วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

OKTOBERFEST ทำไมกันยา




       แสงแดดกลางเดือนกันยายน ที่แคว้นบาวาเรียยังแรงกล้า ไม่แพ้แดดยามบ่ายแก่ที่กรุงเทพฯ สักกี่มากน้อย

       นักเขียนหนุ่มชาวไทยและอดีตกัปตันเรือบินเยอรมันวัยเลยเกษียณกำลังนั่งชนแก้วกันอย่างเมามัน ใน Beer Hall ท่ามกลางเสียงอึกทึกครึกโครมของวงดนตรี และบรรดาขี้เมาเยอรมันอีกหลายพันคนที่เบียดเสียดยัดเยียดกันอยู่ในโรงเบียร์เมื่อสายวันนั้น

        เพล้ง....เพล้ง....เพล้ง”

เสียงเหยือกเบียร์หล่นกระทบพื้นซีเมนต์ ไม่ไกลจากโต๊ะที่ทั้งสองร่วมนั่ง

ทันทีที่สิ้นเสียง หญิงชายกลุ่มหนึ่งแต่งกายด้วยชุดสีเขียวมือถือกระบอง คาดปืนสั้นที่บั้นเอว กรูกันเข้าถึงเป้าหมายอย่างทันท่วงที

ช่วงนี้ของทุกปี ตำรวจต้องทำงานหนัก” อดีตกัปตันเครื่องบินอธิบายให้นักเขียนหนุ่ม ที่เขาถือเป็นอาคันตุกะของเขาแล้ว

มีตีกันบ้างไหม” นักเขียนถามตามความคุ้นชิน

บ่อย” ผู้อาวุโสกว่าตอบ

นึกว่ามีแต่เมืองไทย” นักเขียนหนุ่มรู้สึกโล่งอกที่ได้รับรู้ว่าคนเยอรมันที่เขานับถือว่าเป็นพวก High Culture ก็ยังตีกันเวลากินเหล้า เฉกเช่นเดียวกับขี้เมาไทย ไม่ผิดเพี้ยน

พูดไม่ทันขาดคำ พยาบาลสนามกลุ่มหนึ่งก็แทรกฝูงชนผ่านโต๊ะที่พวกเขานั่ง ตรงไปยังประตูทางออก นักเขียนหนุ่มเหลือบไปเห็นว่าในเปลที่พวกเขาช่วยกันแบก มีสาวใหญ่นางหนึ่งนอนแน่นิ่งอยู่

เมา” ผู้อาวุโสอ่านใจนักเขียนหนุ่มออก ก่อนที่เขาจะเอ่ยปากถามและพร้อมกับที่นักเขียนหนุ่มกำลังอ้าปากจะพูด ผู้อาวุโสก็ลุกขึ้นชี้ให้ดูว่า ทุกมุมของโรงเบียร์ มีตำรวจและพยาบาลสนาม Stand-by อยู่เป็นหย่อมๆ

นักเขียนหนุ่มพยักหน้าด้วยความกระจ่าง แต่ในใจก็คิดไปว่า คนเยอรมันนั้น เวลาทำงานก็ทำจริงจัง เวลากินก็กินจริงจังสมคำร่ำลือ



เวลาผ่านไปอีกหลายชั่วโมง จนบ่ายคล้อย

เพื่อนต่างวัยทั้งสองยังคงดื่มเบียร์กันต่อไป เหยือกแล้วเหยือกเล่า ทั้งดื่มทั้งสูบสลับกับร้องเพลง และคล้องแขนกับผู้ร่วมม้านั่งยาวคนอื่น ซึ่งผลัดหน้ากันมานั่งตามคิวที่พนักงานจัดให้ พวกแล้วพวกเล่า

แม้พวกเขาทั้งหมดจะไม่รู้จักกันมาก่อน พวกเขาก็คล้องแขนร้องเพลงด้วยกันอย่างมีความสุข

เพราะวันนี้เป็นวันแรกของเทศกาล Oktoberfest ที่ชาวบาวาเรียนรอคอยหลังจากทำงานหนักมาทั้งปี เพื่อที่จะได้เริงรื่น และปลดปล่อยพร้อมกันปีละครั้ง

ไอซ์...ชไวส์.....ไตร.......เบียร์ ๆ ๆ ๆ....บาเยิน มึนเชิน” เสร็จแล้วก็ยกเหยือกขึ้นดื่ม เอื้อก ๆ ๆ ๆ ๆ

มิวนิก (Munich หรือ Munchen) เป็นเมืองหลวงของแคว้นบาวาเรีย (Bavaria หรือ Bayern) ดินแดนซึ่งมั่งมีศรีสุขที่สุดของประเทศเยอรมนี เมืองมิวนิกเป็นบ้านเกิดของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่เยอรมันที่สร้างรายได้ให้กับแคว้นบาวาเรียมหาศาลในแต่ละปี เช่น SIEMENS และ BMW (รถยนต์ของ BMW เป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 2 ของประเทศเยอรมนี รองจากเบียร์)

