึ้นมานั่งดื่ม นั่งคุยกันต่อ อย่างออกรส แต่ผมอยู่ต่อไม่ได้แล้ว เพราะ TGV เที่ยวแรกกำลังจะออกจาก Gare de Lyon เวลา 6.20 นี้เอง
Aix-en-Provence คือจุดหมายต่อไป
Good Buy……….Paris is Jazz, & Jazz is Paris
AU REVOIR !
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
20 ตุลาคม 2550
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร MBA ฉบับเดือนธันวาคม 2550
คลิกฟัง Autumn Leaves สำเนียง Miles Davis ได้ตามลิงก์ข้างล่างครับ
คลิกฟัง Autumn Leaves สำเนียง Miles Davis ได้ตามลิงก์ข้างล่างครับ
วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554
Marantz 1 Prototype
1. ผมได้เห็น Marantz Model 1 รุ่นแรกสุด หลังจากตีพิมพ์บทความว่าด้วย Marantz 1 และ Marantz 2 ไปแล้วหลายปี (อ่านได้จากบทความลำดับถัดไป) รายละเอียดของ Marantz 1 รุ่นแรก แตกต่างจากรุ่นต่อๆ มาหลายแง่มุม ทั้งในเชิงหน้าตาและอุปกรณ์ที่ผู้ออกแบบเลือกใช้ ทว่าโครงสร้างวงจรไม่ต่างกันมากอย่างมีนัยสำคัญ เพียงเครื่องแรกนี้อาศัยหลอด 12AU7 ขยายสัญญาณขั้นที่สองระหว่าง 12AX7 สองหลอดหัวท้าย ซึ่งเป็นความตั้งใจแรกของผู้ออกแบบ ก่อนจะเปลี่ยนใจมาใช้หลอด 12AX7 สามหลอดรวดในเวลาต่อมา นับเป็น Major Change เพียงแง่มุมเดียว โดยผมยังค้นคว้าไม่พบว่าทำไมผู้ออกแบบเปลี่ยนใจและอะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริง ได้แต่สอบถามผู้รู้และกะเก็งความจริงไปตามประสาคนรุ่นหลัง แฟนๆ Marantz และท่านผู้สนใจลองพิศดูภาพถ่ายก็อาจจะแปลกใจเหมือนผม
2. ตัว Knob แถวบนยังเป็น Bakelite ยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นทองเหลืองเยี่ยงเดียวกับแถวล่าง และการวางตำแหน่งตัวสกรีนรอบ Selector ก็ต่างกัน คือตำแหน่ง TV และ Extra วางกันคนละตำแหน่งกับรุ่นหลัง อีกทั้งภาษาที่ใช้กับสกรีนรอบปุ่ม Bass และ Treble ภายใต้วงจร Record Equalizer (สองปุ่มขวาสุด) ก็ต่างกัน แถม Selector Switch ที่ใช้ผลักซ้ายขวา (ขวาเป็น Tape) ซึ่งเจาะเป็นรูเล็กๆ ใต้ Selector (ปุ่มซ้ายสุด) ก็ยังไม่ปรากฎให้เห็น และไฟสัญญาณ (สีแดงเล็กๆ แถวล่าง ใกล้กับปุ่มทองเหลือง On/Off ด้านขวาสุด) ยังคงวางไว้ด้านซ้ายของปุ่ม On/Off ผิดกับรุ่นหลังที่สลับกัน
3. ขนาดอักษร (Font) ของคำว่า Marantz ที่อยู่แถวบนสุดตรงกลางคล้ายยอดปิรามิด เทียบแล้วเล็กกว่าสกรีนของรุ่นหลัง
4. ฝาด้านบนเจาะแผงระบายอากาศค่อนไปด้านหลัง โดยยึดกรูทั้งหมด 8 ตัวเหมือนกับรุ่นต่อมา แต่พอถึงรุ่นหลังสุด ได้ขยายอาณาเขตของแผงระบายอากาศให้ใหญ่ ครอบคลุมยิ่งขึ้น
5. สมัยโน้นยังไม่ได้ใช้ชื่อเรียกเป็นทางการว่า Marantz Model 1 และยังไม่ได้สกรีนคำว่า "Model 1" ที่ด้านหลัง เอกสารคู่มือเรียกโมเดลนี้ว่า Audio Consolette และรูปแบบตัวหนังสือ (Font) ที่สกรีนลงบนแผงหน้าปัดก็ต่างกันกับเครื่องรุ่นหลัง
6. ด้านหลังยังไม่ได้สกรีนคำว่า "Model 1" ทว่าตำแหน่งจุดต่อเชื่อมสายสัญญาณและ Tube Sockets คงเดิม คืออยู่ตำแหน่งเดียวกันทุกรุ่นการผลิต
7. เห็นชัดเจนว่าดีไซน์แรกเริ่มเดิมทีนั้น ผู้ออกแบบตังใจให้ภาคขยายสัญญาณขั้นที่สองต้องผ่านหลอด 12AU7 ซึ่งได้เปลี่ยนเป็น 12AX7 ทันทีในรุ่นการผลิตถัดมา (ซึ่งยังคงใช้ Knob แถวบนเป็น Bakelite เช่นเดียวกับรุ่นแรก) และครั้นจำเนียรกาลผ่านไป ก็ได้คงดีไซน์ "12AX7 x 3" นั้นไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ตลอดอายุไขของมัน จนกระทั่งเลิกผลิตในอีก 8 ปีต่อมา
8. ปลั๊ก Bulgin Style AC Plug ตัวผู้ จุดต่อเชื่อมสาย Power Cord กับ Power Supply ยุคแรก ที่ต่อมาปรับเปลี่ยนหน้าตาและเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า Marantz Type 4 หรือ Marantz Model 4 นั่นเอง
9. Marantz Model 1 เป็นปรีแอมป์ระบบโมโน หากต้องการฟังในแบบสเตอริโอต้องใช้สองเครื่องประกบกัน ซึ่งต่อมาได้ออกแบบ Marantz Model 6 เพื่อให้ทำหน้าที่เป็น Stereo Adaptor มาต่อเชื่อมกับ Marantz 1 จำนวนสองตัว ทว่าสามารถปรับควบคุมได้จากแผงหน้าปัดเดียว ก่อนออก Marantz Model 7C ซึ่งเป็นปรีแอมป์สเตอริโอหลอดที่ขายดีที่สุดในโลกยุคนั้น
10. มองด้านหลังจากมุมสูง ดูเหมือนฝาแฝด
11. Serial Number สกรีนไว้ด้านบนของแนวหลอด ต้องพลิกกลับจึงจะมองเห็น ต่างกับรุ่นหลังที่สกรีนไว้บน Chassis ด้านใน ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อเปิดฝาออก
12. "#1-2204" ถูกเขียนไว้ในสไตล์วินเทจ เพื่อแสดงตัวตนของเครื่องนี้
13. "#1-2205" เป็นน้องที่คลานตามมาติดๆ ในล็อตเดียวกัน
14. หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านและแฟนๆ มาร้านซ์กันบ้างไม่มากก็น้อย หากใครมีข้อมูลและความเห็นเพิ่มเติม ก็สามารถแลกเปลี่ยนต่อยอดกันได้ในบล็อกนี้เลยครับ นับว่าเทคโนโลยีดิจิตัลช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้รักอนาล็อกแบบพวกเราได้แยะ
2. ตัว Knob แถวบนยังเป็น Bakelite ยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นทองเหลืองเยี่ยงเดียวกับแถวล่าง และการวางตำแหน่งตัวสกรีนรอบ Selector ก็ต่างกัน คือตำแหน่ง TV และ Extra วางกันคนละตำแหน่งกับรุ่นหลัง อีกทั้งภาษาที่ใช้กับสกรีนรอบปุ่ม Bass และ Treble ภายใต้วงจร Record Equalizer (สองปุ่มขวาสุด) ก็ต่างกัน แถม Selector Switch ที่ใช้ผลักซ้ายขวา (ขวาเป็น Tape) ซึ่งเจาะเป็นรูเล็กๆ ใต้ Selector (ปุ่มซ้ายสุด) ก็ยังไม่ปรากฎให้เห็น และไฟสัญญาณ (สีแดงเล็กๆ แถวล่าง ใกล้กับปุ่มทองเหลือง On/Off ด้านขวาสุด) ยังคงวางไว้ด้านซ้ายของปุ่ม On/Off ผิดกับรุ่นหลังที่สลับกัน
3. ขนาดอักษร (Font) ของคำว่า Marantz ที่อยู่แถวบนสุดตรงกลางคล้ายยอดปิรามิด เทียบแล้วเล็กกว่าสกรีนของรุ่นหลัง
4. ฝาด้านบนเจาะแผงระบายอากาศค่อนไปด้านหลัง โดยยึดกรูทั้งหมด 8 ตัวเหมือนกับรุ่นต่อมา แต่พอถึงรุ่นหลังสุด ได้ขยายอาณาเขตของแผงระบายอากาศให้ใหญ่ ครอบคลุมยิ่งขึ้น
5. สมัยโน้นยังไม่ได้ใช้ชื่อเรียกเป็นทางการว่า Marantz Model 1 และยังไม่ได้สกรีนคำว่า "Model 1" ที่ด้านหลัง เอกสารคู่มือเรียกโมเดลนี้ว่า Audio Consolette และรูปแบบตัวหนังสือ (Font) ที่สกรีนลงบนแผงหน้าปัดก็ต่างกันกับเครื่องรุ่นหลัง
6. ด้านหลังยังไม่ได้สกรีนคำว่า "Model 1" ทว่าตำแหน่งจุดต่อเชื่อมสายสัญญาณและ Tube Sockets คงเดิม คืออยู่ตำแหน่งเดียวกันทุกรุ่นการผลิต
7. เห็นชัดเจนว่าดีไซน์แรกเริ่มเดิมทีนั้น ผู้ออกแบบตังใจให้ภาคขยายสัญญาณขั้นที่สองต้องผ่านหลอด 12AU7 ซึ่งได้เปลี่ยนเป็น 12AX7 ทันทีในรุ่นการผลิตถัดมา (ซึ่งยังคงใช้ Knob แถวบนเป็น Bakelite เช่นเดียวกับรุ่นแรก) และครั้นจำเนียรกาลผ่านไป ก็ได้คงดีไซน์ "12AX7 x 3" นั้นไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ตลอดอายุไขของมัน จนกระทั่งเลิกผลิตในอีก 8 ปีต่อมา
8. ปลั๊ก Bulgin Style AC Plug ตัวผู้ จุดต่อเชื่อมสาย Power Cord กับ Power Supply ยุคแรก ที่ต่อมาปรับเปลี่ยนหน้าตาและเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า Marantz Type 4 หรือ Marantz Model 4 นั่นเอง
9. Marantz Model 1 เป็นปรีแอมป์ระบบโมโน หากต้องการฟังในแบบสเตอริโอต้องใช้สองเครื่องประกบกัน ซึ่งต่อมาได้ออกแบบ Marantz Model 6 เพื่อให้ทำหน้าที่เป็น Stereo Adaptor มาต่อเชื่อมกับ Marantz 1 จำนวนสองตัว ทว่าสามารถปรับควบคุมได้จากแผงหน้าปัดเดียว ก่อนออก Marantz Model 7C ซึ่งเป็นปรีแอมป์สเตอริโอหลอดที่ขายดีที่สุดในโลกยุคนั้น
10. มองด้านหลังจากมุมสูง ดูเหมือนฝาแฝด
11. Serial Number สกรีนไว้ด้านบนของแนวหลอด ต้องพลิกกลับจึงจะมองเห็น ต่างกับรุ่นหลังที่สกรีนไว้บน Chassis ด้านใน ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อเปิดฝาออก
12. "#1-2204" ถูกเขียนไว้ในสไตล์วินเทจ เพื่อแสดงตัวตนของเครื่องนี้
13. "#1-2205" เป็นน้องที่คลานตามมาติดๆ ในล็อตเดียวกัน
14. หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านและแฟนๆ มาร้านซ์กันบ้างไม่มากก็น้อย หากใครมีข้อมูลและความเห็นเพิ่มเติม ก็สามารถแลกเปลี่ยนต่อยอดกันได้ในบล็อกนี้เลยครับ นับว่าเทคโนโลยีดิจิตัลช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้รักอนาล็อกแบบพวกเราได้แยะ
วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2554
The Sound of Classic Marantz
(ตอน Marantz 1 + Marantz 2)
“สำเนียงเสียงของมารานซ์อบอุ่น ดั่งสำเนียงไวโอลิน Stradivarius มันให้เสียงเริงร่าประดุจเสียง Flute ยโสวางท่าดั่ง Bassoon และโหยหวนรัญจวนใจดั่ง French horn เสียงมารานซ์งามดั่งทิพยดนตรี อุปกรณ์ทุกชิ้นถูกออกแบบมาเพื่อนำคุณเข้าถึงความงามของทิพยดนตรีอย่างถึงที่สุด”
“The Sound of Marantz is the compelling warmth of a Stradivarius. It is a dancing flute, a haughty bassoon and the plaintive call of a lone French horn. The Sound of Marantz is the sound of beauty, and Marantz equipment is designed to bring you the subtle joy of its delight.”
นั่นเป็นคำโฆษณาบางส่วนจากคู่มือมารานซ์ยุคแรก
นักสะสมเครื่องเสียงประเภท Vintage Hi-fi แทบทุกคน ย่อมรู้จักคลาสิกมารานซ์ และมักจะมีมารานซ์ยุคแรกอยู่ในครอบครองไม่มากก็น้อย อันที่จริงมารานซ์นั้นเกิดมาพร้อมกับยุค Hi-Fi ทั้งยังมีส่วนกำหนดชี้นำการออกแบบและการผลิตเครื่องเสียงโลก ในยุคต่อๆ มา ไม่น้อยเลย เครื่องเสียงมารานซ์ยุคแรก จัดได้ว่าเป็นงานต้นแบบของอุตสาหกรรมเครื่องเสียงไฮเอนด์ของโลก การสร้างเครื่องเสียงในยุคนั้น เปรียบได้กับการสร้างงานศิลปะในระดับ Work of Art ทั้งในแง่ของการออกแบบวงจร รูปทรง และความใส่ใจในรายละเอียด ตลอดจนการวางตำแหน่งของอุปกรณ์และการเดินสายสัญญาณเชื่อมต่อภายใน ที่ต้องทำด้วยมือ (Hand made) เสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อประกอบกับคุณภาพเสียงและความคงเส้นคงวาของแนวเสียง ตลอดจนความคงทนของอุปกรณ์ที่เลือกใช้ เมื่อเวลาผ่านไปกว่าครึ่งทศวรรษ ทำให้เครื่องเสียงยุคแรกของมารานซ์เป็นที่ต้องการในอันดับต้นๆ ของนักสะสมทั่วโลก ปัจจุบันเครื่องเสียง Marantz ยุคแรก โดยเฉพาะตั้งแต่ Model 1 – Model 10B นั้น ได้กลายเป็นของหายากมาก และเป็นของที่มีราคาแพงในตลาดของสะสมไปเสียแล้ว