อันที่จริง คนบาวาเรียนภูมิใจในความเป็นบาวาเรียน ยิ่งกว่าความเป็นเยอรมัน อย่างที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Bavarian first, Garman second” และคนเยอรมันแคว้นอื่น ก็หมั่นไส้คนบาวาเรียนด้วย

เยอรมันส่วนนี้แหละ ที่เป็นตัวแทนภาพลักษณ์ของ “ประเพณีเยอรมนี” ที่ทั่วโลกรู้จักกันดี

ภาพที่เราเห็นคนตัวใหญ่ๆ ใส่เอี๊ยม สวมหมวกขนนก ปลิวสลับกันอย่างสวยงาม ดื่มเบียร์เป็นเหยือกๆ และมีวงดุริยางค์เล่นเครื่องเป่า พร้อมผู้หญิงผู้ชายคล้องแขนกันเต้นเข้าจังหวะ ฯลฯ



โลกปัจจุบัน รู้จักเยอรมันแบบบาวาเรียนมากกว่าแบบอื่น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เยอรมันแบบที่กล่าวมานั้น มีเฉพาะแต่ที่เป็นบาวาเรียนเท่านั้น ส่วนเยอรมันแคว้นอื่น ก็มีวัฒนธรรมของตัวต่างออกไป

นั่นอาจเป็นความจงใจของชนชั้นผู้นำของเยอรมันยุคหลังสงคราม ที่ต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเยอรมันในสายตาชาวโลก ว่าเยอรมันนั้นรักสนุกและรักสงบ เพราะก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 มาจนสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ภาพลักษณ์ของคนเยอรมันเป็นภาพลักษณ์ของทหารที่มีระเบียบวินัย ชนชั้นผู้นำของเยอรมันทั้งหมด แต่งชุดทหาร ใส่บู๊ตหนังสีดำเงางามสูงเลยเข่า หลายคนใส่หมวกเหล็ก ไว้หนวดเฟิ้ม และหน้าตาบึ้งตึงแสดงความเอาจริงเอาจัง

วัฒนธรรมเยอรมันส่วนนั้น เป็นเยอรมันแบบปรัสเซีย (Prussia) แคว้นผู้นำของประเทศเยอรมนี ที่มีศูนย์บัญชาการอยู่ที่เบอร์ลิน (Berlin)

ใครที่รู้จักเยอรมันดีก็จะรู้ว่า นอกจากคนเยอรมันจะภูมิใจในความเป็นเยอรมันของตนแล้ว คนเยอรมันยังมีลัษณะภูมิภาคนิยมสูงมาก

นั่นอาจเป็นเพราะคนเยอรมันเคยเป็นเขตแคว้นที่ปกครองตนเองมาก่อนที่ Otto Von Bismarck นายกรัฐมนตรีของปรัสเชียจะรวมประเทศเยอรมันได้สำเร็จในปี 1870 Bismarck ต้องใช้สารพัดวิธีในการรวมบาวาเรียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมัน เขาต้องรบกับฝรั่งเศส และออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นจักวรรดิที่น่าเกรงขาม อีกทั้งยังต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับกษัตริย์ลุดวิกที่สองสองของบาวาเรียอีกด้วย

กษัตริย์ลุดวิกที่สองนี้แหละ ที่เป็นพระราชโอรสของกษัตริย์ลุดวิกที่หนึ่งและพระนางเทเรซ่า ซี่งเป็นที่มาของตำนาน Oktoberfest อันลือลั่น

ย้อนไปในปี 1810 เจ้าชายลุดวิก พระราชโอรสของเจ้าผู้ครองแคว้นบาวาเรีย ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับ เจ้าหญิงเทราซ่า (Princess Therese Von Sachsen-Hildburghausen) ท่ามกลางความปิติยินดีของเหล่าพสกนิกร

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองงานมหามงคลครั้งนั้น ชาวมิวนิกได้ร่วมกันจัดงานฉลองขึ้นที่ “สวนเทราซ่า” (หรือ Therisienwiese ในภาษาเยอรมัน) ตั้งแต่เสาร์ที่ 2 ของเดือนกันยายน ไปจนถึงอาทิตย์แรกของเดือนตุลาคมในปีนั้น 

งานที่สวนเทราซ่าในสมัยนั้น คงเหมือนงานสวนอัมพรฯ ของเรา ที่มีพ่อค้าแม่ขายมาออกร้านอย่างหลากหลาย มียิงนก ตกปลา ล่องแก่ง ชิงช้าสวรรค์ ขี่ม้า และเครื่องเล่นสารพัดชนิด