ผมก็เป็นคนหนึ่งที่สนใจศึกษาเรื่องราวของเครื่องเสียงมารานซ์ยุคแรก โดยแรงบันดาลใจแรกของผมมาจากสาเหตุที่ผมชมชอบฟังเพลงแจ๊สและคลาสิกที่บันทึกเสียงในยุคกึ่งพุทธกาล หรือราวทศวรรษที่ 50 และ 60 แผ่นเสียงยุคแรกที่ผมมีอยู่ส่วนใหญ่ ถ้าเป็นแผ่นแจ๊สก็จะเป็นแผ่นโมโน เช่นของ Blue Note หรือ Prestige เป็นต้น และถ้าเป็นแผ่นเพลงคลาสิก ก็จะเป็นแผ่นสเตอริโอยุคแรกของค่ายแผ่นเสียงในยุโรป กิเลสหลักของผมก็คือ ผมอยากฟังสำเนียงเสียงแบบดั้งเดิมอย่างที่คนยุคนั้นได้ยินได้ฟัง ผมจึงคิดว่า Marantz หรือ McIntosh กับเครื่องเล่นแผ่นเสียงยุคเก่าพร้อมหัวเข็มโมโนที่สร้างขึ้นในยุคนั้น อาจเป็นคำตอบให้ผมได้ อย่างน้อยมันก็เป็นความสุขทางใจแบบหนึ่ง แม้นว่าผมจะเกิดไม่ทันยุคที่ว่านั้นก็ตาม ที่น่าคิดก็คือ พวกคอลัมนิสต์คนสำคัญของฝรั่งปัจจุบัน กลับเรียกยุคดังกล่าวนั้นว่า “ยุคทองของไฮไฟ” (The Golden Age of Hi Fidelity)
ผมแรกพบกับคลาสิกมารานซ์พร้อมกันทั้ง Model 1 และ Model 2 ที่บ้านดอกเตอร์สุกิตติ กลางวิสัย นักสะสมรุ่นใหญ่คนสำคัญของเมืองไทย ซึ่งเครื่องมารานซ์ที่ท่านสะสมไว้นั้น นัยว่าสามารถนับสืบย้อนไปจนเกือบถึงตัว Saul Marantz ผู้เป็นต้นกำเนิดของตำนานทั้งหมด ความประทับใจในตำนานมารานซ์ที่ท่านเจ้าของบ้านเล่าให้ฟัง อีกทั้งรูปลักษณ์และสำเนียงเสียงที่ฉีกแนวไปจากเครื่องเสียงรุ่นใหม่ ทำให้ผมเริ่มสนใจศึกษาลงลึก ทั้งในเชิงของการสะสม และในเชิงเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบวงจร รายละเอียดการใช้อุปกรณ์ภายใน คุณลักษณะและศักยภาพของหลอดแต่ละชนิด ตลอดจนความสามารถของฟังชั่นต่างๆ และการตีความผลลัพธ์เชิงคุณภาพเสียง ซึ่งความรู้ในเชิงเทคนิคเหล่านั้น ผมได้รับความเอื้ออาทร ถ่ายทอดมาจาก คุณศานิต กฤตศิลปานนท์ อีกทอดหนึ่ง
นั่นจึงเป็นที่มาของบทความชุดนี้ ที่ผมตั้งใจทดลองเขียนขึ้นสำหรับนักสะสม และผู้สนใจไหลหลงในเครื่องเสียงยุคเก่า ตลอดจนผู้ที่ต้องการศึกษาแนวการออกแบบวงจรของเครื่องเสียงรุ่นสำคัญๆ ในอดีต (ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกับที่เคยเขียนเรื่องการสะสมแผ่นเสียงเพลงแจ๊ส ที่ว่าบทความประเภทนี้ แทบจะหาอ่านไม่ได้เอาเลยในภาคภาษาไทย) โดยจะเริ่มจาก Marantz ยุคคลาสิคก่อนเป็นเบื้องแรก หากมีผู้สนใจติดตาม ก็คาดว่าจะลามออกไปสู่ยี่ห้ออื่นในลำดับถัดไป หวังว่าบทความชุดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อวงการเครื่องเสียงไทยบ้าง ไม่มากก็น้อย
Saul Marantz
ศิลปินอิเล็กทรอนิกส์
เรื่องราวของ Marantz เริ่มต้นเมื่อราวๆ 60 ปีก่อน เมื่อโลกเริ่มรู้จักกับระบบการบันทึกเสียงที่ดีขึ้น มีการผลิตอุปกรณ์และการบันทึกเสียงที่มีความเหมือนจริงมากขึ้น ความสนใจของคนในยุคนั้นจึงเริ่มหันเหจากที่เคยต้องเข้าไปนั่งในคอนเสิร์ตฮอลล์ หรือโรงละครเพื่อเสพความสุนทรีย์จากดนตรี ก็เริ่มหันมาเลือกเสพความสุนทรีย์นั้นผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถจำลองเสียงเหล่านั้นมาที่ห้องนั่งเล่นในบ้านได้
หนึ่งในผู้สนใจเรื่องราวนี้คือ Saul Bernard Marantz ชายหนุ่มชาวนิวยอร์ก ผู้หลงใหลในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเสียงเพลง หนุ่มคนนี้มีความสนใจในงานศิลปะ การถ่ายภาพ เล่นกีตาร์คลาสสิก และสะสมงานศิลปะของโลกตะวันออก แต่ด้วยในขณะนั้นอุปกรณ์ที่มีอยู่ยังไม่สามารถตอบสนองคุณภาพเสียงที่ดีขึ้นจากการบันทึกได้ จึงเป็นต้นเหตุให้เขาเริ่มคิดค้นเครื่องเสียงของตัวเองขึ้นมา
จากประสบการณ์การทำงานด้านอิเล็กทรอนิกส์ในกองทัพสหรัฐฯ และ ในฐานะคนทำงานด้านศิลปะอิสระ Saul B. Marantz เริ่มต้นสร้างผลงานชิ้นสำคัญของตัวเองภายในโรงรถของบ้านที่นิวยอร์ก เขาถอดวิทยุติดรถยนต์จากรถ Mercury 1940 ของตนเอง เพื่อนำมาใช้ในห้องนั่งเล่น เมื่อนำมารวมกับอุปกรณ์ที่ซื้อเพิ่มเติมจากร้าน Harvey Radio Store ในแมนฮัตตัน สิ่งที่เขาสร้างขึ้นมาคือ Pre Amplifier คุณภาพดีมาก ที่เขาตั้งชื่อให้ว่า Audio Consolette
จุดเด่นที่ Saul B. Marantz คิดค้นให้กับเครื่องปรีแอมป์ของตัวเอง คือการตัดเสียงรบกวนซึ่งเกิดจากการบันทึกและการเล่นแผ่นเสียง โดยใช้อุปกรณ์ Equalizers ที่สามารถปรับความถี่ของเสียงในแต่ละย่าน เพื่อควบคุมคุณภาพเสียงที่ออกมา
ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการคิดค้น Audio Consolette ทำให้เพื่อนของ Marantz ตื่นตาตื่นหูไปกับอุปกรณ์ของเขา และที่สำคัญคือทำให้คู่ชีวิตของ Marantz พยายามผลักดันให้เขาผลิตเครื่องรุ่นนี้ออกจำหน่ายในวงกว้าง ด้วยเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะผลิตเพียง 100 ชุดในเบื้องต้น Saul Marantz ก็ต้องประหลาดใจกับใบสั่งซื้อที่หลั่งไหลเข้ามากว่า 400 ชุด เขาจึงคิดทำเป็นล่ำเป็นสัน ด้วยการเปิดบริษัท Marantz ขึ้นมาในปี 2497 นับเป็นการเริ่มต้นสร้างเครื่องเสียง Marantz ที่ตามด้วยคำว่า Model ต่างๆ ตามมา
Saul B. Marantz ร่วมกับคู่คิดนักประดิษฐ์เครื่องเสียงอย่าง Sidney Smith และ Richard Sequerra สร้างสรรค์ผลงานออกมาเป็นเครื่องเสียงที่ได้รับการยอมรับต่อเนื่องกันมาอีกหลายรุ่น (Richard Sequerra คนนี้แหละที่ร่วมออกแบบ Marantz 10B และ Day Sequerra FM Reference Tuner ซึ่งยังคงเป็น Tuner ที่ได้รับการยอมรับกันว่าดีที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีการสร้างกันมา)
ช่วงต้น Marantz ใช้เครื่อง Audio Consolette เป็นตัวเปิดตลาด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Marantz Model 1) ตัวนี้เป็นปรีแอมปริฟลายเออร์โมโน ที่มีระบบปรับเสียงมาตราฐานเดียวกับ RIAA ที่คิดค้นขึ้นในช่วงเดียวกัน มีช่อง Input 6 ช่อง ซึ่งรวมถึงช่องต่อ TV Audio ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นการเปิดศักราชของความบันเทิงในบ้านอย่างครบวงจรเป็นครั้งแรกของโลก ก่อนหน้าที่ระบบโฮมเธียรเตอร์จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง
พอถึงปี 2499 Marantz 40-Watt Amplifier (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Marantz Model 2) ก็ออกสู่ตลาด และก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ถึงแม้จะเป็นแอมป์ที่แพงที่สุดในยุคนั้น ความสำเร็จของ Model 1 กับ Model 2 ทำให้ Marantz ออก Model 5 ซึ่งเป็นแอมป์ที่มีวงจรคล้าย Model 2 แต่ราคาถูกลง เพื่อทำตลาดในระดับรองลงมา
พอถึงยุคสเตอริโอ Marantz ก็คิดค้น Model 6 ซึ่งเป็น Stereo Adapter สำหรับ Marantz 1 คือสามารถใช้ Model 1 สองตัวกับ Model 6 แล้วเล่นเป็นปรีสเตอริโอได้ และในปีต่อมาก็ได้ออกปรีแอมป์ระบบสเตอริโอตัวแรกคือ Model 7C ซึ่งได้กลายเป็นตำนานด้วยยอดขายกว่า 130,000 เครื่องในระหว่าง 9 ปีที่วางตลาดอยู่นั้น แสดงให้เห็นถึงความต้องการของนักฟังที่มีต่อผลงานของ Marantz และทีมงานยุคนั้น ถือเป็นยุคที่ Marantzรุ่งเรืองที่สุด และสมองของพวกเขาก็ Bright ที่สุดด้วย การสร้างงานในช่วงนั้นของพวกเขา มักไม่คำนึงถึงต้นทุน พวกเขาเริ่มทุ่มเททำในสิ่งที่มีคุณภาพสูง และต้องเป็นตำนานอย่าง Marantz 9 แอมป์โมโนบล็อกกำลังขับ 70 วัตต์ ที่แพงที่สุดในยุคนั้น และ Marantz 10B ซึ่งเป็น FM Tuner หลอด ที่พวกเขาทุ่มเทเงินทองจำนวนมหาศาลไปกับการวิจัย จนทำให้บริษัทประสบปัญหา แม้ว่า Marantz 10B จะได้รับการยอมรับว่าเป็น Tuner หลอด ที่ดีที่สุดในโลกก็ตามที
นั่นตรงกับปี 2507 ที่เขาต้องขายกิจการให้กับ Superscope Inc. ซึ่งต้องการเก็บเกี่ยวชื่อเสียงของ Marantz ด้วยการลงตลาดระดับกลาง ต่อมา Marantz ก็เปลี่ยนมือไปอยู่ใต้ธงของ Philips ก่อนจะมาเป็นของ D&M สัญชาติญี่ปุ่นในปัจจุบัน ส่วนตัว Saul Marantz ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในวงการเครื่องเสียง เขาก่อตั้งกิจการเครื่องเสียงอีกสองสามแห่งแต่ก็ไม่โด่งดัง เขาเสียชีวิตเมื่อปี 2540 ด้วยวัย 86 ปี
ผมชมชอบผลงานของ Jackie Mclean ศิลปินแจ๊สผู้ล่วงลับที่สร้างผลงานไว้มากในหลายช่วงของชีวิต ผมสะสมแผ่นเสียงของเขาเกือบครบ แต่ผมชอบงานยุคแรกของเขาที่สุด ผมว่ายุคนั้นเป็นยุคที่เขา Bright มาก งานของ Marantz ก็เฉกเช่นเดียวกัน ผมว่า ตั้งแต่ Model 1 – Model 10B นั้น ถือเป็นงานคลาสิกของวงการเครื่องเสียง เป็นงานในระดับ Work of Art ที่วิศวกร นักออกแบบ และนักสร้างเครื่องเสียงรุ่นหลัง ยังต้องกลับไปอ้างอิงถึงเสมอ เสมือนหนึ่งศิลปินยุคใหม่ที่รู้สึกกับงานยุค Blue Period ของปิกาสโส และงาน Impressionism ของแวนโก ฉันใดก็ฉันนั้น
THE CLASSIC MARANTZ’S
ที่พึงปรารถนา
รุ่น, ปีที่เริ่มผลิต (พ.ศ.), ประเภท*
Marantz Model 1 2497 ปรีแอมป์ฯ โมโน
Marantz Model 1 2497 ปรีแอมป์ฯ โมโน
Marantz Model 2 2499 พาวเวอร์แอมป์ฯ โมโน 40 วัตต์
Marantz Model 3 2500 Electronic Crossover สองทาง
Marantz Type 4 2500 Power Supply ใช้คู่กับ Model 1 และ 3
Marantz Model 5 2501 พาวเวอร์แอมป์ฯ โมโน 50 วัตต์
Marantz Model 6 2501 Stereo Adapter เพื่อใช้คู่กับ Model 1
Marantz Model 7C 2501 ปรีแอมป์ฯ สเตอริโอ
Marantz Model 8 2502 พาวเวอร์แอมป์ฯ สเตอริโอ 60 วัตต์
Marantz Model 8 2502 พาวเวอร์แอมป์ฯ สเตอริโอ 60 วัตต์
Marantz Model 9 2503 พาวเวอร์แอมป์ฯ โมโน 70 วัตต์
Marantz Model 8B 2504 พาวเวอร์แอมป์ฯ สเตอริโอ
Marantz Model 10B 2506 FM Tuner
*เครื่องเสียงยุคนี้ยังคงเป็นเครื่องเสียงหลอดทั้งหมด
Marantz Model 1
ต้นแบบความสำเร็จ
อย่างที่เกริ่นมาบ้างแล้วในตอนต้นว่าการออกแบบปรีแอมป์ที่เรียกว่า Audio Consolette ของ Marantz เมื่อ พ.ศ. 2497 นับเป็นต้นกำเนิดที่ทำให้โลกรู้จัก Marantz Model 1 โดยการคิดเผื่อให้กับผู้ใช้งาน สามารถนำไปใช้ได้ครบวงจร มีทั้ง Line Stage และ Phono Stage ถือว่าครบเครื่องสามารถใช้งานได้หลากหลาย ทั้งไมโครโฟน ทีวี เครื่องเล่นแผ่นเสียง (ทั้งช่องหัวเข็ม Low และ Mid-Level Output) เทป วิทยุ และช่อง Extra ที่สมัยนั้นออกแบบมาเพื่อหัวเข็มประเภท High Output อย่างหัวเข็มเซรามิกหรือ FM Cartridge แต่ก็สามารถประยุกต์ใช้กับแหล่งกำเนิดเสียงชนิดอื่นที่จะมาถึงในอนาคตอย่าง CD ได้ นอกจากนั้นยังออกแบบวงจรที่ใช้สำหรับบันทึกเสียงจากแหล่งเสียงลงม้วนเทปเป็นเฉพาะออกไป โดยผู้บันทึกสามารถปรับ Record Equalizer ได้ตามต้องการถึง 6 สเต็ป
คู่แข่งสำคัญของ Marantz ในสมัยนั้นก็คือ McIntosh ซึ่งมีปรีแอมป์ร่วมสมัยอยู่ในตลาดไฮเอนขณะนั้น 3 รุ่นด้วยกันคือ C-104, C-108, และ C-4 ปรีแอมป์เหล่านี้ล้วนได้รับความกระทบกระเทือนเมื่อ Marantz 1 ออกสู่ตลาด แม้ว่า Marantz 1 จะตั้งราคาสูงกว่าเกือบสามเท่าตัว ทำให้ McIntosh ต้องออก C-8 เพื่อมาสู้กับ Marantz 1 โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม Marantz 1 ก็ยังคงได้รับความนิยมยิ่งกว่าในหมู่ออดิโอไฟล์ และก็ยังคงได้รับความนิยมในหมู่นักสะสมปัจจุบันยิ่งกว่า C-8 อีกด้วย เพราะสังเกตจากราคาของ Marantz 1 ในตลาดของสะสมจะแพงกว่า C-8 หลายเท่าตัว
MARANTZ VS. MCINTOSH
คู่ปรับแห่งยุคกึ่งพุทธกาล* (ราคา ณ ขณะนั้น หน่วยเป็นเหรียญสหรัฐฯ)
ปรีแอมป์ค่าย Marantz ปรีแอมป์ค่าย McIntosh
ชื่อรุ่น ปีที่ผลิต ราคา ชื่อรุ่น ปีที่ผลิต ราคา
MODEL 1 2497-2507 168 C-104 2493-2497 60
C-108 2497-2498 87
C-4 2497-2502 64
C-8 2498-2502 88.5
C-4 2497-2502 64
C-8 2498-2502 88.5
MODEL 7C 2501-2507 285 C-8S 2501-2503 99
C-20 2502-2506 269
C-22 2506-2511 279
C-20 2502-2506 269
C-22 2506-2511 279
*เครื่องเสียงยุคนี้ยังคงเป็นเครื่องเสียงหลอดทั้งหมด
จากการค้นคว้าและสอบถามจากนักสะสม ผมพบว่า Marantz 1 จะมีอยู่ 3 รุ่น คือรุ่นแรกที่ยังไม่ได้เรียกชื่อว่า Model 1 เครื่องรุ่นนี้สังเกตได้ง่าย เพราะปุ่มปรับทั้ง 6 (Knobs) ที่อยู่ด้านหน้า จะทำด้วย Bakelite คล้ายๆ พลาสติกสีดำ ต่างกับเครื่องรุ่นหลังที่ปุ่มทั้งหมดเป็นโลหะ และยังใช้ Power Supply แบบเดิม ที่ยังไม่ได้ Upgrade เป็น Marantz Type 4 ซึ่งสังเกตง่ายๆ ว่าตัวกล่อง Power Supply แบบเดิมนี้จะเล็กกว่า Marantz 4 และช่องเสียบไฟ (outlet) 3 ตัวจะวางเรียงเป็นแนวยาวอยู่ด้านบน ไม่ใช่แนวขวางแบบ Marantz 4 อีกทั้งขั้วต่อที่เชื่อมกับ Model 1 ก็ยึดด้วยเหล็ก ไม่ได้หุ้มพลาสติกเป็นชิ้นเดียวเหมือนยุคหลัง
Marantz 1 รุ่นต่อมา ได้เปลี่ยนปุ่มปรับให้เป็นโลหะสีทองทั้งหมด หน้าของเครื่องรุ่นนี้ก็จะเป็นสีทองอ่อน (Blonde) ด้วย แต่ก็ยังคงใช้ Power Supply รุ่นเก่า และก็ยังไม่มีสกรีนคำว่า “Model 1” ที่ตัวถัง เช่นกัน
ส่วนรุ่นที่สามนั้น เข้าใจว่าเริ่มผลิตในอีกสามปีต่อมา เพราะด้านหลังจะมีข้อความระบุให้ใช้คู่กับ Marantz Type 4 Power Supply ซึ่งเริ่มผลิตเมื่อ พ.ศ. 2500 โดยรุ่นนี้จะมีหน้าเป็นสีทองเข้มออกไปทางเกือบทองเหลือง (Bronze) และด้านหลัง เหนือ Serial Number จะเขียนคำว่า Model 1 ไว้ด้วย (อันที่จริง ผมเพิ่งได้รับข้อมูลจากนักสะสมคนหนึ่งว่า Marantz เคยผลิต Marantz 1 หน้าเงิน (Chrome) เพื่อให้เข้าชุดกับ Marantz 9 ไว้ด้วย แต่คงผลิตไว้น้อยมาก เราจึงไม่ค่อยได้เห็นกัน ผมจึงขอให้เขาถ่ายรูปมาเพื่อประกอบบทความนี้ด้วย)
Serial Number ของ Marantz 1 ก็จะมีอยู่ 2 ระบบเช่นกัน คือเป็นแบบเลข 4 ตัว และแบบที่มีเลขหนึ่งนำหน้าแล้วถึงจะตามด้วยเลข 4 ตัว (เช่น 1-xxxx เป็นต้น) ส่วนกล่องไม้ก็จะมีให้เลือกเป็น 2 แบบ คือแบบสีทองและแบบสีมะฮอกกานี การออกแบบวงจรของ Marantz 1 เดินตามแนวคิดเดิมที่เน้นความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์ Saul Marantz เกี่ยวกับแนวคิดในการออกแบบวงจรของเขา ซึ่งเขาได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจในทำนองว่า เครื่องเสียงนั้น กว่าจะมาเป็นเครื่องเสียงสักเครื่องหนึ่งที่ผู้ฟังสามารถนำมาเสพความสุนทรียะภายในบ้านเรือนได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เช่นการเดินเข้าไปในร้านขายเครื่องเสียง เลือกชุดที่ดีที่สุดสำหรับหูของเรา จ่ายเงิน แล้วกลับบ้านฟัง หากสิ่งที่ต้องถือว่าเป็นต้นกำเนิดของเครื่องเสียงทุกชิ้นคือ “ความคิดของผู้ออกแบบ” ที่คาดหวังให้เครื่องของตนมีคุณสมบัติอย่างไร และผู้เสพจำต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้
อันที่จริง การออกแบบวงจรที่ใช้กันอยู่ในวงการเครื่องเสียงโลกปัจจุบัน ก็มีพื้นฐานมาจากวงจรที่มีอยู่ในเครื่องเสียงยุคดั้งเดิม ผ่านการปรับปรุง ขัดเกลา เปลี่ยนแปลงคุณภาพอุปกรณ์ เพิ่มเติมสิ่งที่ทำให้ดีขึ้น และตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป ภายใต้หลักการที่ว่า การนำเอาสัญญาณเสียงที่ผ่านเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้าเพื่อนำมาขยายสัญญาณ แล้วนำกลับไปสู่สัญญาณอนาล็อกแบบเสียงจริงที่เกิดขึ้น
นักออกแบบเครื่องเสียงจึงต้องสนใจเรื่องความผิดเพี้ยนระหว่างทางที่สัญญาณไฟฟ้านั้นเดินทางทั้งภายในเครื่องและระหว่างทางจากเครื่องหนึ่งไปสู่อีกเครื่องหนึ่ง ความพยายามทั้งปวงของผู้ประดิษฐ์เครื่องเสียงทั้งมวลจึงอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้เครื่องเสียงที่ตนเองประดิษฐ์ขึ้นมา สามารถให้เสียงที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะมากได้
สำหรับ Saul Marantz และทีมงานออกแบบของเขาแล้ว พวกเขาประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่า พวกเขานิยมความเรียบง่าย แต่แฝงด้วยความใส่ใจในรายละเอียด ด้วยการเฟ้นหาอุปกรณ์คุณภาพสูงที่เหมาะกับการใช้งาน ทั้งคาปาซิเตอร์ รีซีสเตอร์ โวลุ่ม สายไฟ ขดลวด หม้อแปลง และหลอดสุญญากาศ แม้กระทั่งวัสดุที่ใช้ในการหล่อแท่นเครื่องและตัวถัง ซึ่งพวกเขาคิดว่าเมื่อมันผสมเข้าด้วยกัน ตามแนวทางที่ได้ทำการวิจัยและพัฒนากว่าร้อยๆ ครั้งของพวกเขาแล้ว มันจะสามารถให้สำเนียงเสียงในมโนภาพที่คิดเอาไว้แต่ต้น ซึ่งพวกเขาเรียกมันว่า “แนวเสียงในอุดมคติของ Marantz” ดังนั้นอุปกรณ์หลายชิ้นที่อยู่ภายในเครื่องเสียง Marantz จึงมักใช้ของที่เป็นเกรดเดียวกับที่ใช้ในอุตสาหกรรมโทรศัพท์ ที่มีคุณสมบัติทนทาน มีความเที่ยงตรง แน่นอน ซึ่งถือเป็นเกรดสินค้าที่สูงมากในยุคนั้น ใครที่เคยฟังเสียงของ Marantz 1 ที่ยังคงอุปกรณ์ภายในเดิมๆ ทว่ายังหลงเหลือมาในยุคนี้ คงยืนยันความข้อนี้ได้ดี
หากพิจารณาตามพิมพ์เขียววงจร จะเห็นว่า Marantz ใช้วงจรแบบพื้นฐานของการออกแบบเครื่องเสียงหลอด ที่ประกอบด้วย Plate, Cathode, และ Grid นำมาผสมผสานกับหลักการ Condenser Coupling และ Direct Coupling โดยเลือกใช้หลอด 12AX7 จำนวน 3 หลอดเป็นตัวขยายสัญญาณ เพราะในสมัยนั้นต้องใช้สำหรับขยายสัญญาณหัวเข็มเครื่องเล่นแผ่นเสียงแล้วถึงสองหลอด และก็เหมือนกับวิศวกรนักออกแบบเครื่องเสียงในขณะนั้นที่ต้องใช้หลอดยี่ห้อ TELEFUNKEN และคอนเด็นเซอร์ยี่ห้อ Sprague (Sidney Corderman อดีตหัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมของ McIntosh ก็เคยกล่าวถึงหลอด TELEFUNKEN เบอร์ 12AX7 ไว้ในหนังสือ McIntosh: For the love of music ว่าเป็นยี่ห้อที่มีคุณภาพสูงที่สุดในบรรดา 12AX7 ด้วยกัน) จุดไส้หลอดด้วยไฟกระแสตรง ซึ่งแปลงไฟ (Rectify) โดย Bridge Rectifier Diode ที่อยู่ในภาคจ่ายไฟซึ่งแยกออกไปด้านนอกต่างหาก ไม่เกี่ยวกับตัวเครื่อง ช่วยป้องกันเสียงฮัมอันเนื่องจากการรบกวนของไฟสูง และการจุดไส้หลอดด้วยไฟกระแสตรงก็จะช่วยให้หลอดฮัมน้อยลงอีกด้วย ส่วนที่เหลือของภาคจ่ายไฟคือ ภาคกรองไฟหรือ Filter นั้นรวมอยู่ภายในกล่องแอมป์ ไม่ได้แยกออกไปรวมกับภาคแปลงไฟที่กล่าวมา
ภาคขยายของ Marantz 1 แบ่งเป็นสองส่วนคือ ภาคขยาย Phono (อันที่จริงเป็นกลุ่ม Low-level Input ซึ่งรวมไมโครโฟนไว้ด้วย) และ Line Stage โดยสัญญาณในภาค Phono จะผ่านเกนขยายจากสัญญาณขาเข้าที่ประมาณ 10 มิลิโวลท์ ผ่านหลอดแรก แล้วเพิ่มกำลังเป็น 0.4 โวลท์ ตอนขาออกไปรอพักไว้ที่ Selector พร้อมที่จะผ่านเข้าไปขยายในช่วงหลอดที่สอง ซึ่งออกแบบไว้ให้เป็นภาคขายสัญญาณ High Level ที่มาจาก Line Stage
ความพิเศษของวงจร Marantz 1 น่าจะอยู่ในช่วงนี้ คือผู้ออกแบบได้แทรกวงจร Record Equalizer ไว้ให้สามารถปรับทุ้มแหลมของตัวเองได้ เมื่อทำการบันทึกเสียงลงม้วนเทป และในขณะที่ Play Back อยู่นั้นก็สามารถใช้ประโยชน์จาก Equalizer ตัวนี้ได้ ตามแต่สภาพอคูสติกของห้องและความเหมาะสมของแหล่งเสียง (เช่น RIAA สำหรับบันทึกเสียงจากแผ่นเสียง เป็นต้น) ซึ่งวงจรแบบนี้ ปัจจุบันแทบจะหาไม่ได้ในเครื่องเสียงสมัยใหม่ เพราะถือกันว่าแหล่งเสียงยุคหลังบันทึกได้คุณภาพสูง จึงไม่จำเป็นต้องใช้วงจรเหล่านี้มาช่วยอีกต่อไป
นักสะสมแผ่นเสียงระดับหายากส่วนใหญ่ ที่นิยมบันทึกเสียงจากแผ่นเสียงลงม้วนเทปหรือซีดีไว้เปิดฟัง เพราะกลัวแผ่นเสียงสึกหรอเมื่อต้องเปิดบ่อยๆ น่าจะเอาประโยชน์จากวงจรประเภทนี้ได้มากทีเดียว
ย้อนกลับมากล่าวถึง เส้นทางเดินของสัญญาณที่ถูกขยายแล้วจากหลอดแรก ผ่านเข้ามาระหว่าง Triode แรกและ Triode หลังของหลอดที่สอง เราก็จะสังเกตเห็น Tone Control ที่รวมถึงปุ่มปรับเสียงทุ้มและเสียงแหลมในภาพรวมของเครื่อง ไว้ตรงนั้น เพื่อขยายสัญญาณผ่านเกนขยายของหลอด แล้วเตรียมส่งต่อสัญญาณผ่านเข้าทาง Grid ของหลอดถัดไปนั่นเอง
และก่อนที่จะส่งผ่านสัญญาณเข้าสู่พรมแดนของหลอดสุดท้าย ผู้ออกแบบก็ได้แทรกวงจร Loudness Compensator ไว้ระหว่างนั้น การทำงานของวงจรนี้เหมาะสำหรับการฟังในห้องฟังเล็กๆ เพราะมันอนุญาตให้เราสามารถเพิ่มเสียงเบสและเสียงแหลมได้ในแดนเสียงค่อย โดยไม่จำเป็นต้องปรับที่ตัวโวลุ่มโดยตรง (เป็นไปตามหลักการของ Fletche-Munson Hearing Characteristics Curves ซึ่งเป็นที่ยอมรับในแวงวงวิชาการทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ในสมัยนั้น)
หลอดสุดท้ายถูกออกแบบไว้ให้ขยายสัญญาณเพียง Triode เดียว ดังนั้นเมื่อสัญญาณเดินทางมาถึงตรงกึ่งกลางหลอดสุดท้ายนี้แล้ว ก็จะผ่านเข้า Grid ของ Triode ต่อไป แต่แทนที่จะได้รับการขยายให้ใหญ่ขึ้นตามเกนขยายของหลอด 12AX7 ปกติ ทว่ามันก็จะผ่านออกทาง Cathode ไปเฉยๆ ด้วยกำลังเท่าเดิม เพื่อเตรียมตัวสำหรับส่งต่อไปยังกระบวนการของ Power Amplifier ในลำดับถัดไป หลักการนี้ เรียกกันในหมู่นักออกแบบว่า Cathode Follower ซึ่งมีไว้เพื่อลดความต้านทาน (Impedance) ของสัญญาณ Output ลงให้เหมาะสมสำหรับการลากสายสัญญาณเชื่อมต่อไปเข้าช่อง Input ของ Power Amplifier ในระยะที่ไกลขึ้นได้โดยไม่สูญเสียคุณภาพเสียง อีกทั้งยังเป็นเขื่อนกั้นสัญญาณที่อาจจะเข้ามารบกวนจาก Power Amplifier ได้อีกโสตหนึ่ง
ณ สุดปลายทางแห่งนี้ Marantz ก็ได้แทรกวงจรพิเศษไว้อีกวงจรหนึ่ง คือวงจร Cutoff Filter (ตัดทีละ 12db. Per Octave) ที่จำเป็นสำหรับคนเล่นแผ่นเสียง เพราะวงจรนี้จะช่วยตัดเสียงรบกวนและเสียงแตกในย่านต่างๆ ให้เบาบางลง เพื่อความสมบูรณ์ที่สุดของผลลัพธ์โดยรวมนั่นเอง
อันที่จริง การออกแบบปรีแอมป์ โดยทั่วไปแล้วจะยากกว่าพาวเวอร์แอมป์ เพราะการนำเอาสัญญาณ เล็กๆ น้อยๆ มาขยายเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีและไม่ผิดเพี้ยนนั้น ยากกว่า การนำสัญญาณใหญ่ๆ มาทำ อันนี้ยังไม่นับว่าแหล่งกำเนิดเสียงจำนวนหลากหลายที่ปรีแอมป์จะต้องจัดการให้พอดี และเหมาะสมที่สุดนั้น ซับซ้อนกว่าพาวเวอร์แอมป์ที่ทำหน้าที่ขยายสัญญาณเพื่อส่งต่อไปยังลำโพงเพียงสัญญาณเดียวเท่านั้น
การที่ Marantz เลือกสร้างปรีแอมป์ก่อน และทำได้ดี เหนือกว่าคู่แข่งขันในสมัยนั้น ทำให้ตลาดของ Marantz 1 ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะมันสามารถนำไปใช้ร่วมกับพาวเวอร์แอมป์แทบทุกชนิดและแทบทุกยี่ห้อในสมัยนั้นได้ เพราะบทบาทของมันเป็นตัวเสริม มิใช่คู่แข่งขัน ส่งผลให้ชื่อเสียงของ Marantz โด่งดังและกระจายไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว และนั่น จึงเป็นที่มาของการพัฒนา Marantz 2 ขึ้นมาหลังจากนั้นไม่นานนัก
Model 2:
The Very Classic Marantz
ในวงการภาพยนตร์ มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ภาพยนตร์ภาคต่อจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของทีมงานผู้สร้าง ว่าสามารถทำงานได้ดีในระดับใด เพราะความสำเร็จที่ผ่านมามักคอยหลอกหลอน ในกระบวนการสร้างสรรค์งานชิ้นใหม่
ในแวดวงเครื่องเสียงก็เฉกเช่นเดียวกัน ที่การวัดความยั่งยืนของสินค้าและบริการ ต้องดูกันที่สินค้ารุ่นใหม่ๆ ที่ออกมา หลังจากที่เครื่องเสียงชิ้นแรกๆ ติดตลาดและสร้างชื่อไปแล้ว
Model 2 นับเป็นเครื่องเสียงที่ตอกย้ำความสำเร็จของ Marantz ในตลาดเครื่องเสียงของอเมริกายุคกึ่งพุทธกาล เพราะนอกจากจะย้ำถึงคุณภาพเสียงที่ดี ในสนนราคาที่แพงที่สุดในยุคนั้นแล้ว ยังช่วยสร้างแท่นยืนให้กับ Marantz ในฐานะผู้ผลิตเครื่องเสียงชั้นดีอย่างมั่นคงและครบวงจร ว่านอกจากจะสร้างปรีแอมป์ชั้นดีได้แล้ว ก็ยังสามารถสร้างพาวเวอร์แอมป์ชั้นดีได้ด้วย
Marantz Model 2 ได้รับการยอมรับจากนักวิจารณ์และบรรดาออดิโอไฟล์ ตั้งแต่เริ่มออกวางจำหน่ายเมื่อครั้งกระโน้น และก็ยังคงได้รับความนิยมในหมู่นักสะสมเครื่องเสียงทั่วโลกจวบจนทุกวันนี้ เพราะความสวยงาม ทนทาน และคงเส้นคงวาของเสียง
พาวเวอร์แอมป์ ค่าย Marantz* พาวเวอร์แอมป์ ค่าย McIntosh*
รุ่น ปีเริ่มผลิต ราคา รุ่น ปีที่ผลิต ราคา
Model 2 2499 220 MC-30 2497-2505 153
Model 5 2501 200 MC-60 2498-2504 219
Model 8 2502 249
Model 9 2503 780 MC-240 2503-2512 288
Model 8B 2504 249 MC-225 2504-2510 198 MC-75 2504-2513 229
MC-275 2504-2513 444
MC-40 2505-2512 159
MC-275 2504-2513 444
MC-40 2505-2512 159
*เลือกมาเฉพาะที่เป็นเครื่องเสียงหลอดเท่านั้น
อันที่จริง เมื่อแรกออกจำหน่ายในปี 2499 นั้น ยังไม่ได้เรียกเป็น Marantz Model 2 ชื่ออย่างเป็นทางการตอนนั้นคือ Marantz 40-Watt Amplifier หรือ Marantz Power Amplifier เฉยๆ เครื่องรุ่นนี้ได้รับการออกแบบให้กะทัดรัดในมาตรฐานของสมัยนั้น จุดเด่นของเครื่องเมื่อเปิดฝาออกก็คือ Meter สีส้ม สำหรับปรับ Bias, DC Balance และ AC Balance ที่เมื่อเสียบไฟแล้ว จะเรืองแสงสวยงาม โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ประโยชน์ของ Meter นอกจากความสวยงาม ก็คือช่วยให้เราสามารถปรับให้การทำงานของเครื่องเป็นไปตามสเป็กเดิมที่ได้รับการออกแบบไว้ได้อยู่เสมอ แม้เวลาและอะไหล่จะเปลี่ยนแปลงไป นับเป็นจุดแข็งที่ทำให้ Marantz 2 ทุกตัว รักษาความคงเส้นคงวาของเสียงไว้ได้จนถึงปัจจุบัน
สัญลักษณ์อีกอย่างของ Marantz 2 ก็คือกระป๋องคาปาซิเตอร์และท่อน Electrolytic ที่ฝังอยู่ด้านหน้าฝั่งซ้าย มองปุ๊บก็รู้ได้ทันทีว่าเครื่องนี้คือ Marantz 2 อันที่จริง กระป๋องดังกล่าวเป็น Oil-filled input filter capacitor ที่ใช้ในภาคจ่ายไฟนั่นเอง อุปกรณ์สองชิ้นนี้ นับเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมโทรศัพท์ ที่มีราคาแพงในสมัยนั้น แต่คุณภาพสูง และเที่ยงตรง การที่ Marantz เลือกใช้อุปกรณ์ชนิดนี้ แล้วออกแบบให้ตั้งโชว์อยู่ข้างหน้าอย่างเด่นเป็นสง่า ก็ทำให้เราพอจะเข้าใจว่าเขาต้องการที่จะสื่อสารอะไรไปสู่นักฟังกระเป๋าหนักในสมัยโน้น
นอกจากนั้น ยังมีฝาครอบหรือตระแกรงครอบสีทอง ใช้ครอบเพื่อความปลอดภัยขณะเปิดเครื่องและป้องกันหลอดถูกกระแทก ตระแกรงนี้ จะยื่นมาข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อให้สายสัญญาณและสายต่อลำโพงลอดออกมาได้
นักสะสมย่อมทราบดีว่า Marantz 2 นั้นมีอยู่ 2 รุ่น คือรุ่นแรกที่ยังไม่มีสกรีนคำว่า “Model 2” ไว้ที่ผนังด้านหน้าตัวถัง ใต้สวิสต์ปรับ Bias ซึ่งรุ่นนี้ยังใช้หัวจุกยึด Fuse เป็นแบบกลม และรุ่นแรกนี้ ถ้าเป็นเครื่องที่ผลิตในลำดับแรกๆ จะยังไม่มีป้ายทองที่สลัก Serial Number ติดไว้ด้านหน้า ให้เห็นเป็นสง่าเหมือนรุ่นหลัง แต่จะเขียนไว้ใต้แท่นด้านขวาเยื้องไปข้างหลัง โดยที่ Serial Number จะขึ้นต้นด้วยเลข 2 แล้วตามด้วยเลข 4 ตัว (2-xxxx)
กระนั้นก็ตาม ผมก็เคยเห็นเครื่องรุ่นแรกแบบนี้ ที่มีป้ายทองติดไว้ด้านหน้าเช่นกัน อันนี้นับว่าคล้ายกับ Marantz 2 รุ่นหลัง (เข้าใจว่าเริ่มผลิตเมื่อ พ.ศ.2500 หลังจากรุ่นแรก 1 ปี) ที่ต้องมีป้ายทองสลัก Serial Number ติดไว้ด้านหน้า และยังสกรีนคำว่า “Model 2” อย่างชัดเจนไว้เหนือคำว่า “MARANTZ COMPANY” อีกทั้งหัวจุกยึด Fuse ก็เปลี่ยนไปใช้แบบหัวแฉก ทว่า Serial Number ในยุคหลังจะไม่มีเลข 2 นำหน้า แต่จะเป็นเลข 4 ตัวไปเลย
Marantz Model 2 เป็นพาวเวอร์แอมป์ระบบ Push-Pull ใช้เหลอด Pentode หมายเลข 6CA7 หรือ EL34 จำนวน 2 หลอดเป็นภาคขยาย กำลังขยาย 40 วัตต์ แต่มีสวิสต์ผลักให้หลอดทำงานเป็นแบบ Triode ทำให้กำลังขยายลดลงเหลือเพียง 20 วัตต์ หากเลือก Mode นี้ นั่นเป็นเพราะลำโพงบางประเภทในสมัยนั้น ยังไม่สามารถทนรับกำลังขยายสูงๆ ได้
ช่องสัญญาณขาเข้า ถูกออกแบบให้รับได้ทั้งที่มาจากปรีแอม์ป์ที่ให้กำลังขยายต่ำ (0.7 โวลท์) และสูง (2 โวลท์ขึ้นไป) โดยที่ High-Gain Input จะมีวงจรพิเศษเพื่อตัดเสียงความถี่ต่ำจากลำโพง (Transients) ที่อาจรบกวนได้ ส่วนช่องต่อลำโพง ก็มีให้เลือกทั้งที่เป็น Fix Damping Factor (ที่ค่า 20 cps) และ Variable Damping Factor (จาก 0.5-5) ที่ความต้านทาน 4, 8, และ 16 โอมห์ ช่วยให้เราสามารถเลือกต่อให้เหมาะสมกับคุณสมบัติลำโพงที่จะต่อฟังได้
เมื่อพิจารณาพิมพ์เขียววงจรประกอบ เราจะเห็นว่าภาคจ่ายไฟของ Marantz 2 เป็นแบบ Full-Wave Rectifier ผ่านหลอด 6AU4 จำนวน 2 หลอด เพื่อแปลงไฟกระแสสลับเป็นกระแสไฟตรง แล้วกรองไฟผ่าน Condenser Filter เพื่อกรองไฟให้เรียบไม่ให้เกิดเสียงฮัม แล้วถึงจะผ่านรีซีสเตอร์เพื่อแจกจ่ายตามจุดต่างๆ ที่ต้องการ ทั้งไฟสูงที่ต้องจ่ายไปที่ Plate ของหลอดต่างๆ และไฟลบที่ต้องจ่ายไปที่ Grid เพื่อปรับ Bias ให้หลอดทำงานที่จุดสมบูรณ์ (Linear) ที่สุด
ทางมุมบนซ้ายนั้น เป็นช่องสัญญาณขาเข้าที่มีให้เลือกหลายแบบ สัญญาณจะต้องผ่านหลอด 12AX7 ซึ่งทำหน้าที่เป็น Driver เพื่อส่งต่อไปให้กับหลอดเบอร์ 6CG7 ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้ง Signal Amplifier และ Phase Inverter ทำหน้าที่แยกเฟสของสัญญาณไฟฟ้า เพื่อส่งต่อไปให้กับหลอด Output เพื่อขยายสัญญาณในภาค Output Stage
ตรงนี้เองที่ผู้ออกแบบได้แทรกวงจร AC Balance และ DC Balance ไว้สำหรับปรับความสมดุลของไฟระหว่างด้านบนกับด้านล่าง เพื่อให้วงจรระบบ Push-Pull สามารถทำงานได้ประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพเสียงและความคงเส้นคงวาของคุณภาพเสียงในระยะยาว
ในภาค Output Stage ใช้หลอด C6A7/EL34 จำนวน 2 หลอดเป็นตัวผลักและดึง ตามหลักการของวงจร Push-Pull เพื่อขยายสัญญาณให้เป็นกำลังไปทำหน้าที่ขับลำโพง โดยต้องผ่าน Output Transformers คุณภาพสูงของ Marantz ซึ่งจะทำหน้าที่จับคู่สัญญาณระหว่างหลอดและลำโพง ตัว Output Transformers อันนี้แหละที่ถือกันว่าเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดในยุคแอมป์หลอด และเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้สำเนียงเสียงของ Marantz คงเอกลักษณ์เป็นของตนเองได้
มีข้อสังเกตอันหนึ่ง ว่าในยุคนั้นอุปกรณ์กำเนิดเสียงยังไม่ดีเท่าที่ควร การออกแบบเครื่องเสียงจึงต้องพยายามลดเสียงรบกวนให้มากที่สุด ผู้ออกแบบ Marantz 2 จึงใช้วงจร Feedback เข้ามาช่วยลดเสียงจำพวกนี้ด้วย
ผมนั่งมองพิมพ์เขียววงจรของ Marantz 1 และ Marantz 2 กลับไปกลับมาหลายสิบรอบ ผมจึงเริ่มเข้าใจว่า เคล็ดลับแห่งความสำเร็จของ Marantz ซ่อนอยู่ในความ “เรียบง่าย” ทว่า “จริงจัง” ที่ผู้ออกแบบตั้งใจไว้ในเบื้องแรก
ที่ว่า “เรียบง่าย” เพราะแม้แต่คนที่มีพื้นฐานทางอิเล็กทรอนิกส์แบบงูๆ ปลาๆ อย่างผม ก็สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากนัก แต่เมื่อมองฟังชั่นหรือวงจรพิเศษบางส่วนที่พวกเขาแทรกไว้ ประกอบกับอุปกรณ์เกรดสูงที่พวกเขาเลือกใช้ ก็ทำให้มองเห็นความ “จริงจัง” ของผู้ออกแบบ ว่าต้องการให้เครื่องเสียงของพวกเขาคงทนเป็นอมตะ และสามารถรักษาความคงเส้นคงวาของเสียง ไว้ให้ได้มาตรฐานเดียวกับตอนที่ออกจากโรงงาน
ครั้นเมื่อเหลือบไปมองตัวเครื่องที่ถูกออกแบบมาให้กะทัดรัด และงามแบบคลาสสิกแล้ว ผมก็คิดว่าพวกเขาตั้งใจให้ Model 1 และ Model 2 ทำหน้าที่เดียวกับงานศิลปะ ที่ให้คุณค่าต่อการตกแต่งและบรรยากาศโดยรวมของบ้าน ไปด้วยในตัว
พบกันใหม่กับ Classic Marantz ในตอนต่อไป
(ต้องขอขอบคุณ คุณวีระพงษ์ เจตน์พิพัฒนพงษ์ ที่ช่วยรวบรวมข้อมูลและ
ถอดเทปการสัมภาษณ์ ตลอดจนเรียบเรียงบางส่วนของบทความนี้)
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Audiophile ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)