ที่ขาดไม่ได้ก็คือ “โรงเบียร์”

เบียร์ยี่ห้อดังๆ ของบาวาเรีย เช่น PAULANER, HBและ FRANCISCANA ต้องไปประชันกันที่นั่นแน่




งานฉลองครั้งนั้นคงสนุกมาก จนชาวมิวนิกเรียกร้องให้จัดซ้ำอีกในปีถัดมา และปีถัดมา และปีต่อๆ มา….จนถึงปัจจุบัน

นั่นแหละ ตำนานของ Oktoberfest

ปัจจุบัน Oktoberfest กลายมาเป็นงานเทศกาลที่ดึงดูดคนต่างชาติจำนวนมาก เหมือนกับสงกรานต์เชียงใหม่บ้านเราไม่มีผิด

โรงแรม อาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ในมิวนิกล้วน Charge ราคาพิเศษ (แพงเป็นพิเศษ)

สถานที่จัดงาน ยังคงเป็นที่เดิมเมื่อเกือบสองร้อยปีมาแล้วแน่นขนัดไปด้วยร้านรวงเหมือนงานวัดบ้านเรา เสริมด้วยเครื่องเล่นแบบหวาดเสียวต่างๆ จำนวนมาก และมีชิงช้าสวรรค์วงมหึมาตั้งเป็นประธานของงาน

โรงเบียร์แต่ละโรง ใหญ่กว่าห้องเพลนารี่ฮอลล์ของศูนย์สิริกิตติ์ประมาณ 2 เท่าตัว ตรงกลางยกพื้นเป็นเวที มีวง Band แบบวาบาเรีย บรรเลงตลอดเวลา

ผู้คนในโรงเบียร์ บ้างดื่ม บ้างสูบ บ้างก็เต้นรำ บ้างก็ยืนบนโต๊ะ บ้างก็กอดจูบกัน สารพัด

วันเสาร์แรก มีขบวนแห่เล็ก และมีพิธีเปิด โดยนายกเทศมนตรีเอาก๊อกเจาะทะลุถังเบียร์ แล้วริมดื่ม ส่วนวันต่อมา มีขบวนแห่ใหญ่ที่ต้องปิดถนนในเขตเมืองเก่าทั้งหมด แห่กันอย่างยิ่งใหญ่ สวยงาม

ถนนทุกสายมุ่งสู่สวนเทราซ่า ทั้งใต้ดินบนดิน ผู้คนเดินทางไปมากันขวักไขว่ และดูเหมือนว่าผู้คนทั้งเมือกมิวนิกในช่วงสองวันนี้ จะต้องมีแอลกอฮอล์ในเลือดกันไม่มากก็น้อย



เวลาผ่านไปจนข้ามวันใหม่

หนึ่งหนุ่มกับอีกหนึ่งเฒ่า ยังคงนั่งที่เดิม

ทว่า สมองของทั้งคู่ยามนี้ ไม่ปราดเปรียว และปลอดโปร่งเหมือนตอนกลางวัน และระยะห่างของการยกเหยือกเบียร์ขึ้นดื่มแต่ละครั้ง ก็นับครั้งห่างขึ้นเป็นลำดับ

แต่ความหนาแน่นของผู้คน และความอึกทึกครึกโครม ดูเหมือนจะเพิ่มเดซิเบลขึ้นเรื่อยๆ ตามเข็มนาฬิกา

ในที่สุด หนุ่มนักเขียนก็ทนต่อไปไม่ไหว

กลับบ้านดีไหม” เขาเปรย

กัปตันเฒ่าไม่ยอมทิ้งลายบาเยิน เอ่ยปากขออีกเหยือสุดท้าย

พอคว่ำเหยือกันแล้ว ทั้งคู่กอดคอกันกลับบ้านที่ Goetheplatz ซึ่งอยู่ไม่ไกล

ระหว่างทางเจอแต่คนเมา ทั้งหญิงและชาย ทั้งหนุ่มและแก่

ก่อนแยกย้ายกันไปนอนหนุ่มนักเขียนก็เอ่ยถามคำถามที่เขาสงสัยมานานแล้ว

ทำไม Oktoberfest ถึงมีในเดือนกันยายน”

คุณยังไม่เมานี่” กัปตันเฒ่าตอบเสียงเนิบช้ากว่าปกติ

แล้วก็ฟุบตัวลงบนโซฟาห้องรับแขก ไม่ไหวติง

จนบัดนี้ นักเขียนหนุ่มกลับมาเมืองไทยแล้ว ทว่าก็ยังไม่รู้คำตอบที่แท้จริง

หรือว่านี่จะเป็นวิธีที่ทำให้นักเขียนหนุ่มต้องกลับไปเยือนมิวนิกอีกในปีหน้า


ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Corporate Thailand ฉบับเดือน ม.ค. 2546

ไม่มีความคิดเห็น: